“ ใบกระท่อม ” ของฮิตคนไทย กำลังแพร่ไปทั่วโลก !

ใบกระท่อม พืชสมุนไพรยอดนิยมของประเทศไทย และกำลังแพร่หลายไปทั่วโลก แต่กลับได้รับการระบุว่าเป็นยาที่มีความ ‘น่ากังวล’ จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) เพราะเหตุใด?

“ ใบกระท่อม ” ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างการกระตุ้นได้ทั้งในด้านพลังงานและอารมณ์ และมีการวางขายทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อและปั้มน้ำมันทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชาวอเมริกันกว่า 2 ล้านคนใช้กระท่อมเป็นประจำ จนทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว

.
“น่าแปลกใจที่มีข้อมูล (เกี่ยวกับกระท่อม) เพียงเล็กน้อย เมื่อพิจารณาจากจำนวนคนที่ใช้ข้อมูลดังกล่าว” ปีเตอร์ กรินสปูน (Peter Grinspoon) แพทย์จากโรงพยาบาลทั่วไปแมสซาชูเซตส์ และโรงเรียนการแพทย์ฮาร์วาร์ด กล่าว

.
ใบกระท่อม นั้นถูกนำมาใช้นานหลายศตวรรษแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นใบของต้นไม้ที่ให้ผลลัพธ์คล้ายกับฝิ่นเล็กน้อย มันได้รับการขนานนามว่าเป็นสารกระตุ้นพลังงาน และช่วยเพิ่มอารมณ์ให้ร่าเริงพร้อมกับคลายความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผลช่วยรักษาอาการปวดเรื้อรังอีกด้วย

.
ทว่ากระท่อมที่ถูกใช้ในสหรัฐอเมริกานั้นแตกต่างจากบ้านเราไปเล็กน้อย และดูจะมี ‘พลัง’ กว่ามาก

.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ระบุว่ากระท่อมเป็น ‘ยาที่น่ากังวล’ โดยอ้างถึงการเสพติดและผลข้างเคียงเช่น อาการชัก ความเป็นพิษต่อตับ และในบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ยังพบไม่บ่อยนัก

.
นอกจากนี้ยังมีอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ จากการใช้กระท่อมด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อาการง่วงซึม สับสน อาเจียน หรือหัวใจเต้นเร็ว แต่เนื่องจากกระท่อมไม่ใช่อาหาร ไม่ใช่อาหารเสริม หรือยา มันจึงมีสถานะด้านกฎระเบียบที่ค่อนข้างคลุมเครือ และถูกวางขายได้อย่างโจ่งแจ้ง

.
ความไม่แน่นอนดังกล่าวคือ การขาดงานวิจัยที่มีคุณภาพและผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ “เราไม่มีความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์นี้” คริสโตเฟอร์ แม็กเคอร์ดี (Christopher McCurdy) ศาสตราจารย์ด้านเคมียาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ผู้ที่ศึกษาการใช้กระท่อมมานานกว่าทศวรรษ กล่าว

กระท่อมคืออะไร? และมีประโยชน์ต่อร่างกายจริง ๆ หรือไม่?

กระท่อม เป็นพืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa โดยเป็นหนึ่งในตระกูลกาแฟ ส่วนใหญ่ถูกปลูกและใช้ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามความรู้ท้องถิ่นแล้วกระท่อมมีวิธีการใช้ง่าย ๆ คือเคี้ยวใบสดของมันเพื่อเป็นยากระตุ้นอ่อน ๆ และชงชาเป็นยารักษาอาการปวด ท้องร่วง และอื่น ๆ

.
แต่ในสหรัฐอเมริกา กระท่อมถูกขายในรูปแบบผงแห้ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะชงเป็นชาหรือบรรจุในแคปซูล ทว่าก็มีแบบเคี้ยวและแบบของเหลวด้วยเช่นกัน ซึ่งมักจะมีประสิทธิภาพสูงมาก เนื่องจากสารประกอบทางเคมีอย่าง ไมทราจินีน (mitragynine) ซึ่งมักมุ่งเป้าไปที่ตัวรับการลดความเจ็บปวดแบบเดียวกับที่ถูกกระตุ้นโดยฝิ่น ทำให้กระท่อมได้รับความนิยมขึ้นมา

.
นอกจากนี้ยังมีสารประกอบสำคัญอีกชนิดคือ ออัลคาลอยด์ 7-ไฮดรอกซีมิตราจินีน (alkaloid 7-hydroxymitragynine) ที่แม้จะมีปริมาณน้อย แต่ก็สามารถออกฤทธิ์คล้ายฝิ่นที่มีศักยภาพมากกว่าได้ ทำให้กลายเป็นว่ากระท่อมส่งผลคล้ายกับสารเสพติดอื่น ๆ ได้ในระดับสูง

.
ไม่เพียงเท่านั้น กระท่อมยังสามารถจับกับตัวรับเซโรโทนิน (serotonin) ซึ่งเป็นตัวที่คอยควบคุมอารมณ์และความวิตกกังวล อีกทั้งยังส่งผลต่อการหลั่งโดปามีน (dopamine) ของสมอง ระบบเหล่านี้ต่างก็มีส่วนทำให้ความเจ็บปวดลดลง ทั้งหมดนี้จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์แยกแยะได้ยากว่าสารประกอบใดกันแน่ที่เป็นประโยชน์จริง ๆ

.
“เราแค่ไม่เข้าใจว่าพวกเขา (สารในกระท่อม) มีวิธีการออกฤทธิ์ประสานกันอย่างไร” ศาสตราจารย์ แม็กเคอร์ดี กล่าว

กระท่อมมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือ?

การสำรวจของศาสตราจารย์ แม็กเคอร์ดี และทีมวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้กระท่อมส่วนใหญ่เชื่อว่ามันจะสามารถช่วยบรรเทาความวิตกกังวลหรือความเจ็บปวดเรื้อรังได้ แต่ทว่าผู้ใช้ก็ไม่ได้ใช้ในลักษณะที่เหมาะสม

.
“พวกเขาบอกผมว่า ใช้แบบผงประมาณ 2-3 กรัมทั้งเช้าและเย็น ซึ่งมันช่วยให้พวกเขาทำงานหรือได้พลังงานเพิ่มเติม” ศาสตราจารย์ แม็กเคอร์ดี ระบุ “แน่นอนว่า ผมไม่สามารถพูดได้ว่าจริงตามนั้นรึเปล่า เพราะเราไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะพิสูจน์เรื่องนั้น”

.
ทาง ซี. มิคาเอล ไวท์ (C. Michael White) ศาสตราจารย์ด้านเภสัชกรรมที่มีชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัยคอนเนคทิคัดก็เห็นด้วยเช่นกัน “ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กระท่อมเพื่อความวิตกกังวล เพื่อให้ตื่นตัว เพื่อลดความเหนื่อยล้า หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด ๆ ก็ตามนั้นยังไม่เพียงพอ”

แม้ว่าจะไม่มีการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มที่มีการควบคุมคุณภาพในการประเมินสรรพคุณของผู้ใช้กระท่อมอย่างเข้มงวด แต่การวิจัยบางชิ้นก็แสดงให้เห็นว่า กระท่อมมีแนวโน้มในการบรรทอาการปวดในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้กระท่อมติดต่อกันบางรายอาจมีอาการปวดและความอ่อนไหวเพิ่มขึ้น เมื่อหยุดรับประทาน

.
“ผมจะไม่แนะนำให้ใครสักคนใช้กระท่อมเป็นยาแก้ปวด เพราะมันไม่ได้ถูกกำหนดคุณประโยชน์ไว้ และมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีตัวเลือกอื่น ๆ อีกมากมาย” ศาสตราจารย์ ไวท์ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม

กลไกการเสพติดของสมอง

กัญชาเสรี : เมื่อ “กัญชา” ไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย

กัญชาใช้รักษา โควิด-19 อย่างไร

มาชิมกัญ เมนูใหม่จากใบกัญชา

แต่การใช้กระท่อมกลับกลายเป็นเรื่องปกติในผู้ที่เคยใช้ฝิ่น แม้ว่าการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุมจะไม่ได้พิสูจน์ข้อดีของการบำบัดการติดยาเสพติด แต่ศาสตราจารย์ ไวท์ กล่าวว่า มีหลายคนที่โต้แย้งว่าการใช้กระท่อมช่วยป้องกันไม่ให้ฝิ่นแพร่หลายมากขึ้น กล่าวอีกนัย เพราะมีกระท่อม ผู้คนจึงติดฝิ่นน้อยลง

.
“นี่คือจุดที่กระท่อมเข้ามามีบทบาทในระบบการรักษาพยาบาลของเราจริง ๆ” ศาสตราจารย์ ไวท์ บอก “หากคุณสามารถเข้าถึงการรักษาผู้ติดยาเสพติดได้ ให้ลองใช้ตัวเลือกที่ได้รับการพิสูจน์แล้วก่อน อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ คุณจะออกไปข้างนอกอย่างไม่เต็มใจ และยอมรับว่าเป็นคนติดยา”

.
“หรือไม่ก็ไม่ได้รับการรักษาที่เพียงพอ และมีความต้องการจะกลับไปใช้ฝิ่นอย่างผิดกฎหมายอีก กระท่อมก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก” เขาเสริม “กระท่อมดูเหมือนจะมีโอกาสน้อยที่ทำให้ใครบางคนหยุดหายใจได้น้อยกว่ายากลุ่มฝิ่นอื่น ๆ”

แล้วกระท่อมปลอดภัยหรือไม่?

แม้ว่าชากระท่อมและผลิตภัณฑ์จากใบสดอื่น ๆ มีการใช้อย่างปลอดภัยมาอย่างยาวนานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การศึกษาพบว่า ผู้ใช้ชาวตะวันตกมักจะบริโภคในแนวทางที่แตกต่างกันมาก ทำให้มีปริมาณส่วนผสมทางเคมีที่ออกฤทธิ์เปลี่ยนแปลงไป และไม่ทราบแน่ชัด

.
“มีผลิตภัณฑ์หลายประเภทที่เรียกว่ากระท่อม แต่ผมขอเปรียบเทียบเป็นผลิตภัณฑ์แบบ ‘Miller Light’ ไปจนถึง ‘Everclear’ (ทั้งคู่เป็นแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่ง)” ศาสตราจารย์ แม็กเคอร์ดี กล่าว “เรารู้ว่ามีตั้งแต่ระดับ ปลอดภัย ไปจนถึง เป็นพิษ แต่เราไม่รู้ว่าจุดที่พอดีอยู่ตรงไหน”

.
วัสดุใบแห้งที่ขายในแคปซูลหรือผงจำนวนมากที่ใช้ชงเป็นชา หรือการบริโภคทั้งใบนั้นมีแนวโน้มว่าจะออกฤทธิ์น้อยกว่า ขณะที่กระท่อมแบบอื่น ๆ ที่ทำจากใบที่ผ่านการแปรรูป กลั่น หรือปรุงแต่งนั้นจะให้สารเคมีที่มีปริมาณสูงกว่า ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียสูงกว่า

.
ท้ายที่สุดแล้ว มีผลิตภัณฑ์กระท่อมก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ 7-ไฮดรอกซีมิตราจินีน มากกว่า “บางอย่างที่วางขายในตลาดรูปแบบกระท่อมนั้น ก็มาไกลจากพืชที่มันเคยใช้เหมือนยารักษา” ศาสตราจารย์ แม็กเคอร์ดี เตือน

.
สิ่งเหล่านั้นอาจหาได้ง่ายและบริโภคกันง่าย ๆ ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรง แม้ว่าผู้ผลิตแค่หวังว่าจะทำให้เราใช้งานมันอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้นก็ตาม “น่าเสียดายที่มันไม่ได้ผลเช่นนั้น” เขากล่าวเสริม “คุณจะก็มีความเสี่ยงต่อระบบ (ในร่างกาย) เป็นอย่างมาก และอาจอยู่ในห้องฉุกเฉินโดยมีอาการข้างเคียงแย่ ๆ อย่างมาก

.
ยิ่งกว่านั้น ผลิตภัณฑ์กระท่อมบางชนิดไม่มีป้ายกำกับ ดังนั้นผู้ซื้อจึงไม่สามารถบอกได้ว่ากระท่อมนั้นมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน และเนื่องจากกระท่อมไม่ได้รับการควบคุมหรือทดสอบ จึงอาจมีตะกั่วและโลหะหนักอื่น ๆ หรือแม้แต่สารอื่น ๆ เจือปนอยู่

.
“ในความคิดของผมมันคือ ‘Wild West’ (ดินแดนเถื่อน) และผู้ซื้อต้องระวัง” ศาสตราจารย์ แม็กเคอร์ดี บอก

แล้วกระท่อมเสพติดหรือเปล่า?

เมื่อเปรียบเทียบกับสารฝิ่นที่มีฤทธิ์รุนแรงเช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน และออกซิโคโดน ความเสี่ยงในการติดกระท่อมก็ค่อนข้างต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม FDA เตือนว่าผู้คนอาจเสพติดได้หากรับประทานมันเป็นเหมือนยาแก้ปวด ยาแก้ความวิตกกังวล หรือเพื่อเพิ่มพลังงาน

.
“เมื่อคุณเริ่มเต็มใจรับมัน คุณก็ต้องรับมันเพื่อให้รู้สึกเป็นปกติเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง” ศาสตราจารย์ ไวท์ บอก “แล้วถ้าคุณไม่รับมันแทนที่จะกลับสู่สภาวะปกติ คุณก็จะรู้สึกแย่ลง”

.
งานวิจัยบางชิ้น รวมถึงการทดลองใช้ยาแบบ ‘การให้ยาคนละครั้งเดียวโดยเพิ่มขนาดในแต่ละกลุ่ม’ หรือ single ascending dose ของ FDA ที่เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อเร็ว ๆ ชี้ให้เห็นว่า การรับประทานกระท่อมในปริมาณที่สมเหตุสมผลอาจก่อให้เกิดอันตรายเล็กน้อยในระสั้น แต่งานวิจัยนี้ก็เป็นเพียงการใช้ยาครั้งเดียว และผลที่ตามในระยะยาวก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด

.
รัฐหลายแห่งจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณากฎหมายเพื่อจำกัดความเข้มข้นของ ไมทราจินีนหรือ 7-ไฮดรอกซีมิตราจินีน ในผลิตภัณฑ์กระท่อมแทนว่าอายุเท่าไหร่จึงจะสามารถซื้อได้ และต้องมีการติดฉลากการทดสอบอย่างชัดเจน

.
นั่นดูเหมือนจะเป็นก้าวที่สมเหตุสมผลสำหรับ กรินสปูน “ในโลกที่สมบูรณ์แบบ จะต้องมีการขายที่ปลอดภัยและมีการควบคุม เพราะผมเชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์กับผู้คนได้จริง ๆ” เขา กล่าว

.
“แต่ผมก็คิดว่ากระท่อมได้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างขนาดใหญ่ทั้งในภาพรวมของกฎระเบียบ ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง” กรินสปูน บอก “ผู้คนจำนวนมากที่ว่านั้นก็เป็นคนหนุ่มสาว และสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็เหมือนก็บการทดลองที่ไม่สามารถควบคุมได้”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
www.nationalgeographic.com


อ่านเพิ่มเติม สงครามยาเสพติด กับความจริงที่มอง(ไม่)เห็น

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.