รอยเท้าคาร์บอนเบื้องหลังเทศกาลลอยกระทง

รอยเท้าคาร์บอนเบื้องหลังเทศกาลลอยกระทง

รอยเท้าคาร์บอน เบื้องหลังเทศกาลลอยกระทง

ที่แม่น้ำจอร์แดน เด็กๆ จะถูกจุ่มร่างลงยังแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแสดงความเป็นคริสต์ศาสนิกชนอย่างเต็มตัว ส่วนในกัมพูชา พวกเขามีพิธีเฉลิมฉลองเทศกาลน้ำในเดือนพฤศจิกายน เพื่อตอบแทนสายน้ำที่มอบชีวิตและความอุดมสมบูรณ์มาให้ คล้ายคลึงกับประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย ทว่าวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำที่แท้จริงตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนสิ้นชีวาอยู่ที่อินเดีย ชาวฮินดูมีพิธีกรรมชำระบาปให้แก่เด็กทารกแรกเกิดในแม่น้ำคงคา เพราะเชื่อกันว่าสายน้ำแห่งนี้คือสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากสรวงสวรรค์ ชาวอินเดียใช้น้ำจากแม่น้ำในการอุปโภคบริโภค นักบวชใช้น้ำจากแม่น้ำอุ้มชูจิตวิญญาณ และเมื่อเสียชีวิตร่างของชาวฮินดูก็จะถูกนำมาเผากันที่ริมแม่น้ำ ดังคำกล่าวที่ว่า “ควันไฟจากการเผาศพไม่เคยเลือนหายไปจากเมืองพาราณสีมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว” เหล่านี้คือภาพสะท้อนในสำนึกของมนุษย์หลากหลายวัฒนธรรม ที่ซาบซึ้งในคุณค่าของสายน้ำ เพราะตระหนักดีว่าหากไม่มีน้ำคอยหล่อเลี้ยงชีวิต ตัวตนของพวกเขาก็จะสูญสลายไปเช่นกัน

ส่วนหนึ่งจากพิธีกุมภ์เมลา พิธีแสวงบุญสำคัญของชาวฮินดู ในภาพขณะอาบไล้แสงสีทองยามเย็น ผู้จาริกแสวงบุญดื่มดํ่านํ้าศักดิ์สิทธิ์บริเวณใกล้จุดบรรจบของแม่นํ้าคงคาและยมุนาโดยไม่ห่วงว่านํ้าอาจปนเปื้อนมลพิษ เพราะพวกเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่า มีนํ้าอมฤตหรือนํ้าทิพย์แห่งชีวิตอมตะเจือปนอยู่
ภาพถ่ายโดย อเล็กซ์ เว็บบ์

พิธีกรรมบูชาน้ำในวัฒนธรรมไทย ในฐานะที่น้ำคือตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ เชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลมาจากในอินเดีย และในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้เอง ในหลายประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา, ลาว และกัมพูชาก็ประกอบพิธีกรรมบูชาสายน้ำ และจุดไฟตามประทีปเช่นกัน บ่งชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมร่วมแต่เก่าก่อนในภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยมีหลักฐานแรกสุดคือภาพสลักศิลาบนระเบียงของประสาทบายน ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 – พ.ศ. 1762) ปรากฏเป็นภาพสตรีถือกระทงบูชารูปดอกบัว และปล่อยกระทงนั้นให้ลอยไปตามสายน้ำ

แต่ทุกวันนี้ พิธีกรรมแสดงความเคารพต่อสายน้ำกลับเป็นการทำลายล้างเสียเอง เมื่อวัสดุสมัยใหม่อย่างพลาสติก โฟม และอื่นๆ อีกมากมายถูกนำมาใช้แทนวัสดุธรรมชาติเช่นในอดีต เมื่อปีที่ผ่านมา ทางกทม.ประกาศเก็บรวบรวมกระทงได้ทั้งหมดจากแม่น้ำและคูคลองในเมืองหลวงรวม 812,000 ใบ ข่าวดีก็คือมากกว่า 760,000 ใบทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือคิดเป็น 93.6% ส่วนกระทงจากวัสดุสังเคราะห์มีเพียง 52,000 ใบเท่านั้น คิดเป็น 6.4% ซึ่งปรับตัวลดลงมาเรื่อยๆ จากในปี 2008 ที่ในตอนนั้นสัดส่วนของกระทงโฟม หรือวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ คิดเป็น 13% สะท้อนให้เห็นการตื่นตัวด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมในคนไทยที่เพิ่มมากขึ้น ทว่าผลกระทบจากเทศกาลลอยกระทงไม่ได้มีแค่ปัญหากระทงโฟม ยังมีปัญหาอะไรอีกบ้าง มาทำความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อวางแผนการท่องเที่ยวให้สุขกายสบายใจและทำร้ายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดกัน

รอยเท้าคาร์บอน
ชาวบ้านท่านนี้ลงทุนว่ายน้ำอยู่หลายชั่วโมง ในสระของมหาวิทยาลัยเกษตรบางเขน เพื่อเก็บสะสมเหรียญเงินที่คนใส่มากับกระทง
ขอบคุณภาพ http://www.nationmultimedia.com/detail/national/30330838

 

กระทงสร้างขยะ

คำนิยามของ รอยเท้าคาร์บอนคือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละบุคคล องค์กร หรือในระดับประเทศ โดยรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกิจกรรมนั้นๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ในทางตรงก็เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากการเดินทาง การขนส่ง ส่วนในทางอ้อมก็เช่น การบริโภคอาหาร สินค้า หรือปริมาณขยะที่ถูกสร้างขึ้น เหล่านี้คือกิจกรรมที่เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ เพราะในทุกกิจกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต มาจนถึงการส่งต่อให้ผู้บริโภค และจบลงที่การย่อยสลายล้วนผลิตและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาด้วยกันทั้งสิ้น

การวัดปริมาณ รอยเท้าคาร์บอน ยังสัมพันธ์กับอัตราการบริโภคของบุคคลและสังคมนั้นๆ โดยประเทศที่ผู้คนมีรายได้สูงมักมีอัตราการบริโภคต่อหัวสูงตาม นั่นทำให้ปริมาณ รอยเท้าคาร์บอน ต่อคนสูงไปด้วย ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ตัวบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแต่ละชนิดแสดงปริมาณรอยเท้าคาร์บอน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกสินค้าที่มีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในอีกนัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการแข่งขันของผู้ผลิตเองว่าบริษัทใดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ากัน ว่าแต่ประเด็นนี้เกี่ยวอะไรกับเทศกาลลอยกระทง?

(เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ รอยเท้าคาร์บอน ได้จากวิดีโอนี้)

หลังคืนลอยกระทงผ่านพ้น ทั่วแม่น้ำลำคลองจะเต็มไปด้วยขยะปริมาณมหาศาลทั้งย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และย่อยสลายไม่ได้ เมื่อปีที่ผ่านมา รายงานจากกรมชลประทานและจิตอาสาอำเภอเมืองเชียงใหม่ ระบุว่ามีขยะจากกระทงมากถึง 120 ตัน ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปคัดแยกเพื่อทำปุ๋ย และทำลายด้วยการฝังกลบ เช่นเดียวกับขยะอาหาร กระบวนการจัดการกับขยะด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ ทว่าในหลุมฝังกลบขยะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ ในจำนวนนี้ 40 – 50% จะเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งหากหลุดลอยสู่ชั้นบรรยากาศก็จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างมาก เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์พบว่าก๊าซมีเทนมีประสิทธิภาพปกคลุมชั้นบรรยากาศโลกมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

มากไปกว่านั้นขยะจากกระทงปริมาณมากมาย หากถูกเก็บออกจากแหล่งน้ำล่าช้าก็จะส่งผลให้เกิดการอุดตัน หรือหมักหมมจนเน่าเสียและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่อาศัยในน้ำตามมา ทั้งยังไม่รวมกับขยะอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นมากมายจากงานเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหาร ไปจนถึงขยะอันตรายอย่างพลุ และดอกไม้ไฟ นั่นหมายความว่านอกเหนือจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการกำจัดขยะตามปกติแล้ว ในวันลอยกระทงประเทศไทยยังผลิตก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลจากขยะเป็นตันๆ แม้ว่ากระทงส่วนใหญ่จะประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุตามธรรมชาติก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือรอยเท้าคาร์บอนที่พวกเราร่วมกันสร้างขึ้นจากการเฉลิมฉลองบูชาแม่น้ำ

อย่างไรก็ดีทุกวันนี้มีเทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเหล่านี้ (ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่ได้จากการหมักหมมของขยะ) เช่นหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม หรือหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยของจังหวัดเชียงใหม่ รายงานจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เมื่อปี 2559 พบว่าวิธีการนี้ช่วยลดปริมาณการผลิตก๊าซเรือนกระจกไปได้หลายหมื่นตันต่อปี ทว่ายังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรจะกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักคือ ทำอย่างไรให้เกิดขยะน้อยที่สุดไม่ใช่หรือ?

(ดูรายงานการลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะมูลฝอยเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

รอยเท้าคาร์บอน
สีสันอันสดใสสวยงามของกระทงหลายรูปแบบ เช้าวันต่อมาหลังคืนลอยกระทงเป็นงานหนักของเจ้าหน้าที่กทม.ที่ต้องตามเก็บกระทงทั้งหมดออกจากแหล่งน้ำ
ขอบคุณภาพ http://www.nationmultimedia.com/detail/national/30330838

 

ลอยกระทงยุคใหม่

ถ้าเช่นนั้น เราจะมีส่วนช่วยลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอนอย่างไรได้บ้าง โดยที่ยังสามารถสนุกสนานไปกับเทศกาลประจำปี เหล่านี้คือเคล็ดลับดีๆ ที่น่าสนใจนำไปปรับใช้ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมไปในตัว

1 ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แม้จะเกิดขยะก็จริง แต่ก็ใช้เวลาย่อยสลายที่สั้นกว่า และไม่ปลดปล่อยสารเคมีออกมาระหว่างกระบวนการย่อยสลายดังเช่น พลาสติก หรือโฟม

2 หากไปร่วมงานเป็นคู่ เป็นครอบครัวหรือเป็นกลุ่ม ใช้กระทงใบเดียวร่วมกัน แทนที่จะลอยกระทงคนละใบ วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณขยะไปได้มาก

3 ใช้ระบบ Carpool ทางเดียวกันไปด้วยกัน เพื่อลดปริมาณรถยนต์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางไปร่วมงานลอยกระทง

4 เลือกลอยกระทงในสระน้ำปิด หรือสระส่วนตัว เช่น สระในมหาวิทยาลัย สระของโรงแรม เป็นต้น เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บขยะ และลดปริมาณขยะที่จะไปหมักหมมเน่าเสียในแม่น้ำลำคลอง

5 เลือกใช้วัสดุทำกระทงที่มีความหลากหลายน้อย เพื่อง่ายต่อการจัดการ และลดภาระของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนแยกขยะ

6 เลือกลอยกระทงออนไลน์ นี่คือวิธีที่ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอนน้อยที่สุด ทุกวันนี้ในโลกอินเตอร์เน็ตมีกิจกรรมลอยกระทงมากมาย หากตั้งใจที่จะระลึกถึงพระคุณของสายน้ำ การไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำเลย แม้ในทางอ้อมอย่างการลอยกระทง น่าจะดีที่สุด

7 ลดการรับหรือใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งขณะร่วมงานเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นถุงหิ้ว ช้อน ส้อม ขยะเหล่านี้เมื่อจบงานมีปริมาณไม่น้อยไปกว่ากระทง และยากต่อการจัดการมากกว่า

8 งดการจุดประทัด และพลุ เพื่อลดปริมาณมลพิษในอากาศ อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่เพิ่มเติมมาในภายหลัง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการบูชาสายน้ำแต่อย่างใด

และข้อสุดท้าย 9 เมื่อคุณผู้อ่านลองทำดูแล้ว อย่าลืมแบ่งปันแนวทางเหล่านี้ให้แก่เพื่อนๆ รวมทั้งในโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน ตลอดจนความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นนักท่องเที่ยวสายสีเขียว คงไว้ซึ่งโลกและธรรมชาติให้เราและรุ่นลูกหลานได้ชื่นชมกันไปนานๆ

 

อ่านเพิ่มเติม

ถ่านหิน คาร์บอนไดออกไซด์ และโลกร้อน

 

 

แหล่งข้อมูล

ประวัติศาสตร์นอกกรอบ: ไม่ใช่แค่ ‘ไทย’ ที่มี ‘ลอยกระทง’

พิธีศพแห่งคงคา

เทศกาลน้ำของประเทศกัมพูชาลอยกระทงอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ลอยกระทงกับมลภาวะทางน้ำ ลอยเคราะห์ หรือ ซ้ำเติม สิ่งแวดล้อม?

Huge footprint behind Loy Krathong in Chiang Mai

BMA campaigns for green Loi Krathong Festival

ลอยกระทงอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

Recommend