ชวนมอง ขยะกระทง ผ่านปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ในเทศกาลลอยกระทง

ชวนมอง ขยะกระทง ผ่านปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ในเทศกาลลอยกระทง

ในทุกวันนี้ พิธีกรรมแสดงความเคารพต่อสายน้ำเช่นการลอยกระทงกลับเป็นการทำลายล้าง

หลังคืนลอยกระทงผ่านพ้น ทั่วแม่น้ำลำคลองจะเต็มไปด้วยขยะปริมาณมหาศาลทั้งย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และย่อยสลายไม่ได้ หากถูกเก็บออกจากแหล่งน้ำล่าช้าก็จะส่งผลให้เกิดการอุดตัน

นอกจากนี้ ในวันลอยกระทงประเทศไทยยังผลิตก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลจากขยะเป็นตันๆ แม้ว่ากระทงส่วนใหญ่จะประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุตามธรรมชาติก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือรอยเท้าคาร์บอนที่พวกเราร่วมกันสร้างขึ้นจากการเฉลิมฉลองบูชาแม่น้ำ

ก่อนที่ทุกท่านจะออกไปลอยกระทงในปีนี้ เราจึงอยากให้แง่มุมเรื่องของ สถานการณ์ ‘ขยะ’ ทั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในประเทศไทยและระดับโลก รวมไปถึงสถานการณ์การสร้างขยะครั้งใหญ่ในเทศกาลลอยกระทง ว่ากำลังเป็นไปในทิศทางใด

หลายปีที่ผ่านมาเกิดกระแสรณรงค์ให้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบจาก “ขยะพลาสติก” ที่ไหลลงสู่มหาสมุทร คร่าชีวิตสัตว์ทะเล และทำลายระบบนิเวศน้ำเสียหาย

ประเทศไทยก็ได้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก รัฐบาลมีการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย ภายใต้ roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 (Thailand’s Roadmap on Plastic Waste Management 2018 – 2030) โดยมีวิสัยทัศน์ว่า ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Moving Towards Sustainable Plastic Management by Circular Economy)

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวแนวหน้า (2565) ระบุว่า “วารสาร Science Advances ฉบับเดือนตุลาคม 2563 รายงานว่า สถิติการสร้างขยะพลาสติกในประเทศไทยต่อประชากรสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีปริมาณขยะพลาสติก 4,796,494 ตัน/ปี (หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน) และมีสัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก สามารถแบ่งชนิดของปริมาณพลาสติกในประเทศไทยได้ 3 ชนิด คือ 1) ถุงพลาสติก 1.11 ล้านตัน 2) ขวดพลาสติก 0.40 ล้านตัน  และ 3) แก้ว กล่อง และถาดพลาสติก 0.23 ล้านตัน” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กรมอนามัยเผยสถิติวิจัย ไทยสร้างขยะมากเป็นอันดับ3ของโลก)

ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=9-3tPVQNs18

ในอีกด้านหนึ่ง ประชาชนยุคใหม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก อย่างล้นหลาม ช่วงเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2563 เกิดแฮชแท็ก #งดลอยกระทง63 เขย่าค่านิยมการลอยกระทงแบบเดิมว่าท้ายที่สุดแล้วกระทงก็กลายเป็นขยะตามแหล่งน้ำ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่จิตอาสาก็ไม่สามารถเก็บขยะอันเนื่องมาจากประเพณีลอยกระทงได้หมด

ขณะที่ปีนี้ “ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ” เพจด้านสิ่งแวดล้อมได้แสดงความคิดเห็นว่า “เลิกลอยกระทง ลดไม่ได้ เปลี่ยนวัสดุไม่ได้  ลอยให้ถูกที่ถูกทางไม่ได้ ก็เลิกซะนะครับ  ประเพณีบางอย่างต้องถูกปรับเปลี่ยน ให้เข้ากับยุคสมัย อย่ามาอ้างว่าเค้าทำกันมานานแล้ว นู่นนั่นนี่ “แม่น้ำลำคลองอยู่มาเป็นล้านปีเก่าแก่กว่า” อ้างความเก่าแก่ของการกระทำ มาทำลายธรรมชาติที่แก่กว่า  พร้อมกับคำว่า. “เค้าสืบทอดกันมา”

“มนุษย์เป็นสปีชี่ส์ที่แปลก เราบูชาสิ่งที่มองไม่เห็น แต่เรากลับทำลายสิ่งแวดล้อม ที่เห็นอยู่ตำตา””

คำถามชวนคิด หลังลอยกระทงแล้วกระทงไปไหนต่อ

ไทยพีบีเอส (2564) รายงานความคืบหน้าหลังจากที่ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ดำเนินการเก็บกระทงหลังวันลอยกระทงปี 2564  ว่า“ได้จำนวนกระทงทั้งสิ้น 403,235 ใบ ประกอบไปด้วย กระทงทำด้วยวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย จำนวน 388,954 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.46 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 14,281 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.54” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เก็บกระทงปี 64 ในกรุงเทพฯได้ 403,235 ใบ ลดลงจากปีที่แล้ว)

นับว่าเป็นเรื่องดีที่ขยะกระทงปี 2564 ลดลงจากสถิติปีก่อนๆ ถึงอย่างนั้น การลอยกระทงเพียงวันเดียวก็สร้างขยะจำนวนมหาศาล ไม่น้อยไปกว่าการใช้ถุงพลาสติกแล้วทิ้งโดยไม่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี่ ตลอดจนการใช้หลอดพลาสติกจนไปติดตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ทะเล เช่นเดียวกับการประดิษฐ์กระทง แม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้หันมาใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย อาทิ ขนมปัง กะลามะพร้าว ใบตอง กระดาษ แต่วัสดุดังกล่าวจำต้องใช้เวลาในการย่อยสลายด้วยเช่นกัน และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะย่อยสลายได้ภายในระยะเวลารวดเร็วเพราะวัสดุเหล่านี้กระจายไปตามแม่น้ำ คู คลองอย่างล้นหลาม ขยะกระทงที่ไม่สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว หรือตกค้าง ส่งผลกระทบอันตรายถึงชีวิตของสัตว์น้ำ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ขยะกระทงกระทบสิ่งแวดล้อมปลายทาง)

งานกำจัดขยะกระทงกลายเป็น “หน้าที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี” ของเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร รวมถึงจิตอาสาและอาสาสมัคร “ผู้ช่วยเก็บรวบรวมขยะกระทงจากทั่วทั้งประเทศ นำไปแยกประเภท และนำไปทำลายบนเรือของสำนักงานสิ่งแวดล้อม กทม ที่กระจายอยู่ตามแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่า 40 ลำ” (สามารถรับชมรายละเอียดเพิ่มตามจาก ปลายทางขยะกระทงแสนใบใน กทม.)

ลอยกระทง 65 จะเป็นอย่างไร

นับว่าตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ปีนี้จะเป็นปีแรกที่มาตรการยับยั้งโควิด-19 ผ่อนคลายลงกว่าปี 2563 และ 2564 รัฐบาลจึงคาดหวังว่าปีนี้ งานวันลอยกระทงในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายนนี้จะกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง พร้อมทั้งประกาศจัดกิจกรรมประเพณีคืนวันเพ็ญภายใต้แคมเปญ “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสาน ประเพณีไทย สู่ความยั่งยืน” ด้วยการย้ำประชาชนให้ทำตามมาตรการเว้นระยะห่าง ไม่ซื้อหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะ และเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจึงห้ามไม่ให้เล่นดอกไม้ไฟ พลุ ประทัด โคมลอย และยิงปืนขึ้นฟ้าโดยเด็ดขาด รวมถึงขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยให้ตรวจสอบสถานที่ตามโป๊ะ ท่าเรือต่าง ๆ และอาศัยอยู่ตามจุดต่าง ๆ เพื่อบริการความช่วยเหลือแก่ประชาชน

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลมุ่งต่อยอด Soft Power ด้วยการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีในท้องถิ่น และลดขยะกระทงด้วยการลอยกระทงร่วมกัน 1 ครอบครัว 1 กระทง หรือ 1 คู่รัก 1 กระทง และขอให้ประชาชนสวมชุดไทยไปลอยกระทง พร้อมกับการตระหนักถึงคุณค่าประเพณีนี้ด้วยความสนุกสนาน

สุดท้ายนี้ เรามีเคล็ดลับ ที่น่าสนใจนำไปปรับใช้ เพื่อการท่องเที่ยวในเทศกาลลอยกระทงอย่างยั่งยืนที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

1 ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แม้จะเกิดขยะก็จริง แต่ก็ใช้เวลาย่อยสลายที่สั้นกว่า และไม่ปลดปล่อยสารเคมีออกมาระหว่างกระบวนการย่อยสลายดังเช่น พลาสติก หรือโฟม

2 หากไปร่วมงานเป็นคู่ เป็นครอบครัวหรือเป็นกลุ่ม ใช้กระทงใบเดียวร่วมกัน แทนที่จะลอยกระทงคนละใบ วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณขยะไปได้มาก

3 ใช้ระบบ Carpool ทางเดียวกันไปด้วยกัน เพื่อลดปริมาณรถยนต์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางไปร่วมงานลอยกระทง

4 เลือกลอยกระทงในสระน้ำปิด หรือสระส่วนตัว เช่น สระในมหาวิทยาลัย สระของโรงแรม เป็นต้น เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บขยะ และลดปริมาณขยะที่จะไปหมักหมมเน่าเสียในแม่น้ำลำคลอง

5 เลือกใช้วัสดุทำกระทงที่มีความหลากหลายน้อย เพื่อง่ายต่อการจัดการ และลดภาระของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนแยกขยะ

6 เลือกลอยกระทงออนไลน์ นี่คือวิธีที่ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอนน้อยที่สุด ทุกวันนี้ในโลกอินเตอร์เน็ตมีกิจกรรมลอยกระทงมากมาย หากตั้งใจที่จะระลึกถึงพระคุณของสายน้ำ การไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำเลย แม้ในทางอ้อมอย่างการลอยกระทง น่าจะดีที่สุด

7 ลดการรับหรือใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งขณะร่วมงานเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นถุงหิ้ว ช้อน ส้อม ขยะเหล่านี้เมื่อจบงานมีปริมาณไม่น้อยไปกว่ากระทง และยากต่อการจัดการมากกว่า

8 งดการจุดประทัด และพลุ เพื่อลดปริมาณมลพิษในอากาศ อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่เพิ่มเติมมาในภายหลัง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการบูชาสายน้ำแต่อย่างใด

และข้อสุดท้าย 9 เมื่อคุณผู้อ่านลองทำดูแล้ว อย่าลืมแบ่งปันแนวทางเหล่านี้ให้แก่เพื่อนๆ รวมทั้งในโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน ตลอดจนความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นนักท่องเที่ยวสายสีเขียว คงไว้ซึ่งโลกและธรรมชาติให้เราและรุ่นลูกหลานได้ชื่นชมกันไปนานๆ

เรื่อง สุดาภัทร ฉัตรกวีกุล

โครงการสหกิจศึกษา นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

แหล่งข้อมูล

กรมอนามัยเผยสถิติวิจัย ไทยสร้างขยะมากเป็นอันดับ3ของโลก

เก็บกระทงปี 64 ในกรุงเทพฯได้ 403,235 ใบ ลดลงจากปีที่แล้ว

ขยะกระทงกระทบสิ่งแวดล้อมปลายทาง

ขยะมรสุม – เลิกลอยกระทง

คาด “ลอยกระทงวิถีใหม่” ปี 2565 คึกคักหลังโควิด ถอดบทเรียนอิแทวอนเลี่ยงโศกนาฏกรรม

ปลายทางขยะกระทงแสนใบใน กทม.

รอยเท้าคาร์บอนเบื้องหลังเทศกาลลอยกระทง

เรายังต้อง ลอยกระทงกันไหม?

ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานประเพณีไทย จัดงานปลอดภัย 1 กระทง 1 ครอบครัว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573

Thailand among top 5 producers of plastic waste?


อ่านเพิ่มเติม รอยเท้าคาร์บอนเบื้องหลังเทศกาลลอยกระทง

Recommend