ทำไมสุนัขบางตัวถึงก้าวร้าวจัง?
สุนัขคือเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ แต่บางครั้งมิตรภาพอาจมีกระทบกระทั่งกันบ้างเมื่อหางกระดิกลิ้นเลียแปรเปลี่ยนเป็นเสียงเห่าคำรามและรอยกัด สุนัขบางตัวมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปทำนองนี้บ่อยครั้ง และอีแวน แมคลีนส์ ต้องการทำความเข้าใจว่าทำไม ตัวเขาเป็นนักจิตวิทยาและมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ซึ่งเชื่อว่าฮอร์โมนน่าจะเป็นตัวการที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงนี้
ผลการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ Frontiers in Psychology แมคลีนส์และเพื่อนร่วมวิจัยของเขาแสดงให้เห็นว่าระดับของฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin)และวาโซเพรสซิน (vasopressin) มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางสังคมและความก้าวร้าว สุนัขช่วยเหลือผู้พิการจะมีระดับของออกซิโทซินในเลือดมากกว่าค่าเฉลี่ยในสุนัขทั่วไป ในขณะที่สุนัขที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวก็จะมีระดับของวาโซเพรสซินมากกว่า
“นี่คือการศึกษาแรกที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับฮอร์โมนวาโซเพรสซินกับความก้าวร้าวของสุนัข และงานนี้จะเปิดโอกาสให้เกิดการศึกษาใหม่ๆ ตามมา” รายงานจาก Sue Carter นักชีววิทยาจากสถาบัน Kinsey มหาวิทยาลัยอินเดียนา ผู้ศึกษาเกี่ยวกับฮอร์โมนนี้มานานหลายทศวรรษ
ภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม สุนัขส่วนใหญ่จะแสดงอาการก้าวร้าวเมื่ออาหารของพวกมันถูกคุกคามหรือเผชิญกับสุนัขแปลกหน้าและคนแปลกหน้า ซึ่งเป็นปัญหาปกติที่เจ้าของสุนัขต้องเผชิญ คำอธิบายจาก Julia Meyers-Manor ผู้เชี่ยวชาญด้านสุนัขจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ผู้เคยมีส่วนช่วยในการเทรนด์สุนัขที่ศูนย์ Twin Cities Humane Society “คลาสเรียนของเราเต็มตลอดค่ะ” เธอกล่าว
ในสหรัฐอเมริกาแต่ละปีมีสถิติสุนัขกัดมากถึง 4.5 ล้านครั้ง รายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ความก้าวร้าวจะเกิดขึ้นเมื่อสุนัขกำลังรู้สึกว่าจำนนหนทาง ดังนั้นแล้วการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมและความก้าวร้าวของพวกมันจะช่วยปกป้องชีวิตของมนุษย์ตลอดจนสุนัขเอง
ค้นหาสาเหตุ
เช่นเดียวกับพฤติกรรมอื่นๆ ความก้าวร้าวเป็นส่วนผสมของพันธุกรรมและการเลี้ยงดู ประสบการณ์ในวัยเด็กมีส่วนช่วยหล่อหลอมพฤติกรรมก้าวร้าวในสุนัขโตเต็มวัย อย่างไรก็ตามอารมณ์ของพวกมันยังคงถูกควบคุมโดยฮอร์โมน
Carter เริ่มต้นอาชีพของเธอด้วยการศึกษาออกซิโทซิน ฮอร์โมนที่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสายสัมพันธ์ระหว่างบุตรและมารดาหลังคลอด และผู้อยู่เบื้องหลังคำอธิบายว่าเหตุใดสัตว์ประเภทฟันแทะจึงจับคู่กับตัวเดิมไปตลอดชีวิต หลังจากที่พวกมันจับคู่และสร้างรัง Carter พบบางสิ่งผิดปกติ สัตว์จำพวกฟันแทะตัวผู้จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อสัตว์ตัวอื่น (เว้นเพียงแต่คู่ของมัน) ผลการทดลองพบว่าฮอร์โมนวาโซเพรสซินอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมนี้ และเมื่อฮอร์โมนถูกบล็อกพฤติกรรมของพวกมันก็กลับมาสงบดังเดิม
ผลการศึกษาอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่คล้ายคลึงกันในสปีชีส์อื่น แต่ยังไม่เคยมีใครทดลองกับสุนัขบ้านมาก่อน ด้านแมคลีนส์เริ่มต้นพิจารณาฮอร์โมนสองตัวดังกล่าวหลังความล้มเหลวของบทความวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่สูงนำมาซึ่งความก้าวร้าว ซึ่งในความเป็นจริงนั้นใช่ว่าสุนัขตัวผู้ทุกตัวจะเป็นสุนัขที่ก้าวร้าว นอกจากนั้นทีมนักวิจัยยังค้นพบว่าสารสื่อประสาทเซโรโทนินมีผลกระทบต่อความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าอีกด้วย
คำตอบใหม่ คำถามใหม่
เขาเริ่มต้นด้วยการเสาะหาสุนัขก้าวร้าวและนำพวกมันไปจับคู่กับสุนัขที่ไม่ก้าวร้าวที่มีความเหมือนกันด้านอายุ, เพศและสายพันธุ์ ทีมนักวิจัยตรวจเลือดของพวกมันเพื่อวัดระดับออกซิโทซินและวาโซเพรสซินก่อนที่การทดลองจะเริ่มต้นขึ้น
จากนั้นแมคลีนส์ให้เจ้าของสุนัขแต่ละตัวออกไปเดินเล่นกับตุ๊กตาสุนัข เพื่อดูปฏิกิริยา ซึ่งผลที่เกิดขึ้นไม่น่าประหลาดใจสุนัขที่ก้าวร้าวเห่าคำรามและพยายามพุ่งตัวเข้าใส่ตุ๊กตาสุนัขมากกว่าสุนัขที่ไม่ก้าวร้าวและพวกมันมีวาโซเพรสซิน
เพิ่มขึ้นในเลือด
ในอีกการทดลองหนึ่ง แมคลีนส์และทีมงานให้ความช่วยเหลือสุนัขแปลกหน้าหรือสุนัขที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งในทั้งสองกรณีสุนัขทั้งก้าวร้าวและไม่ก้าวร้าวค่อนข้างสงบมากขึ้นและมีออกซิโทซินในเลือดสูงกว่าค่าเฉลี่ย
“ก่อนที่เราจะจัดการกับปัญหาความก้าวร้าว เราจำเป็นต้องเข้าใจชีววิทยาพื้นฐาน ไม่เคยมีใครมองเข้าไปถึงฮอร์โมนเหล่านี้มาก่อน” เขากล่าว ผลการทดลองนี้เป็นก้าวกระโดดครั้งใหม่ อย่างไรก็ตามแมคลีนส์ระบุว่าตัวเขายังไม่มั่นใจว่าวาโซเพรสซินเป็นสาเหตุที่แท้จริงของพฤติกรรมก้าวร้าว หรือเป็นเพียงฮอร์โมนที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายตอบสนองต่อความก้าวร้าว
แม้ว่าขณะนี้ผลการศึกษาจะยังไม่ได้ช่วยให้เราระบุได้ว่าสุนัขตัวไหนเป็นเด็กดี แต่ก็พอให้เข้าใจได้ว่าทำไมสุนัขที่บ้านของคุณถึงไม่ใช่เด็กดี
เรื่อง คาร์รี่ อาร์โนลด์
อ่านเพิ่มเติม