วิกฤติพลาสติกล้นโลก

วิกฤติพลาสติกล้นโลก

วิกฤติพลาสติกล้นโลก

ที่เมืองพลิมัท ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงอันหม่นมัวของอังกฤษ ริชาร์ด ทอมป์สัน สวมเสื้อกันฝนสีเหลืองรอฉันอยู่หน้าสถานีวิจัยสัตว์ทะเลคอกซ์ไซด์ของมหาวิทยาลัยพลิมัท ชายร่างผอมบางวัย 54 ปีคงเดินไปตามเส้นทางอาชีพธรรมดาๆของนักนิเวศวิทยาทางทะเลเมื่อปี 1993 ตอนที่เขาเข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะบนชายหาดครั้งแรกที่เกาะไอล์ออฟแมน ขณะที่อาสาสมัครคนอื่นๆเก็บขวดพลาสติก ถุงพลาสติก และเศษแหอวน ทอมป์สันกลับสนใจสิ่งเล็กๆ นั่นคืออนุภาคขนาดจิ๋วที่กลาดเกลื่อนอยู่ใต้เท้าตรงบริเวณแนวระดับน้ำขึ้นสูงสุดโดยไม่มีใครสนใจ ทีแรกเขาไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่านี่คือพลาสติกหรือไม่ เขาต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์ทางเคมี กว่าจะแน่ใจ

ในตอนนั้นมีปริศนาข้อหนึ่งให้ขบคิดอย่างน้อยก็ในแวดวงวิชาการ กล่าวคือนักวิทยาศาสตร์สงสัยว่า ทำไมพวกเขาจึงไม่พบพลาสติกในทะเลมากขึ้นเลย การผลิตพลาสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร จาก 2.1 ล้านตันเมื่อปี 1950 เป็น 147 ล้านตันในปี 1993 และ 406 ล้านตันในปี 2015 ทว่าพลาสติกที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรและที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยอยู่ตามชายหาดต่างๆ แม้จะดูน่าตกใจ แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างที่ควรจะเป็น “นั่นทำให้เกิดคำถามว่า พลาสติกไปอยู่ที่ไหนหมด” ทอมป์สันบอก

ในช่วงหลายปีนับตั้งแต่เข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะชายหาดครั้งแรก ทอมป์สันช่วยหาคำตอบเบื้องต้น นั่นคือพลาสติกที่หายไปเหล่านั้นแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ยากจะมองเห็น ในรายงานวิจัยเมื่อปี 2004 ทอมป์สันคิดคำว่า “ไมโครพลาสติก” เพื่อเรียกชิ้นส่วนพลาสติกเล็กๆเหล่านี้ และทำนายล่วงหน้าไว้อย่างแม่นยำว่า พวกมันมี “ศักยภาพที่จะสะสมเป็นปริมาณมหาศาล” ในมหาสมุทรได้

พลาสติกล้นโลก
ขวดพลาสติกลอยอยู่เต็มน้ำพุซีเบเลส นอกศาลาว่าการเมืองในย่านใจกลางกรุงมาดริด กลุ่มศิลปะชื่อลูซินเตร์รุปตุสนำขวดพลาสติกที่ทิ้งแล้ว 60,000 ใบไปใส่ในน้ำพุแห่งนี้และอีกสองแห่งในเมืองหลวงของสเปนเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว เพื่อให้คนหันมาสนใจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของพลาสติกใช้แล้วทิ้ง

ไมโครพลาสติกพบได้ทุกหนทุกแห่งในมหาสมุทรถ้าเรามองหา จากตะกอนก้นสมุทรที่ลึกที่สุดไปถึงน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติก ตัวเลขประมาณการหนึ่งชี้ว่า ขณะที่น้ำแข็งอาร์กติกละลายในช่วงสิบปีต่อจากนี้ อาจมีเศษพลาสติกมากกว่าหนึ่งล้านล้านชิ้นกลับคืนสู่ท้องน้ำ

ระหว่างที่ฉันพูดคุยกับทอมป์สันในเรื่องเหล่านี้ เรือที่ให้บริการแบบเช้า-เย็นกลับชื่อ ดอลฟิน พาเราแล่นผ่านทะเลที่มีคลื่นลมปานกลางในอ่าวพลิมัทซาวด์ นอกชายฝั่งเมืองพลิมัท ทอมป์สันปล่อยอวนลากตาถี่รูปร่างคล้ายปลากระเบนซึ่งโดยปกติใช้ศึกษาแพลงก์ตอน เราเข้าใกล้จุดที่นักวิจัยคนอื่นเก็บตัวอย่างปลา 504 ตัวอย่างจาก 10 ชนิดให้ทอมป์สันเมื่อไม่กี่ปีก่อน เขาผ่าท้องปลาและประหลาดใจที่พบไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาเหล่านั้นกว่าหนึ่งในสาม

ผ่านไปสักพัก ทอมป์สันก็ดึงอวนกลับ มีเศษพลาสติกหลากสีอยู่ก้นอวน ตัวเขาเองไม่กังวลเรื่องไมโครพลาสติกในอาหารจานปลาของเขาเท่าไรนัก เพราะจนถึงขณะนี้ยังมีหลักฐานน้อยมากว่าพวกมันเดินทางจากกระเพาะปลาไปสู่เนื้อที่เรากินได้ เขากังวลเรื่องสิ่งที่เรามองไม่เห็นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่เติมลงในพลาสติกเพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ต้องการ เช่น ความยืดหยุ่น หรือนาโนพลาสติกขนาดจิ๋วยิ่งกว่า ซึ่งน่าจะเกิดจากการย่อยสลายไมโครพลาสติกอีกทอดหนึ่ง สิ่งเหล่านี้อาจแทรกซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อของปลาและมนุษย์ได้           

พลาสติกล้นโลก
รถบรรทุกที่อัดแน่นไปด้วยขวดพลาสติกเลี้ยวเข้าโรงงานรีไซเคิลในเมืองบาเลนซูเอลา ประเทศฟิลิปปินส์ คนเก็บขยะเก็บขวดเหล่านี้มาจากท้องถนนในกรุงมะนิลา ก่อนจะนำไปขายให้พ่อค้าของเก่าผู้ขนมาส่งที่นี่ ขวดพลาสติกและฝาจะถูกตัดเป็นเส้นๆ ขายเป็นทอดๆในห่วงโซ่การรีไซเคิล และส่งออก

 

เรามาถึงจุดที่พลาสติกล้นโลกได้อย่างไร พลาสติกมหัศจรรย์เผยด้านมืดให้เห็นครั้งแรกเมื่อไรกัน คำถามนี้ใช้ได้กับสารพัดสิ่งอัศจรรย์ในโลกเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของเรา พลาสติกพลิกชีวิตของเราทุกคน ส่วนใหญ่ในทางที่ดีขึ้น อย่างที่สิ่งประดิษฐ์อื่นๆน้อยนักจะทำได้

การผลิตพลาสติกเร่งความเร็วขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ หรือทันทีที่เราเริ่มผลิตพลาสติกได้จากแหล่งพลังงานราคาถูกและมีปริมาณมหาศาลอย่างปิโตรเลียม บริษัทน้ำมันทิ้งก๊าซต่างๆ เช่น เอทิลีน จากโรงกลั่นไปเปล่าๆอยู่แล้ว และนักเคมีก็ค้นพบว่า ก๊าซดังกล่าวสามารถนำมาทำเป็นบล็อกหรือมอนอเมอร์ (monomer) เพื่อสร้างพอลิเมอร์ใหม่ๆสารพัดได้ เช่น พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต หรือเพ็ต (PET) แทนที่จะใช้เฉพาะพอลิเมอร์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ เมื่อประตูแห่งความเป็นไปได้เปิดออก อะไรๆก็ทำจากพลาสติกได้หมด แล้วเราก็ทำเช่นนั้นจริงๆ เพราะพลาสติกมีราคาถูก

หกสิบปีให้หลัง ราวร้อยละ 40 ของพลาสติกที่ผลิตขึ้นปีละกว่า 406 ล้านตันในปัจจุบันเป็นพลาสติกใช้แล้วทิ้งโดยส่วนใหญ่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มุ่งให้ทิ้งภายในไม่กี่นาทีหลังการซื้อ การผลิตพลาสติกเติบโตอย่างรวดเร็วจนกระทั่งครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่เคยมีมาในโลกผลิตขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น เมื่อปีที่แล้ว บริษัทโคคา-โคลา ซึ่งอาจเป็นผู้ผลิตขวดพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของโลก ยอมรับเป็นครั้งแรกว่า บริษัทผลิตขวดพลาสติกปีละ 128,000 ล้านใบ

กำลังการผลิตพลาสติกเติบโตแซงหน้าความสามารถในการกำจัดขยะชนิดไม่เห็นฝุ่น นั่นคือเหตุผลที่ทำให้มหาสมุทรถูกรุกราน เมื่อปี 2013 นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ประเมินวิถีชีวิตแบบใช้แล้วทิ้งใหม่ ในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนเจอร์ พวกเขาประกาศว่า พลาสติกใช้แล้วทิ้งควรถูกจัดประเภท ไม่ใช่เพื่อนคู่ครัว แต่เป็นวัสดุอันตราย

พลาสติกล้นโลก
ใต้สะพานข้ามลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำพูริคงคาในบังกลาเทศ ครอบครัวหนึ่งแกะฉลากออกจากขวดพลาสติก แยกขวดสีเขียวออกจากขวดใสเพื่อนำไปขายให้พ่อค้าของเก่า คนเก็บขยะที่นี่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ

 

เรื่องน่าชื่นใจที่สุดเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกก็คือ การที่สังคมหันมาสนใจปัญหานี้อย่างกว้างขวางเมื่อไม่นานมานี้ และมีกระทั่งความพยายามจัดการปัญหาอย่างจริงจัง แม้ว่าจะกระจัดกระจาย ข่าวดีบางส่วนนับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งไม่เรียงลำดับใดๆ มีดังนี้ เคนยาร่วมเป็นหนึ่งในประเทศที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกำหนดค่าปรับสูงลิบลิ่วและโทษจำคุกสำหรับผู้ฝ่าฝืน ฝรั่งเศสจะห้ามใช้จานและถ้วยพลาสติกภายในปี 2020 และในปีนี้ การห้ามใช้ไมโครบีดหรือเม็ดพลาสติกขนาดจิ๋วในเครื่องสำอาง (ซึ่งเป็นตัวผลัดเซลล์ผิว) จะมีผลในสหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆอีกสี่ประเทศ อุตสาหกรรมกำลังค่อยๆลบมันออกจากสารบบ

มาตรการทั้งหมดเหล่านี้ช่วยได้ในบางระดับ แม้กระทั่งการเก็บขยะริมชายหาด ซึ่งบางครั้งอาจดูเหมือนไร้ประโยชน์ การเก็บขยะริมชายหาดทำให้ริชาร์ด ทอมป์สัน สนใจปัญหาพลาสติกเมื่อ 25 ปีก่อน แต่ตอนนี้เขาคิดว่า วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริงคือการป้องกันพลาสติกไหลลงสู่มหาสมุทรตั้งแต่ต้น จากนั้นก็ทบทวนวิธีจัดการกับวัสดุมหัศจรรย์นี้ใหม่ “เราทุ่มเทอย่างมากเพื่อให้พลาสติกใช้งานได้ตามต้องการ แต่แทบไม่เหลียวแลเลยว่า เกิดอะไรขึ้นกับผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งานแล้ว” เขาทิ้งท้าย

เรื่อง ลอรา ปาร์กเกอร์

ภาพถ่าย แรนดี โอลสัน

พลาสติกล้นโลก
หลังล้างขยะแผ่นพลาสติกใสในแม่น้ำพูริคงคาในกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ นูร์ญะฮันจะนำไปตากให้แห้ง ขณะเลี้ยงลูกชายชื่อโมโมไปด้วย พลาสติกนี้จะนำไปขายให้คนรับซื้อของเก่า ขยะพลาสติกทั่วโลกที่ได้รับการรีไซเคิลมีไม่ถึงหนึ่งในห้า ในสหรัฐฯ มีไม่ถึงร้อยละสิบ

 

อ่านเพิ่มเติม

พบถุงพลาสติกในส่วนลึกที่สุดของมหาสมุทร

Recommend