นี่ไม่ใช่ภาพตัดต่อ แต่คือสะพานต้นไม้จริงที่ปลูกในอินเดีย

นี่ไม่ใช่ภาพตัดต่อ แต่คือสะพานต้นไม้จริงที่ปลูกในอินเดีย

กลุ่มเด็กนักเรียนเดินข้ามสะพานไปโรงเรียน สะพานต้นไม้ ในลักษณะนี้ช่วยเชื่อมชาวบ้านให้เดินทางไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น

นี่ไม่ใช่ภาพตัดต่อ แต่คือ สะพานต้นไม้ จริงที่ปลูกในอินเดีย

ระหว่างฤดูมรสุมที่เกิดขึ้นในรัฐเมฆาลัย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย น้ำฝนปริมาณมากจะเพิ่มความสูงของแม่น้ำ สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างรัฐอัสสัมและบังกลาเทศได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความชุ่มชื้นมากที่สุดในโลก แต่ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นไม่เป็นปัญหาแก่ชนเผ่ากะสิ (Khasi) ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้าน Mawlynnong บนหุบเขา เพราะพวกเขาเรียนรู้ที่จะสานสัมพันธ์กับธรรมชาติมาแต่ครั้งบรรพบรุษ เพราะเนิ่นนานก่อนที่จะมีวัสดุก่อสร้างอันทันสมัย บรรพบรุษของชาวกะสิคิดค้นวิธีอันแยบยลในการเชื่อมหมู่บ้านของพวกเขาที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน ด้วยภูมิปัญญาที่เรียกว่า “jing kieng jri” หรือ สะพานต้นไม้

สะพานต้นไม้
สะพานต้นไม้สองชั้น หนึ่งในแลนมาร์คสำคัญของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนรัฐเมฆาลัย การท่องเที่ยวมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน
สะพานต้นไม้
หมอกหนาปกคลุมสะพานต้นไม้ที่ไว้ใช้ข้ามแม่น้ำ

วิธีการก่อสร้างเริ่มต้นด้วยการปลูกต้นยางอินเดีย (Ficus Elastica) ที่คนละฝั่งของแม่น้ำเพื่อสร้างรากฐานของสะพาน จากนั้นนำไม้ไผ่มาพาดระหว่างต้นไม้ทั้งสองต้น เมื่อเวลาผ่านไป 15 – 30 ปี รากของต้นไม้จะเลื้อยพันเชื่อมต่อกันจนกลายเป็นสะพานในที่สุด ซึ่งนานวันเข้าก็ยิ่งแข็งแรง สะพานต้นไม้เหล่านี้มีตั้งแต่ความสูงเหนือแม่น้ำในระดับ 15 ฟุต ไปจนถึง 250 ฟุตเลยทีเดียว สามารถรองรับน้ำหนักคนได้เฉลี่ย 35 คนขณะข้าม

(มาดูกันว่าจะเป็นอย่างไรถ้าลองให้ผู้คนวาดต้นไม้จากความทรงจำ)

สะพานต้นไม้
นักท่องเที่ยวมากมายเดินทางมาชมสะพานต้นไม้
น้ำตกไหลลงมาจากหน้าผา สถานที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มชื้นที่สุดในโลก
สะพานต้นไม้
พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐเมฆาลัยยังคงหนาแน่นด้วยป่าไม้

แตกต่างจากสะพานสมัยใหม่ที่สร้างจากเหล็กหรือคอนกรีต สะพานต้นไม้มีความยืดหยุ่นกว่ามากและมีอายุการใช้งานนานหลายศตวรรษ พวกมันผ่านร้อนผ่านหนาวจากพายุฝนและน้ำท่วม นับเป็นวิธีอันชาญฉลาดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่แท้จริง ซึ่งต้นกำเนิดของภูมิปัญญานี้ไม่อาจทราบได้แน่ชัด แต่มีรายงานการพบบันทึกเรื่องราวแรกเกี่ยวกับสะพานต้นไม้ตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน

วิถีชีวิตของชาวกะสิผูกพันแน่นแฟ้นกับธรรมชาติอย่างมาก เช่นเดียวกับหลายหมู่บ้านในรัฐเมฆาลัยที่ปราศจากสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่พวกเขามีระบบการจัดการกับขยะที่น่าทึ่ง ของเสียทั้งหมดจะถูกรวบรวมใส่กระบอกไม้ไผ่เพื่อนำไปทำปุ๋ยเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนั้นพลาสติกยังถูกนำมารีไซเคิลอีกด้วย ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่สะอาดที่สุดในอินเดีย แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีนาเรนทรา โมดีเองยังกล่าวยกย่องว่าชุมชนนี้ควรเป็นแบบจำลองที่ชาวอินเดียควรนำมาปรับใช้เพื่อต่อสู้กับปัญหามลพิษที่กำลังคุกคามสุขภาพของประชาชนในหลายเมืองทั่วประเทศ

เรื่อง Gulnaz Khan

ภาพถ่าย Giulio Di Sturco

ผู้คนในหมู่บ้านรักษาความสะอาดอย่างมาก พวกเขาเก็บขยะและกวาดทางเดินให้เรียบร้อยในทุกวัน
บันไดขึ้นบ้านที่ทำมาจากไม้ไผ่
ระฆังประจำหมู่บ้าน Mawlynnong ที่ตั้งอยู่ใกล้กับโบสถ์
ในวันอาทิตย์ที่โบสถ์จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน
แม้แต่บ้านเรือนก็สร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ
อาหารสไตล์ท้องถิ่นที่หาทานได้ในร้านอาหารหลักของหมู่บ้าน Mawlynnong

 

อ่านเพิ่มเติม

“ต้นไม้” วิธีที่ง่ายและยั่งยืนที่สุดในการลด ปัญหาฝุ่นควัน

 

Recommend