ฟอสซิลไข่เทอโรซอร์ หลายร้อยใบถูกพบในจีน
เป็นครั้งแรกของโลกที่นักบรรพชีวินวิทยาซึ่งกำลังลงพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนค้นพบ ฟอสซิลไข่เทอโรซอร์ โบราณนับร้อยใบ เจ้าของไข่เหล่านี้คือเทอโรซอร์ สัตว์เลื้อยคลานบินได้ที่มีชีวิตอยู่ในยุคไดโนเสาร์ และภายในไข่บางใบมีฟอสซิลของตัวอ่อนเทอโรซอร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด เท่าที่เคยมีการค้นพบมา
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะศึกษาเทอโรซอร์มานานมากกว่า 2 ศตวรรษ แต่ไม่เคยมีรายงานการพบไข่มาก่อน จนกระทั่งในต้นศตวรรษที่ 20 มีการพบฟอสซิลของไข่บ้างประปรายเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งโหลต่อปี ต้องขอบคุณบรรดานักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยบรรพชีวินวิทยาในจีนสำหรับการค้นพบในครั้งล่าสุดนี้ ที่ค้นพบฟอสซิลไข่จำนวน 215 – 300 ใบเลยทีเดียว
Xiaolin Wang หัวหน้าการวิจัยเล่าว่า ทีมของเขายังพบตัวอ่อนของเทอโรซอร์อีก 16 ตัวภายในไข่และเชื่อว่ายังมีไข่อีกมากที่ยังซ่อนตัวอยู่ในก้อนหิน รอให้พวกเขาไปค้นพบ รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยสารวาร Science
“มันเป็นปรากฏการณ์การค้นพบที่หายากมาก” David Hone นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าว “วิทยาศาสตร์เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น และการค้นพบครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง”
ไข่ที่ค้นพบน่าจะเป็นของเทอโรซอร์สายพันธุ์ Hamipterus tianshanensis ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าในอดีตเมื่อร้อยล้านปีก่อน พวกมันมีชีวิตอยู่ในบริเวณที่เป็นภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ในปัจจุบันมันเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่บินได้ ด้วยระยะห่างระหว่างปีกทั้งสองข้างเมื่อโตเต็มที่ จะมีความยาวถึง 10 ฟุต เชื่อกันว่าพวกมันอาศัยอยู่ใกล้กับน้ำ จับปลาเป็นอาหาร และมีพฤติกรรมคล้ายกับนกกระสาในปัจจุบัน
“บริเวณที่ค้นพบอยู่ในทะเลทรายโกบี ที่นั่นมีลมแรง เต็มไปด้วยผืนทรายกว้าง มีสิ่งมีชีวิตและพืชอาศัยอยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น” Shunxing Jiang หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “อย่างไรก็ตาม ในตอนที่ Hamipterus อาศัยอยู่ สภาพแวดล้อมดีกว่านี้มาก เรียกได้ว่าเป็นสวนเอเดนของเทอโรซอร์เลยก็ว่าได้”
เทอโรซอร์ Hamipterus ไม่เพียงแต่หาอาหารในสรวงสวรรค์บริเวณนี้เท่านั้น แต่พวกมันยังผสมพันธุ์และวางไข่ตามพุ่มไม้หรือชายฝั่งทะเลอีกด้วย ซากดึกดำบรรพ์ของไข่เหล่านี้ถูกรบกวนโดยกระแสน้ำที่พัดมาอย่างรวดเร็ว เป็นข้อบ่งชี้ว่าในอดีตอาจเกิดพายุที่พัดพาเอาอุทกภัยมาท่วมรังของเทอโรซอร์ ส่งผลให้ไข่เหล่านี้จมอยู่ใต้น้ำ ชั้นโคลนและตะกอนเข้าปกคลุมพวกมัน และไม่ใช่แค่ครั้งเดียว ผลการวิจัยพบว่ามีชั้นของตะกอนจำนวน 4 ชั้นนั่นหมายความว่าเกิดน้ำท่วมหลายครั้งกับรังของเทอโรซอร์
ทีมวิจัยของ Wang ตั้งข้อสังเกตุว่าเทอโรซอร์น่าจะวางไข่ในจุดเดิมซ้ำๆ เช่นเดียวกับนกและเต่า นอกจากนั้นจำนวนของไข่ที่พบบ่งชี้ว่าเทอโรซอร์วางไข่รวมกันเป็นนิคมขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับนกหลายสายพันธุ์ในปัจจุบัน
เมื่อเปรียบเทียบโครงกระดูกของเทอโรซอร์ขณะเป็นตัวอ่อนกับเทอโรซอร์อื่นๆ ในหลายช่วงวัย ทีมนักวิจัยพบข้อมูลบางอย่างที่ช่วยฉายภาพให้เห็นว่าเทอโรซอร์เติบโตขึ้นมาอย่างไร สิ่งที่พวกเขาพบคือตัวอ่อนของเทอโรซอร์ยังไม่มีฟัน ขาหน้าของพวกมันมีพัฒนาการช้ากว่าขาหลัง นั่นแปลว่าปีกที่แข็งแรงถูกพัฒนาขึ้นเมื่อเติบโตและพวกมันยังไม่สามารถบินได้ทันที เมื่อออกจากไข่
ด้าน Mike Habib นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหวของเทอโรซอร์ คาดหวังว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ และฟอสซิลเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้พวกเราทำความเข้าใจได้ว่า เจ้าสิ่งมีชีวิตในอดีตเหล่านี้มีความสามารถทางการบินดีแค่ไหน และยังมีปริศนาอีกมากที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับมัน เทอโรซอร์วางไข่ได้ครั้งละกี่ตัว? และต้องอยู่ในช่วงวัยไหนจึงจะสามารถผสมพันธุ์ได้?
การค้นพบหลักฐานทางฟอสซิลที่สมบูรณ์เหล่านี้ มีความเป็นไปได้ว่าองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทอโรซอร์อาจถูกเปลี่ยนแปลง และการค้นพบฟอสซิลใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นจะช่วยไขปริศนา “ที่ผมคาดหวังมากที่สุดเหรอ?” Alexander Kellner นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัย Federal ในนครริโอเดอจาเนโรกล่าว “หนึ่งเลยคือ ค้นพบฟอสซิลตัวอ่อนเพิ่มมากขึ้น สองค้นพบไข่จากแหล่งอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้เราได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับมันมากขึ้น”
เรื่อง มิคาเอล เกรสโค
อ่านเพิ่มเติม : ไขความลับเบื้องหลังปีกอันทรงพลังของเทอโรซอร์, เทอโรซอร์ ยักษ์ใหญ่ครองเวหา