นกในยุคไดโนเสาร์เอาชีวิตรอดจากอุกกาบาตได้อย่างไร?

นกในยุคไดโนเสาร์เอาชีวิตรอดจากอุกกาบาตได้อย่างไร?

นกในยุคไดโนเสาร์ เอาชีวิตรอดจากอุกกาบาตได้อย่างไร?

เมื่ออุกกาบาตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 ไมล์พุ่งตกลงมากระทบยังผิวโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน มันปลดปล่อยพลังงานที่รุนแรงเทียบเท่ากับแรงระเบิดปรมาณูจำนวน 3 ล้านลูก และขจัดเอาสามในสี่ของชีวิตบนโลกให้สูญสิ้นไป ซึ่งในนั้นรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ไดโนเสาร์ด้วย แต่เรารู้กันดีว่ามีเครือญาติของไดโนเสาร์บางส่วนที่สามารถรอดชีวิตจากมหันตภัยครั้งนั้นได้ และทุกวันนี้พวกมันก็กระจายเผ่าพันธุ์ไปทั่วโลก และยึดครองท้องฟ้า พวกมันคือ “นก”

คำถามก็คือ เหตุใดนกในปัจจุบันยังคงมีชีวิตอยู่ ในขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในยุคครีเตเชียสต่างล้มหายตายจากกันไปหมด? เป็นไปได้ว่าผลพวงจากอุกกาบาตตกในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อผืนป่าทั่วโลก และตามมาด้วยการสูญพันธุ์ของนกในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่หากินบนต้นไม้ รายงานใหม่นี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Current Biology

นกกลุ่มที่รอดชีวิตจากอุกกาบาตมาได้คือนกที่หากินอยู่ตามพื้นดิน ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงบรรพบุรุษของสัตว์ปีกอย่างเป็ด, ไก่ และนกกระจอกเทศ และหลังหายนะพวกมันก็วิวัฒนาการไปสู่นกสายพันธุ์ใหม่ๆ ดังที่เราเห็นกันในปัจจุบัน รายงานจาก Daniel Field นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัย Bath ในสหราชอาณาจักร

“‘งานวิจัยนี้เป็นสมมุติฐานใหม่ที่อธิบายถึงการสูญพันธุ์และการอยู่รอด” Julia Clarke ผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการนก จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสตินกล่าว

“การวิวัฒนาการของสัตว์ในกลุ่มนก, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพืชดอกล้วนได้รับอิทธิพลมาจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในตอนนั้น” Field กล่าว “ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ทิ้งร่องรอยไว้บนเส้นทางวิวัฒนาการเหล่านี้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 66 ล้านปีก่อน”

นกในยุคไดโนเสาร์
ไก่สายพันธุ์ Lohmann Brown ยืนจับกลุ่มอยู่นอกยุ้งฉางของฟาร์ม Meadow Haven ในรัฐอิลลินอยส์ ในจำนวนนกหากินบนดินที่รอดชีวิตจากอุกกาบาตเหล่านี้ยังรวมถึงบรรพบุรุษของไก่, เป็ด และนกกระจอกเทศด้วย
ภาพถ่ายโดย Daniel Acker, Bloomberg, Getty Images

 

สปอร์เฟิร์น

Field และทีมนักวิจัยของเขารวบรวมหลักฐานจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาสนับสนุนทฤษฎี ในจำนวนนี้รวมไปถึงข้อมูลของนกที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งหากินบนต้นไม้, ข้อมูลใหม่จากฟอสซิลนกดึกดำบรรพ์ที่เพิ่งค้นพบ รวมไปถึงผลการวิเคราะห์สปอร์ และละอองเกสรในชั้นหินที่ได้รับผลกระทบจากการตกของอุกกาบาต “งานวิจัยชิ้นนี้ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างทีละน้อย” Field กล่าว

พวกเขาเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ทางนิเวศวิทยาของนกว่าพวกมันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบนเส้นทางของวิวัฒนาการ หลังการสำรวจความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของนกจำนวนมากกว่า 10,000 สายพันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ทีมนักวิจัยพบว่าบรรพบุรุษผู้รอดชีวิตตัวแรกๆ ของพวกมันคือนกในยุคไดโนเสาร์ที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน การค้นพบนี้บอกเป็นนัยว่าอุกกาบาตที่ตกในครั้งนั้นได้ทำลายผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ทั่วโลกในเวลาต่อมา

นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานมานานแล้วว่าอุกกาบาตในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดไฟป่า และทีมวิจัยพยายามหาขอบเขตของผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยร่วมมือกับ Antoine Bercovici นักบรรพพฤกษศาตร์วิทยา จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ Smithsonian ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พวกเขารวบรวมข้อมูลของฟอสซิลสปอร์และละอองเกสรที่ฝังอยู่ในชั้นหินจากหลายภูมิภาคของโลกตั้งแต่นิวซีแลนด์ ไปจนถึงสหรัฐอเมริกา

นกในยุคไดโนเสาร์
นกเป็ดน้ำในทะเลสาบ Placid ของนครนิวยอร์ก
ภาพถ่ายโดย Michael Melford

ในชั้นหินบางๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งพันปีหลังการตกของอุกกาบาต 70 – 90% ของสปอร์มาจากสายพันธุ์ของเฟิร์นเพียงสองสายพันธุ์ “สปอร์ของเฟิร์นเหล่านี้เป็นหลักฐานของ ‘disaster flora’ เมื่อเฟิร์นขยายพันธุ์ปกคลุมพื้นดินอย่างรวดเร็ว ดังที่เกิดขึ้นกับบริเวณหินลาวาหลังการระเบิดของภูเขาไฟฮาวายในปัจจุบัน” Bercovici กล่าว ดูเหมือนว่าจากอุกกาบาตที่ตกในครั้งนั้น ต้องใช้เวลานานหลายพันปีกว่าผืนป่าจะฟื้นคืนกลับมาได้

นอกจากนั้นผลการวิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์ของนกโบราณที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายยุคครีเตเชียส บ่งชี้ว่าพวกมันเป็นนกที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ และสายพันธุ์ของพวกมันไม่รอดชีวิตจากภัยพิบัติ เนื่องจากว่าที่อยู่อาศัยของพวกมันนั้นถูกกวาดล้างไปในพริบตา ในขณะที่ฟอสซิลของนกโบราณที่มีชีวิตอยู่หลังภัยพิบัติก็บ่งบอกว่าพวกมันเป็นนกที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน โดยดูจากสัดส่วนของขา

“นกโบราณที่หากินตามพื้นดินเหล่านี้รอดชีวิตมาได้ จากนั้นพวกมันก็กลับไปอาศัยอยู่บนต้นไม้อีกครั้ง เมื่อผืนป่ากลับคืนมา” Field กล่าว “ทั้งหมดนี้มาจากแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน ทั้งฟอสซิลของสปอร์, ฟอสซิลนก รวมไปถึงข้อมูลนิเวศวิทยาของนกสมัยใหม่ ซึ่งทั้งหมดสนับสนุนสมมุติฐานนี้”

นกในยุคไดโนเสาร์
ภาพกราฟิกแสดงภาพของนกที่หากินบนพื้นดินรอดชีวิตจากไฟป่าที่โหมกระพือกวาดล้างสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่อาศัยอยู่บนต้นไม้
กราฟิกโดย Phillip M. Krzeminski

 

เติมเต็มช่องว่าง

“ผู้เขียนได้ทำงานอย่างดีในการนำเสนอสมมุติฐานที่น่าสนใจมากของการหายไปของผืนป่า และวิวัฒนาการในนกสมัยใหม่” Luis Chiappe ผู้เชี่ยวชาญด้านนกโบราณ และผู้อำนวยการสถาบันไดโนเสาร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอสแอนเจลิส ในรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าว อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดกลุ่มของนกในตระกูลอีแนนทิออร์นไธนส์ (Enantiornithines) และนกก่อนประวัติศาสตร์ชนิดอื่นๆ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่บนต้นไม้จึงสูญพันธุ์ไปด้วยเช่นกัน

และขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังมองหาหลักฐานทางภูมิศาสตร์ในชั้นหินทั่วโลกที่บ่งชี้ว่าเคยเกิดไฟป่าในอดีต เพื่อยืนยันสมมุติฐานของการสูญสิ้นผืนป่าในอดีต ด้าน Field และทีมของเขาคาดหวังว่าหลักฐานใหม่ๆ นี้จะช่วยเติมเต็มช่องว่างของวิวัฒนาการนกได้ ซึ่งปัจจุบันมีการค้นพบฟอสซิลของพวกมันในช่วงเวลาไม่กี่ล้านปีหลังเกิดภัยพิบัติเพียงเบาบางเท่านั้น

“เฉกเช่นสมมุติฐานที่ดี งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดคำถามและงานวิจัยชิ้นใหม่ๆ ขึ้นมา” Chiappe กล่าว และแน่นอนว่าคำตอบเหล่านั้นถูกเก็บอยู่ในฟอสซิลที่ยังไม่ถูกค้นพบสักที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้

เรื่อง John Pickrell

นกในยุคไดโนเสาร์
นกกระจอกเทศในฟาร์มของจังหวัด Dnipropetrovsk ประเทศยูเครน
ภาพถ่ายโดย Jim Richardson

 

อ่านเพิ่มเติม

พบนกในยุคไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ รอยต่อ วิวัฒนาการการบิน

 

 

Recommend