ตัวสุดท้ายอาจสายเกินไป : ชม ภาพถ่ายสัตว์ ก่อนสูญพันธุ์
เป็นเวลาหลายปีที่โจเอล ซาร์โทรี ช่างภาพเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ต้องทำงานไกลบ้านเพื่อบันทึกภาพชีวิตสัตว์ป่าอันน่าทึ่งในอุทยานแห่งชาติมาดีดี ประเทศโบลิเวีย หรือปีนป่ายยอดเขาสูงสุดสามยอดในสหราชอาณาจักร หรือเข้าใกล้หมีกริซลีมากจนน่าหวาดเสียวในอะแลสกา
ประมาณกันว่าโลกของเรามีสัตว์อยู่สองล้านถึงแปดล้านชนิด สัตว์หลายชนิด (ตัวเลขคาดการณ์มีตั้งแต่ 1,600 ชนิดไปจนถึงสามล้านชนิด) อาจสูญพันธุ์เมื่อสิ้นศตวรรษนี้ อันเนื่องมาจากการสูญเสียถิ่นอาศัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการค้าสัตว์ป่า
สวนสัตว์เป็นความหวังสุดท้ายของสัตว์มากมายซึ่งใกล้สูญพันธุ์เต็มที แต่สวนสัตว์เป็นแหล่งพักพิงให้สัตว์ได้เพียงเศษเสี้ยวของที่มีอยู่ในโลก กระนั้น ซาร์โทรีประเมินว่า การถ่ายภาพสัตว์ส่วนใหญ่ในสถานเพาะเลี้ยงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 25 ปีเลยทีเดียว
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โครงการภาพถ่ายสัตว์ที่เขาทำด้วยใจรัก ชื่อว่า โฟโต้อาร์ก (Photo Ark) ได้บันทึกภาพของสรรพสัตว์มากกว่า 6,000 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นภาพสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กบลูกศรพิษเขียวดำและแมลงวันเอลเซกุนโด สัตว์ขนาดใหญ่ เช่น หมีขั้วโลกและกวางคาริบูป่า สัตว์ทะเล เช่น ปลาสลิดทะเลหน้าหมาจิ้งจอกและหมึกการ์ตูนฮาวาย หรือนก เช่น ไก่ฟ้าเอดเวิร์ดและนกขมิ้นเกาะมอนต์เซอร์รัต และอื่นๆอีกมากมาย
สัตว์ส่วนใหญ่ในโครงการโฟโต้อาร์กซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ไม่เคยผ่านการบันทึกภาพอย่างชัดเจนเช่นนี้มาก่อน เด่นชัดทั้งลวดลายจุดแต้มและเส้นขน ถ้าพวกมันสูญพันธุ์ไป นี่คือวิธีที่เราจะจดจำพวกมัน เป้าหมายของซาร์โทรี “ไม่ใช่แค่ข่าวมรณกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เราพร่าผลาญไปอย่างไม่ยั้งคิด” เขาบอก “เป้าหมายคือการได้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้มีหน้าตาเป็นอย่างไรขณะพวกมันยังมีชีวิตอยู่ต่างหาก”
ปัจจุบัน ผู้คนนับล้านได้เห็นสัตว์ที่ซาร์โทรีถ่ายภาพ ได้สบตาพวกมันในอินสตาแกรม ในนิตยสารเล่มนี้ในภาพยนตร์สารคดี และในภาพที่ฉายไปบนผนังหรือกำแพงของสถานที่สำคัญบางแห่งของโลก เช่น ตึกเอ็มไพร์สเตต อาคารสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และล่าสุดคือมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์
วิธีถ่ายภาพสัตว์นั้นมีอยู่มากมายพอๆกับจำนวนสัตว์ แต่ซาร์โทรีเลือกถ่ายภาพด้วยวิธีการพื้นๆ กล่าวคือ ทุกภาพล้วนมีฉากหลังสีดำหรือสีขาว “วิธีนี้ทำให้ทุกอย่างเท่าเทียมกันได้อย่างยอดเยี่ยมครับ” เขาทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติม