เรื่อง ซาราห์ กิบเบนส์
คาเฟ่แห่งหนึ่งในย่านบรุกลินนำสัตว์ที่เป็นปรปักษ์กันมากที่สุดสองชนิดมาอยู่ร่วมกัน นั่นคือ แมวกับหนู
คาเฟ่แมวบรุกลิน (Brooklyn Cat Café) ในนครนิวยอร์ก ซึ่งร่วมมือกับ Brooklyn Bridge Animal Welfare Coalition เป็นบ้านของแมวที่รอให้คนรับไปเลี้ยงประมาณ 20 ตัว ผู้มาเยือนสามารถเล่นกับแมว และแมวบางตัวอาจลงเอยด้วยการได้บ้านหลังใหม่
กระนั้น ในกรณีหนึ่ง ลูกแมวที่อยู่ที่คาเฟ่ตัวหนึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมวและต้องแยกออกจากแมวตัวอื่นๆเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมวเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้ทั่วไปมากที่สุดโรคหนึ่ง แมวในสหรัฐฯราวร้อยละ 2-3 มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งอยู่ในของเหลวภายในร่างกายและแพร่กระจายผ่านทางการสัมผัส เช่น การผสมพันธุ์หรือแผลถูกกัด หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค แมวจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงราวสองปีครึ่ง
สถานการณ์นี้กระตุ้นให้เจ้าของคาเฟ่เสาะหาสัตว์ชนิดอื่นมาเป็นเพื่อนเล่นของลูกแมวสีดำชื่อ เอโบนี ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงรับเลี้ยงหนูสีขาวตัวหนึ่งจากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ที่อยู่ใกล้เคียง และตั้งชื่อว่า ไอวอรี หนูจะไม่ติดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว ทำให้ไอวอรีเป็นเพื่อนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเจ้าลูกแมวน้อย
เอโบนีตายหลังจากนั้นห้าเดือน แต่เจ้าของคาเฟ่เชื่อว่าชีวิตของมัน “มีค่าเหลือล้น” จากการมีเพื่อน สองปีต่อมาไอวอรีก็ตาย (หนูมีอายุขัยเฉลี่ยราวสองปี) และทางคาเฟ่ตัดสินใจรับหนูจากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ที่อยู่ใกล้เคียงมาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแมวต่อไป โดยเริ่มจากหนูคู่หนึ่งชื่อ เรมีและเอมิล
จากเว็บไซต์ของคาเฟ่ พวกหนูไม่กลัวลูกแมวเพราะพวกมันมีขนาดพอๆกัน ลูกแมวมักจะวิ่งไล่และตะปบหางหนู ซึ่งทางคาเฟ่บอกว่าไม่เป็นไร ตราบเท่าที่ลูกแมวยังเบามืออยู่
แมวบ้านได้วิวัฒน์เป็นนักล่าผู้โดดเดี่ยว และลูกแมวก็เรียนรู้พฤติกรรมการล่าจากแม่ของมัน ตามข้อมูลของ Humane Society เมื่อแยกจากแม่หรือพี่น้องร่วมครอกตัวอื่นๆตั้งแต่ช่วงแรกๆของชีวิต ลูกแมวบางตัวอาจแสดงให้เห็นความก้าวร้าวที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป และเมื่อโตเต็มวัย ความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ของพวกมันกับหนูจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
เคที ลิสนิก เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการคุ้มครองแมวของ Humane Society International เธอตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างชนิดจะเป็นอย่างไร แต่แมวก็ยังคงแสดงพฤติกรรมตามสัญชาตญาณ และหนูคือเหยื่อตามธรรมชาติของมัน
“แม้ว่าสายสัมพันธ์จะก่อเกิดขึ้น แต่หนูก็อาจเคลื่อนไหวในวิถีทางที่ไปกระตุ้นการตอบสนอง [การล่าเหยื่อ] ของแมวได้ค่ะ” เธอบอก
อ่านเพิ่มเติม : แมวของคุณไปไหนมาบ้าง?, เรียนรู้ภาษาแมวจากหาง