แกะรอยทางพราน ลักลอบล่าเสือจากัวร์

แกะรอยทางพราน ลักลอบล่าเสือจากัวร์

แกะรอยทางพรานลักลอบล่า เสือจากัวร์

พายุฝนที่โหมกระหน่ำตลอดทั้งคืน เปลี่ยนสายน้ำสีเขียวของแม่น้ำรีโอเกนเดเกให้กลายเป็นสีแดงจากดินโคลนและเกรี้ยวกราด เมฆทะมึนเบื้องบนดูพร้อมที่จะถั่งโถมลงมาอีกครั้งได้ทุกเมื่อ โชคดีที่เรือของเราแข็งแรงมีหลังคาคลุม  ผมร่วมภารกิจลาดตระเวนกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากอุทยานแห่งชาติมาดิดี ในโบลิเวีย  พวกเขากำลังสืบหาเบาะแสของปัญหาที่รุนแรงขึ้นในป่าฝนผืนนี้

อุทยานแห่งชาติมาดิดีเป็นขุมทรัพย์ทางธรรมชาติอันน่าตื่นตา  รุ่มรวยไปด้วยชนิดพันธุ์นกมากกว่าร้อยละ 11 ของชนิดพันธุ์ที่พบทั่วโลก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 200 ชนิด ที่นี่ยังเป็นบ้านของเสือจากัวร์ แมวใหญ่ลายจุดผู้ลี้ลับซึ่งครั้งหนึ่งเคยท่องไปทั่วผืนป่าจากแถบตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ลงไปจนถึงอาร์เจนตินา เสือจากัวร์สูญเสียถิ่นอาศัยให้ไร่ปศุสัตว์ พื้นที่เกษตรกรรม และการทำไม้อย่างผิดกฎหมาย และมนุษย์ยังคร่าชีวิตมันเพราะความกลัว (ทั้งๆที่เสือจากัวร์แทบไม่เคยโจมตีมนุษย์) หรือไม่ก็กังวลว่า พวกมันจะเข้ามากินปศุสัตว์ที่เลี้ยงไว้ (ซึ่งจากัวร์ทำในบางครั้ง) และในตอนนี้ เสือจากัวร์กำลังเผชิญภัยคุกคามรูปแบบใหม่ นั่นคือการลักลอบล่าเพื่อป้อนธุรกิจค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

บางทีอาจไม่มีที่ไหนที่ภัยคุกคามนี้จะเด่นชัดเท่ากับในโบลิเวีย ที่ซึ่งพนักงานไปรษณีย์ตรวจยึดเขี้ยวเสือจากัวร์หลายร้อยชิ้นระหว่างลักลอบส่งไปยังประเทศจีน

ในโบลิเวีย การล่า รวมไปถึงการซื้อขาย และแม้แต่การครอบครองชิ้นส่วนของเสือจากัวร์ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และเป็นเช่นนี้มานานปีแล้ว เช่นเดียวกับการซื้อขายชิ้นส่วนเสือจากัวร์ในตลาดระหว่างประเทศ แต่ในโบลิเวีย การหลบเลี่ยงความผิดมักเป็นเรื่องง่าย เพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง และราคาของเขี้ยวเสือจากัวร์ก็จัดว่าสูงมาก บางครั้งอาจมีสนนราคาระหว่าง 100 ถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น

“ผู้คนมองว่าเป็นช่องทางทำเงินครับ” นูโน เนกรอยส์ ซัวเรส นักชีววิทยาที่ร่วมงานกับองค์กรอนุรักษ์โบลิเวีย บอกและเสริมว่า “พวกเขารู้ว่าคงไม่โดนเล่นงาน”

ความต้องการชิ้นส่วนเสือจากัวร์ของชาวจีนดูเหมือนจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเขี้ยวเสือซึ่งนำไปทำเครื่องประดับแสดงถึงความมั่งมี หรือไม่ก็เชื่อว่าช่วยปกป้องสิ่งชั่วร้ายได้ ขณะที่ตัวสินค้านับวันจะยิ่งหากขึ้นตามสถานะเชิงอนุรักษ์ของพวกมัน

ในเวลาเดียวกัน การลงทุนจากจีนและข้อตกลงสร้างสาธารณูปโภคในโบลิเวีย นำคนงานชาวจีนหลั่งไหลเข้าประเทศ และกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมผิดกฎหมายมากขึ้น รวมไปถึงการลักลอบค้าเสือจากัวร์ ตามความเห็นของอานาอี โฮลซ์มันน์ นักอนุรักษ์เสือจากัวร์ ในโบลิเวีย

“พวกคนงานชาวจีนรู้ว่า พวกเขาสามารถทำเงินได้มากขึ้นจากการส่งสัตว์ป่าไปยังประเทศจีน” เธอเสริม “บางครั้งพวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากชาวโบลิเวียหรือชาวจีนด้วยกัน อย่างคนที่เป็นเจ้าของภัตตาคารและไนต์คลับ”

ในประเทศจีน เขี้ยวเสือจากัวร์น่าจะใช้แทนเขี้ยวเสือโคร่ง [ที่หายากกว่า] โดยนำไปประดิษฐ์เป็นสร้อยคอเพื่อแสดงสถานะของผู้สวมใส่ หรือเป็นคติความเชื่อเรื่องการปกป้องสิ่งชั่วร้าย
ระหว่างที่เราลาดตระเวนไปตามแม่น้ำ เราพบชายชาวพื้นเมืองคนหนึ่งบรรทุกกล้วยมาเต็มลำเรือเขาสังเกตเห็นเครื่องแบบเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ขณะที่เรือของเราจอดเทียบข้างๆ หลังจากการพูดคุยกันเล็กน้อย มาร์โกส อุซเกียโน ผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติมาดีดี ก็เปลี่ยนหัวข้อการพูดคุยเป็นเรื่องเสือจากัวร์

“ชายชาวจีนคนหนึ่ง” เข้ามาที่หมู่บ้านของเขาเมื่อปีที่แล้ว ชายพื้นเมืองกล่าว “พวกเขามาตามหาเขี้ยวและกะโหลกของจากัวร์”

อุซเกียโนบอกผมในเวลาต่อมาว่า เขาสงสัยว่า ชายชาวจีนที่ถูกกล่าวถึงจะเป็นคนเดียวกับที่เขาได้ยินมาว่าตระเวนไปตามไร่ปศุสัตว์ต่างๆ ในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อเสนอเงินให้กับเจ้าของไร่แลกกับกะโหลกและเขี้ยวเสือจากัวร์ แต่ขอบเขตอำนาจการจับกุมของอุซเกียโนจำกัดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเท่านั้น

ตำรวจท้องถิ่น หน่วยงานสืบสวนของรัฐ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลาง มีอำนาจในการจับกุมการค้าผิดกฎหมายในมืองน้อยใหญ่ทั่วประเทศ แม้เจ้าหน้าที่ทางการของโบลีเวียจะย้ำว่า การหยุดยั้งการลักลอบค้าเสือจากัวร์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ผ่านมา ความพยายายามยังไม่เป็นเอกภาพและไร้ประสิทธิภาพซึ่งเป็นเรื่องที่นักอนุรักษ์ นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่รัฐเห็นพ้องต้องกัน

“ฉันเชื่อว่าความพยายามของรัฐบาลอย่างเดียวไม่เพียงพอ” อังเคลา นูเญซ นักชีววิทยาผู้เคยทำงานให้สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพโบลิเวีย โดยมุ่งเน้นเรื่องการลักลอบค้าเสือจากัวร์ กล่าว “ผลประโยชน์ทางการเมืองมักเป็นเรื่องที่มาก่อน ดูเหมือนว่าความสำคัญในลำดับต้นๆ คือการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างโบลิเวียและจีน”

นักชีววิทยากล่าวว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะปกป้องเสือจากัวร์ในโบลิเวียซึ่งเชื่อว่ามีอยู่ราว 4,000 ถึง 7,000 ตัว แต่นั่นต้องอาศัยความพยายามอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ และบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อหยุดยั้งกิจกรรมผิดกฎหมาย ทำงานกับบริษัทชาวจีนอย่างใกล้ชิด และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้การลักลอบค้าชิ้นส่วนของสัตว์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอเมริกาใต้ยังคงเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ และให้ผลตอบแทนสูง

เสือจากัวร์
การค้าขายไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในโบลิเวีย ในชุมชนแห่งหนึ่งนอกเมืองอิกวีโตส ประเทศเปรู ชาวบ้านขายหนังเสือจากัวร์ที่ล่ามาได้ พวกเขาเล่าว่า ใครสักคนจากบริษัทสัญชาติจีนที่อยู่ใกล้เคียงจะเข้ามาหากว้านซื้อเขี้ยวเสือประมาณปีละครั้ง โดยไม่สนใจหนังเสือ

เรื่อง ราเชล เบล

ภาพถ่าย คริสเตียน โรดริเกซ

 

อ่านเพิ่มเติม : ภาพถ่ายสะท้อนโลกของสินค้าต้องห้ามจากสัตว์ป่าการล่าจะช่วยปกป้องสัตว์ป่าได้จริงหรือ

Recommend