มาชิมกัญ เมนูใหม่จากใบกัญชา

มาชิมกัญ เมนูใหม่จากใบกัญชา

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเปิดตัวเซ็ตอาหาร มาชิมกัญ เมนูหลากรสที่มีส่วนผสมจากใบกัญชา

หลังจากมีประกาศปลดล็อกบางส่วนของกัญชา และกัญชง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดกัญชา โดยส่วนที่นำมาใช้ได้นั้น ประกอบด้วย ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ร้านอภัยภูเบศรเดย์สปาที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งดำเนินกิจการส่วนหนึ่งเกี่ยวกับอาหารอยู่แล้ว จึงเกิดแนวความคิดนำกัญชาซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม มาแปลงเป็นหนึ่งในแผนการทำธุรกิจ ด้วยการเปิดตัวอาหารไทยฟิวชันภายใต้ชื่อ มาชิมกัญ

โดยแนวคิดเริ่มต้นจากธุรกิจสปาของโรงพยาบาลฯ เติบโตขึ้นร้อยละ 10-20 ต่อปี แต่วัตถุดิบที่นำมาใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงเกิดคำถามว่า ทำไมเราไม่ลองหันมาใช้วัตถุดิบที่หาได้ภายในประเทศ จากนั้นจึงประยุกต์ศาสตร์เรื่อง “ธาตุเจ้าเรือน” เข้ามาปรับใช้ ปัจจุบัน ทางโรงพยาบาลฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการทำสปาจากวัตถุดิบในประเทศให้แก่องค์กรเอกชนเป็นที่เรียบร้อย

มาชิมกัญ, เมนูกัญชา, อาหารจากกัญชา, การใช้กัญชาประกอบอาหาร, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ใบกัญชา

มาชิมกัญ, เมนูกัญชา, อาหารจากกัญชา, การใช้กัญชาประกอบอาหาร, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ใบกัญชา

ตำราการแพทย์แผนไทยกว่าหลายร้อยปีมีการบันทึกลงในสมุดไทย สมุดข่อย ใบลาน หรือวัสดุอื่นใดที่มีการถ่ายทอดและคัดลอกสืบต่อกันมา เรื่อง “ธาตุเจ้าเรือน” ว่าเป็นธาตุหลักประจำตัว ซึ่งร่างกายมนุษย์ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หากธาตุเหล่านี้สมดุลกันร่างกายก็จะแข็งแรง โดยเฉพาะเรื่องการกิน ถ้าเลือกกินอาหารถูกกับธาตุจะช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายได้

เมื่อกล่าวถึงการประยุกต์ใช้งานเรื่องสมุนไพร รวมถึงกัญชา โรงพยาบาลฯ มักได้รับเลือกเป็นสถานที่ในการทดสอบสรรพคุณของสมุนไพรชนิดต่างๆ หลังจากรัฐบาลปลดล็อกบางส่วนของกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ทางโรงพยาบาลฯ จึงร่วมกันหาแนวทางว่า จะนำกัญชามาปรุงอาหารให้คนไทยได้อย่างไร

มาชิมกัญ, เมนูกัญชา, อาหารจากกัญชา, การใช้กัญชาประกอบอาหาร, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ใบกัญชา

มาชิมกัญ, เมนูกัญชา, อาหารจากกัญชา, การใช้กัญชาประกอบอาหาร, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ใบกัญชา

จากการรวบรวมข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้าน หรือเอกสารบันทึกตำรับยา ผู้คนในอดีตส่วนใหญ่ใช้กัญชาเพื่อเป็นเครื่องชูรส ไม่ได้ใช้ในปริมาณมาก จากสรรพคุณข้อนี้ หมอพื้นบ้านจึงเชื่อว่า กัญชาเปรียบเสมือนยารักษาโรคตามความเชื่อในยุคนั้น เนื่องจากองค์ความรู้ของคนโบราณไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ แต่สังเกตจากอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น นอนไม่หลับ กินอาหารไม่ได้ และไม่สบายเนื้อสบายตัว เป็นต้น บางครั้งหมอพื้นบ้านจึงนำใบกัญชามาผสมกับอาหาร หรือปรุงผสมในยา เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากอาหาร และเจริญอาหารมากขึ้น

มาชิมกัญ, เมนูกัญชา, อาหารจากกัญชา, การใช้กัญชาประกอบอาหาร, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ใบกัญชา
ภาพประกอบ : โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

มาชิมกัญ, เมนูกัญชา, อาหารจากกัญชา, การใช้กัญชาประกอบอาหาร, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ใบกัญชา

แต่เมื่อเข้าสู่บริบทในสังคมปัจจุบัน ทางโรงพยาบาลฯ ศึกษางานวิจัยต่าง ๆ มากขึ้น พบว่าในใบกัญชามีสารเมา เตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC มากกว่า CBD ถึงจะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อบุคคลบางกลุ่ม ดังนั้น ทางทีมแพทย์และเภสัชกรจึงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ในอดีต คนส่วนใหญ่ใช้ใบกัญชาประกอบอาหารประมาณ 5-8 ใบต่อวัน ทางร้านอภัยภูเบศรเดย์สปาจึงกำหนดการนำกัญชามาปรุงอาหารไว้ไม่เกิน 5 ใบต่อจาน พร้อมกับติดข้อห้ามต่างๆ ไว้ที่โต๊ะอาหาร เพื่อให้ผู้มารับบริการศึกษาก่อนจะทานอาหารที่มีส่วนผสมใบกัญชา

เมื่อเริ่มให้บริการอาหารที่ประกอบด้วยกัญชา ทางโรงพยาบาลฯ จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับกัญชาอย่างถูกต้อง และได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากจากประชาชนผู้สนใจมาทดลองชิมอาหารที่มีวัตถุดิบเป็นกัญชา

มาชิมกัญ, เมนูกัญชา, อาหารจากกัญชา, การใช้กัญชาประกอบอาหาร, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ใบกัญชา

ในแง่ของหลักการแพทย์ แต่ละคนสามารถตอบสนองต่อสาร THC ในกัญชาได้แตกต่างกัน ดังนั้น ทางร้านจึงแบ่งระดับของปริมาณใบกัญชาที่ใส่ลงไปในอาหาร เพื่อให้เกิดความหลากหลายของเมนู และปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงเน้นย้ำไปยังผู้บริโภคว่า การรับประทานกัญชาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาโรค

ความกังวลของนักวิชาการส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับสาร THC ในกัญชา ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การปรุง การผ่านความร้อน อายุของใบ และไขมันในร่างกาย เนื่องจากถ้าร่างกายมีไขมันเยอะ สาร THC สามารถสะสมอยู่ในร่างกายได้นาน ดังนั้น การคิดเมนูจากใบกัญชาจึงต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ร่วมด้วย

มาชิมกัญ, เมนูกัญชา, อาหารจากกัญชา, การใช้กัญชาประกอบอาหาร, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ใบกัญชา

ในอดีตคนไทยนิยมใช้ใบกัญชามาประกอบอาหาร และใช้รากเป็นยาแก้ปวดเมื่อย และผสมในยารักษาโรคผิวหนัง ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่พบในทวีปแอฟริกา ที่ใช้รากกัญชาผสมและปรุงเป็นยาแก้ปวด ทางโรงพยาบาลฯ จึงมีแนวทางที่จะพัฒนาสารสกัดจากกัญชาเพื่อพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบันต่อไป

ในระดับสากล หลายประเทศพยายามผลิตอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา อย่างประเทศแคนาดา มีความพยายามที่จะผลิตขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยกำหนดปริมาณสูงสุดของสาร THC แต่ยังไม่สามารถผลิตออกมาได้เนื่องจาก ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

แม้ว่า รัฐบาลจะปลดล็อกบางส่วนของกัญชา แต่ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถปลูกได้เองในบ้านเรือน ยกเว้นหน่วยงานภาครัฐบาลที่ต้องขออนุญาตเท่านั้น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล ทั้งนี้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานเรื่องความปลอดภัยของการใช้กัญชา จึงเกรงว่า ชาวบ้านอาจนำไปใช้ในปริมาณที่มากเกินจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ส่วนในทางการแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรใช้สารสกัดจากดอกกัญชาเพื่อผลิตเป็นยาแผนปัจจุบัน โดยใช้กับผู้ป่วยหลายกรณีตามความเห็นของแพทย์ เช่น ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และผู้ป่วยติดเตียง เพื่อลดความเจ็บปวดให้ผู้ป่วย และเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และกำลังเก็บรววบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการใช้สารสกัดจากกัญชาในผู้ป่วยต่อไปในอนาคต

ในอนาคต หากมีการใช้กัญชาอย่างแพร่หลายมากขึ้นควรมีระบบควบคุมระดับประเทศ มีมาตราการลงโทษผู้ที่ใช้กัญชาผิดวัตถุประสงค์อย่างจริงจัง และส่งเสริมหน่วยงานที่ทำงานอย่างถูกต้อง ในส่วนของโรงพยาบาลฯ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการ ที่มีความประสงค์จะทำธุรกิจร้านอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เพื่อให้ประชาชนใชักัญชาอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา


ขอขอบคุณ

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว
หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร

พท.ป.เบญจวรรณ หมายมั่น
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารข้อมูล ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ฯ

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การค้นพบทางโบราณคดีล่าสุดเผยว่ามนุษย์สูบกัญชามากว่า 2,500 ปี แล้ว

กัญชา

Recommend