แรดอินเดีย : ยูนิคอร์นแห่งแคว้นอัสสัม

บนดินแดนแห่งการปลูกชาอันเลื่องชื่อ แรดอินเดีย ได้รับการพิทักษ์ไว้ให้ปลอดภัย

Awesome Assam มหัศจรรย์ แรดอินเดีย แห่งอัสสัม

แคว้นอัสสัมตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย นอกจากเป็นแหล่งผลิตชาชั้นเลิศแล้ว ยังเป็นถิ่นอาศัยของยูนิคอร์นอีกด้วย เพียงแต่ยูนิคอร์นนี้ไม่ใช่สัตว์ในเทพนิยายแต่หมายถึงแรดนอเดียว หรือแรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) ซึ่งมีชื่อเรียกกันอีกหลายชื่อ เช่น Greater One-Horned Rhinoceros และ Great Indian Rhinoceros เป็นต้น ด้วยลักษณะเด่นที่มีเพียงนอเดียว ชาวบ้านแถวนั้นจึงเรียกแรดอินเดียนี้ว่า “ยูนิคอร์น” ความน่าสนใจอีกอย่างของแรดอินเดียคือลำตัวของมันที่มีลักษณะเหมือนเกราะหนาหุ้มอยู่ ถ้าจะบอกว่าหน้าตาเหมือนแรดใส่ชุดเกราะก็คงไม่ผิด และยิ่งพินิจพิจารณา ยิ่งดูเหมือนสัตว์ดึกดำบรรพ์จากยุคจูราสสิก

เรื่องและภาพ: สุวิมล สงวนสัตย์

นี่ไม่ใช่ภาพตัดต่อ แต่คือสะพานต้นไม้จริงที่ปลูกในอินเดีย

คาซิรังกา…มรดกโลก

เราตั้งใจไปซาฟารีที่อุทยานแห่งชาติคาซิรังกา เพราะที่นี่มีประชากรแรดอินเดียถึง 2 ใน 3 ของโลก จากการทำสำมะโนประชากรแรดอินเดียล่าสุดที่อุทยานแห่งนี้ในปี 2018 พบว่ามีจำนวนแรดราว 2,413 ตัว ซึ่งถือว่ามีประชากรเยอะมากเมื่อเทียบกับช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ที่เป็นช่วงแห่งการล่าแรดอินเดียจนเกือบสูญพันธุ์ จำนวนแรดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากความพยายามในการอนุรักษ์ของทางภาครัฐที่จริงจังมากจนน่าชื่นชม

พี่ขึ้นมาบนถนนทีถึงได้เห็นว่าตัวใหญ่ขนาดไหน

เมื่อราวสองปีก่อน คาซิรังกาอยู่ในพาดหัวข่าวของบีบีซีว่าเป็น “อุทยานที่ยิงคน [ลักลอบล่าสัตว์] เพื่อพิทักษ์แรด” เพราะทางการให้อำนาจเจ้าหน้าที่อุทยานอย่างเต็มที่ในการใช้อาวุธ ซึ่งถือว่าเทียบเท่ากับเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลเลยทีเดียว จึงเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำเกินเหตุหรือไม่ แต่หากไม่เข้มกันขนาดนี้ รุ่นลูกหลานเราอาจจะรู้จักแรดอินเดียว่าเป็นเพียง “สัตว์ในตำนาน” ก็ได้

สนามบินที่ใกล้คาซิรังกามากที่สุดคือจอร์ฮัตซึ่งมีเที่ยวบินทั้งจากนิวเดลีและกัลกัตตา ความจริงแล้ว ถ้าดูในแผนที่จะเห็นว่าเมืองนี้ไม่ได้ไกลจากประเทศไทย แต่เรากลับต้องนั่งเครื่องบินถึงสามต่อ เมื่อเดินทางมาถึงแล้วต้องนั่งรถอีกประมาณ 3 ชั่วโมงจึงจะถึงบริเวณอุทยานแห่งชาติ ส่วนที่พักก็มีหลากหลายกระจายกันอยู่นอกเขตอุทยาน เราต้องการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติที่สุดจึงเลือก Diphlu River Lodge ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ มองไปฝั่งตรงข้ามก็คือเขตคาซิรังกาแล้ว อีกทั้งรีสอร์ทแห่งนี้ยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ขี่ช้างชมแรด

การเข้าชมซาฟารีในอุทยานแห่งชาติคาซิรังกานั้นทำได้สองวิธีคือ การขี่ช้างและการนั่งรถจี๊ป ทางรีสอร์ทแนะนำว่า ถ้าอยากเข้าใกล้แรดควรขี่ช้างเข้าไป เพราะช่วงที่เราไปเยี่ยมชมต้นหญ้าแทงใบขึ้นสูงมาก อีกทั้งแรดเป็นสัตว์ที่มีประสาทการได้ยินอยู่ในระดับดีเยี่ยม แต่การมองเห็นไม่ดี หากมีเสียงเครื่องยนต์แรดอาจวิ่งหนีเข้าไปหลบในพงหญ้า แต่ถ้าได้ยินเสียงเดินของช้างเขาไม่ได้รู้สึกว่าถูกคุกคามอะไร ทำให้เรามีโอกาสเข้าใกล้ได้มากกว่า ซึ่งวิธีนี้มีเฉพาะช่วงเช้าตรู่และต้องจองล่วงหน้าเนื่องจากมีการจำกัดจำนวนผู้ไปซาฟารีบนหลังช้าง

พบกับแรดขาวเหนือสองตัวสุดท้ายของโลก

อากาศในแคว้นอัสสัมช่วงกลางเดือนเมษายนเย็นสบายคล้ายฤดูหนาวในเชียงใหม่ การตื่นแต่เช้ามืดจึงทำให้เราสดชื่นมาก และเมื่อนั่งรถเข้าไปในเขตอุทยานเพื่อเปลี่ยนพาหนะเป็นช้าง เราก็ได้เห็นแรดอินเดียตัวแรกกำลังเล็มหญ้าอยู่ไกลๆ คือถ้าไม่ได้ตั้งใจมอง อาจจะนึกว่าเป็นวัวหรือควายก็ได้ เพราะแรดชอบกินหญ้าและจัดอยู่ในสัตว์ประเภท grazer ที่จะหากินในทุ่งหญ้าและริมหนองน้ำ แรดชอบแช่น้ำเป็นที่สุด อุทยานนี้จึงเป็นสวรรค์ของแรดเนื่องจากเต็มไปด้วยบึงและหนองน้ำธรรมชาติมากมาย

เมื่อเราลุยเข้าไปในพงหญ้าบนหลังช้างก็ได้เห็นแรดหลายตัวอย่างที่ผู้นำทางของเราพูดไว้ไม่มีผิด ตัวแรกเป็นแรดหนุ่มตั้งหน้าที่ตั้งตาเล็มหญ้าอย่างไม่แยแส คู่ต่อมาเป็นแรดแม่ลูกอ่อนที่ดูหวงลูกจึงยืนติดกันไม่ยอมห่าง หากมองจากระยะไกลคงเห็นแรดได้ยากกว่านี้เนื่องจากหญ้าขึ้นสูงมิดหัวแรดเลยทีเดียว
ตอนแรกเราก็มีความกังวลว่าช้างที่อุทยานฯ จะได้รับการดูแลดีไหมและจะเป็นการทรมานสัตว์หรือเปล่า แต่หลังจากช้างหมดภารกิจพาพวกเราลุยเข้าพงหญ้า เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้ช้างเดินหากินกันอย่างอิสรเสรี จะว่าไปตอนช่วงซาฟารีก็มีลูกช้างตัวน้อยๆเดินตามพ่อแม่ไปทำงาน และพอหมด “กะเช้าตรู่” ช้างก็ได้พักผ่อนกันตามอัธยาศัย

ตะลุยด้วยรถจี๊ป

แม้การขี่ช้างจะพาเราเข้าใกล้แรดได้มาก แต่ให้ชี่ช้างทั้งวันคงไม่ได้ไปไหนไกลแถมยังได้ยอกไปทั้งตัวจากการเกร็ง ในช่วงต่อมาและวันที่เหลือเราจึงสลับมาใช้รถจี๊ป ต้องถือว่าคาซิรังกาบริหารจัดการเรื่องคนเข้าอุทยานได้ดีเพราะต้องไปลงทะเบียนที่สำนักงานและต้องเข้าไปกับไกด์ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อถึงด่านหน้าอุทยานจะมีเจ้าหน้าที่ถือปืนไรเฟิลติดรถไปด้วยอีกหนึ่งคน ปืนที่ว่านี่มีไว้ใช้ป้องกันตัวในกรณีที่มีเหตุร้ายจากสัตว์ป่าเนื่องจากรถแต่ละคันเปิดโล่งไม่ได้มีหลังคาคลุม แต่เหตุร้ายนี้ก็เกิดน้อยมากเพราะโดยธรรมชาติแล้วสัตว์ป่าไม่ได้จะวิ่งเข้าชาร์จรถในอุทยาน และหากเราคิดว่าสัตว์ที่อันตรายที่สุดคือเสือโคร่งเบงกอลคือเราคิดผิดเพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าควายป่าต่างหากที่น่ากลัว ดูเขาโค้งแหลมทรง “คาราบาว” นั่น เราก็ไม่อยากจะยุ่งกับควายป่าหรือทำให้เขาหงุดหงิดเป็นแน่

แรด (เยอะ) มาก

จากที่เรานับจำนวนแรดกันในวันแรก พอถึงวันต่อๆ ไปก็ตัดสินใจเลิกนับ เพราะนับกันไม่หวัดไม่ไหวจริงๆ เราได้เห็นพฤติกรรมที่แตกต่างกันของแรด ไม่ว่าจะเป็นการหากิน การนอนเล่นแช่บ่อน้ำ การวิ่งไล่ขวิดกัน และที่น่าสนใจมากคือการหลับ ที่ว่าน่าสนใจเพราะไม่เคยนึกมาก่อนว่าแรดจะนอนหลับในน้ำและเหลือเพียงส่วนจมูกที่ยื่นมาเหนือผิวน้ำเพื่อหายใจ ส่วนการผสมพันธุ์นั้นเราไม่ได้เห็นเพราะช่วงนั้นเลยฤดูผสมพันธุ์มาแล้วและเป็นเวลาที่มีแรดแม่ลูกอ่อนหลายคู่ทีเดียว

แม่มองไม่ค่อยเห็นเราแต่นางฟังจากเสียงถึงรู้ว่ามีอะไรเข้าใกล้ในขณะที่ลูกน้อยหลับปุ๋ย

 

แรดไม่ได้อยู่กันเป็นฝูงและชอบอยู่เดี่ยวมากกว่าโดยเฉพาะตัวผู้ มันวางอาณาเขตของตัวเองด้วยการฉี่ใส่ต้นไม้และกระจายมูลของมันไปทั่วเขต ประสาทรับรู้กลิ่นของแรดก็เป็นอีกสิ่งที่ดีกว่าสายตาของมันมาก การได้กลิ่นจึงเป็นสัญญาณเตือนว่านี่เป็นถิ่นของแรดตัวอื่นและไม่ควรเข้าไป มีหลายครั้งที่เราได้เห็นแรดจากระยะไกล แต่ก็มีหลายครั้งเช่นกันที่เผชิญหน้ากันกลางถนนลูกรังของอุทยานฯ

แรดใช้กองมูลเหมือนใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก

The Big Five of Kaziranga

แน่นอนว่าในการไปซาฟารีเราก็อยากเก็บให้ครบทั้งห้า ซึ่งได้แก่ แรดอินเดีย เสือโคร่งเบงกอล ช้าง ควายป่า และกวางบึง แต่สิ่งที่เราไม่ได้เห็นแม้แต่เงาเลยคือเสือโคร่งซึ่งคาซิรังกาเองก็เป็นเขตรักษาพันธุ์เสือและมีประชากรเสือหนาแน่นที่สุดในอินเดียด้วย

ดูจากเขาควายป่าจะรู้ว่าคงไม่มีใครอยากมีเรื่องด้วย

“บู” ไกด์ผู้ทำหน้าที่เสมือนนักธรรมชาติวิทยาของเรา บอกว่า ไม่เห็นเสือเลยทั้งอาทิตย์ที่ผ่านมาเพราะอากาศเย็นสบายไปนิดจึงทำให้เสือนอนขี้เกียจไม่ยอมออกมาแม้แต่จะกินน้ำ เราแอบมีความหวังว่าจะได้เจอผู้ล่าแห่งคาซิรังกา แต่ในช่วงสี่วันนั้น ในบรรดานักท่องเที่ยวทั้งหมดมีเพียงกรุ๊ปเดียวที่ได้เห็นเสือเดินข้ามถนนและทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ทุกคนมัวแต่ตะลึง จึงไม่มีใครกดชัตเตอร์ได้ทัน

สวรรค์ของการส่องนก

ใครเป็นสายดูนกจะต้องติดใจเพราะคาซิรังกามีนกมากมายหลายสายพันธุ์ ในยามที่เราไม่ได้ดูแรด เราก็เพลิดเพลินมากกับการดูนกซึ่งมีตั้งแต่นกใหญ่อย่างนกอินทรีหาปลา ไปจนนกเล็กๆ อย่างคิงฟิชเชอร์ การดูนกนั้นต้องอดทนกว่าการดูแรดมากเพราะบางครั้งเห็นตัวอยู่บนกิ่งไม้สูง แต่ด้วยความไม่คุ้นกับคนก็ไม่ยอมออกมาโชว์ตัวกันเลย ขวัญใจของเราในทริปนี้เป็นเจ้านกเค้าโมง (Asian Owlet) ตัวน้อย ที่ตอนแรกหันหลังให้ทุกคน และมีแอบหันมาชม้ายชายตามองเป็นระยะ เราจอดรถดับเครื่องกันและนั่งเงียบกริบอยู่นานกว่าเขาจะค่อยๆหันข้างให้และหันหน้ามาในที่สุด

นกเค้าโมงขี้อาย

การล่ายังไม่จบสิ้น

เราได้เจอแรดจนจุใจ แต่ไม่ได้แปลว่าการมีแรดจำนวนมากขนาดนี้พวกมันจะไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ปัจจุบันแรดอินเดียถูกจัดว่าอยู่ในสถานะไม่มั่นคง (vulnerable) ตามการจัดสถานะของ IUCN ซึ่งแปลว่ายังถูกคุมคามจากศัตรูหมายเลขหนึ่งนั่นก็คือมนุษย์ ตราบใดที่ยังมีความเชื่อว่านอแรดมีสรรพคุณทางยาก็ยังคงมีความต้องการนอแรดโดยเฉพาะในประเทศจีนและการลักลอบล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมายจะยังดำเนินต่อไป “บู”บอกกับพวกเราว่าเขาเกิดและโตที่นี่ และสัตว์ที่เขาชอบมากที่สุดคือแรดอินเดีย จึงอยากฝากความหวังไว้กับผู้พิทักษ์ป่าแห่งนี้ว่าเราจะยังมีแรดอินเดียให้ลูกหลานเราได้ชื่นชม


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: แรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายตายแล้ว หรือนี่คือจุดจบ?

เจ้าหน้าที่ศูนย์ปลอบโยนซูดานในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต แรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายตายลงภายในศูนย์อนุรักษ์โอล เพเยตา ทางตอนเหนือของเคนยา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2018
ภาพถ่ายโดย Ami Vitale
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.