เหมืองแร่ ไทย ประวัติศาสตร์และสถานะความมั่งคั่งบนทุกขลาภจากชีวิตมนุษย์
ปฐมบทเหมืองแร่ไทย ประเทศไทยในอดีตพบแร่ธาตุที่มีความสำคัญทางการค้าอย่างดีบุก ทองคำ และพลวง โดยเฉพาะดีบุกเป็นแร่ที่สยามค้าขายกับยุโรปมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีเกาะภูเก็ตเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่ดีและสมบูรณ์ที่สุด หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ปี พ.ศ. 2398 กลุ่มชาวตะวันตกที่พร้อมด้วยเงินทุนและความชำนาญเข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ในสยาม เปลี่ยนการผลิตแบบร่อนแร่ของคนพื้นถิ่น หรือเหมืองของชาวจีนแต่เดิม เป็นการทำเหมืองที่ทันสมัย แต่กิจการเหมืองแร่ซึ่งควรนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเป้าหมายการผลิตเป็นไปเพื่อการส่งออกแร่ดิบ ปัจจัยการผลิตทั้งทุนและเทคโนโลยีถูกควบคุม รายได้กระจุกในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังล้าหลังและขาดความสมดุล จนนำมาซึ่งความขัดแย้งมากมายในภายหลัง “เก็บหาดป่าตองเอาไว้ให้ฝรั่งมานอนแก้ผ้าเล่น จะมีประโยชน์สักแค่ไหนกัน” ข้อแย้งเถียงของฝ่ายธุรกิจเหมืองดีบุก เมื่อสมาคมการท่องเที่ยวและสภาจังหวัดภูเก็ต มีมติเป็นเอกฉันท์เสนอให้รัฐบาลในยุคหนึ่งระงับการขุดแร่ในทะเลรอบเกาะภูเก็ตทุกแปลง ช่วงนั้นความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่ทวีขึ้น เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงคัดค้านเหมืองหลายครั้ง กระทั่งในที่สุดก็มีการชุมนุมของมวลชนนับแสนซึ่งนับเป็นการชุมนุมทางสิ่งแวดล้อมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2529 เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นเหตุจลาจลเผาโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม หรือแร่ผลพลอยได้จากการถลุงดีบุก ด้วยเหตุผลว่าโรงถลุงแร่กลางเมืองจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังเฟื่องฟู เหตุการณ์นั้นนับเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่า ชาวภูเก็ตได้หันหลังให้กิจการเหมืองแร่โดยเด็ดขาด แม้ว่าที่ผ่านมาผู้คนต่างจดจำว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีส่วนสร้างเศรษฐกิจอันรุ่งโรจน์ให้ภูเก็ต แต่พวกเขากลับเลือกจะเก็บภูเก็ตไว้เป็นไข่มุกแห่งอันดามัน อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งผลิตแร่ดีบุกขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นมายุคเดียวกับภูเก็ต โดยมีบริษัททุ่งคาร์ ฮาร์เบอร์ ทิน เดรดยิง จำกัด ซึ่งเคยทำเหมืองที่ภูเก็ตขยายกิจการเหมืองเรือขุด (dredging) มาขุดแร่ที่ร่อนพิบูลย์ เรือขุดที่ว่านั้นล่องขุดแร่บนบกแทบทุกตารางนิ้วทั่วทั้งเมือง […]