สัญชาตญาณความเป็นแม่ มีแค่ในผู้หญิงหรือ?
สัญชาตญาณความเป็นแม่ ที่ใครหลายคนพูดกันคืออะไร แล้วมันมีจริงไหม? ลองมาดูงานวิจัยนี้กัน…ก่อนและหลังที่ Sarah Blaffer Hrdy จะได้พบหน้าหลานชายเป็นครั้งแรกตัวอย่างน้ำลายของเธอถูกเก็บไปตรวจสอบ และในอีกสองสัปดาห์ต่อมาเมื่อสามีของเธอเดินทางมาพบหน้าหลานน้ำลายของเขาถูกเก็บตัวอย่างด้วยเช่นกัน
ผลการตรวจสอบระดับของเคมีในสมองระบุว่า ฮอร์โมนออกซิโทซินของเธอพุ่งสูงขึ้นถึง 63% ในเย็นวันนั้นที่ได้พบหน้าหลาน ในขณะที่ระดับฮอร์โมนออกซิโทซินของสามีอยู่ที่ 26% หลังเจอหลานชายครั้งแรก แต่ในอีกไม่กี่วันถัดมามันเพิ่มเป็น 63%
“ไม่มีความแตกต่างระหว่างระดับเคมีในสมองของฉันและสามี แต่ดูเหมือนว่าสำหรับเขาต้องใช้เวลาในการปรับตัวกับหลานคนใหม่เล็กน้อย” เธอกล่าว และขณะนี้ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิสผู้นี้กำลังจะเปิดเผยเรื่องราวของสัญชาตญาณความเป็นแม่ในแง่ของวิทยาศาสตร์ให้เราได้รับรู้
“สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพศเมียทุกชนิดมีการตอบสนองต่อความเป็นแม่ หรือที่เราเรียกว่า “สัญชาตญาณความเป็นแม่” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแม่ทุกคนที่ให้กำเนิดลูกจะพร้อมสำหรับการเลี้ยงและดูแลลูกโดยอัตโนมัติ” Hrdy กล่าว “ตรงกันข้ามมันเกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยจากฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอดลูก”
และไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงที่ให้กำเนิดลูกเท่านั้น: Hrdy และสามีของเธอที่ปัจจุบันกลายเป็นคุณตาคุณยายแล้ว แต่ระดับฮอร์โมนออกซิโทซินของพวกเขายังคงเพิ่มขึ้น โดยฮอร์โมนดังกล่าวนี้เป็นตัวกระตุ้นให้มารดามีความรู้สึกที่จะอยากเลี้ยงดูทารกน้อย ฉะนั้นแล้ว Hrdy จึงตั้งข้อสังเกตว่าทั้งแม่ที่คลอดบุตรและแม่ที่รับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงควรได้รับนิยาม “ความเป็นแม่” ที่เท่าๆ กัน จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมพวกเธอสำหรับการเลี้ยงลูก
งานวิจัยของ Hrdy เกี่ยวข้องกับความเป็นแม่ของมนุษย์ และในสังคมตะวันตกเธอได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้ผู้หญิงมีลูกช้าลง น้อยลง และมีผู้หญิงที่มีความสุขกับชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องมีลูก ทั้งจำนวนของครอบครัวรักเพศเดียวกันที่เพิ่มมากขึ้นและได้รับการยอมรับในสังคม ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สตรีข้ามเพศรายหนึ่งเพิ่งจะกลายเป็นสตรีข้ามเพศคนแรกที่ให้นมลูก หลังได้รับฮอร์โมนเพศหญิงมาหลายปี
เมื่อโลกเปลี่ยนไปขนาดนี้แล้ว นิยามของความเป็นแม่ในความหมายของแต่ละคนเป็นเช่นไร วิทยาศาสตร์สามารถตอบเราได้ไหมว่าสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่ว่ากันมานานนั้นมันมีจริงหรือไม่?
การทดลองกับหนู
สารเคมีในสมองคือตัวแปรสำคัญที่ขับเคลื่อนพฤติกรรม และในที่นี้ฮอร์โมนออกซิโทซินซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นความเป็นแม่ ไปจนถึงกระตุ้นการสืบพันธุ์, การหดตัวของมดลูก และการผลิตน้ำนมคือกุญแจหลัก
“การถึงจุดสุดยอด, การมองตา หรือการสัมผัสเบาๆ เหล่านี้ช่วยผลิตฮอร์โมนออกซิโทซิน” Bianca J. Marlin นักวิจัยด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าว
ในปี 2015 ผลการวิจัยเกี่ยวกับฮอร์โมนออกซิโทซินในหนูทดลองของเธอได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Nature เมื่อหนูทดลองเพศเมียที่ไม่เคยผ่านการผสมพันธุ์ได้ยินเสียงร้องของลูกหนู พวกมันเพิกเฉย หรือในบางกรณีพวกมันตรงเข้าไปกินลูกหนูเสียด้วยซ้ำ ซึ่งตรงกันข้ามกับแม่หนูที่จะมองหาต้นตอของเสียงและพยายามเลี้ยงดูลูกหนู
จากนั้นพวกเขาทดลองให้ออกซิโทซินเพิ่มแก่บรรดาหนูที่ไม่เคยผ่านการผสมพันธุ์พวกนั้น “พวกมันไม่กินลูกหนูแล้ว แต่กลับพยายามที่จะเลี้ยงดูลูกหนูแบบที่แม่หนูทำแทน” Marlin กล่าว “เราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมมันจากการมองลูกหนูเป็นอาหารมาเป็นการดูแลได้”
ทีมนักวิจัยศึกษาสมองของหนูเพิ่มเติม สำหรับหนูที่ไม่ผ่านการผสมพันธุ์และยังไม่ได้รับฮอร์โมนออกซิโทซิน สมองของพวกมันไม่มีสัญญาณตอบสนองต่อเสียงร้องของลูกหนู “แต่เมื่อเราเพิ่มฮอร์โมนเข้าไป เราพบว่าเซลล์ประสาทของพวกมันมีการเปลี่ยนแปลง” นักวิจัยหญิงกล่าว “ไม่ใช่แค่เปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น แต่เรายังเปลี่ยนสัญญาณประสาทที่พวกมันตอบสนองต่อเสียงลูกหนูอีกด้วย”
และเมื่อทีมวิจัยของ Marlin ทดลองเพิ่มฮอร์โมนออกซิโทซินให้แก่หนูตัวผู้ พวกเขาพบว่าหนูตัวผู้เองก็เรียนรู้ที่จะดูแลลูกหนูเช่นกัน เพียงแต่ต้องใช้เวลานานกว่า เช่นในหนูตัวเมียที่ไม่เคยผ่านการผสมพันธุ์อาจใช้เวลาราว 12 ชั่วโมงสำหรับเรียนรู้ที่จะเป็นแม่ แต่หนูตัวผู้อาจใช้เวลาราว 3 – 5 วัน
นั่นแปลว่าสมองของเพศหญิงมีพื้นฐานของความเป็นแม่อยู่แล้วหรือ? Daphna Joel นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟกล่าวว่าไม่เชิงเช่นนั้น เนื่องจากว่าสมองของหนูนั้นไม่เหมือนกับมนุษย์ ดังนั้นหากจะได้คำตอบจำเป็นที่จะต้องศึกษากับสมองของมนุษย์กันต่อไป
ในปี 2015 งานวิจัยของ Joel และทีมเผยแพร่ลงใน Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุถึงความแตกต่างของสมองมนุษย์เพศชายและหญิง พวกเขาพบว่าในคุณสมบัติด้านอารมณ์และการสื่อสาร สมองของเพศหญิงทำงานได้ดีกว่า งานวิจัยได้ข้อสรุปว่าสมองของมนุษย์นั้นมีคุณสมบัติบางอย่างที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในขณะเดียวกันก็มีบางคุณสมบัติบางประการที่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือพบในทั้งสองเพศเท่าๆ กัน
มองย้อนไปที่รากฐาน
ก่อนจะมีการศึกษาด้านชีววิทยา ความเป็นแม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนผ่านบทบาททางสังคม ดังนั้นในการศึกษาวิจัยบรรดานักมานุษยวิทยาหาข้อมูลเพิ่มเติมจากไพรเมตอื่นๆ ผู้เป็นญาติของเรา รวมไปถึงบรรดาชนเผ่าที่ยังคงออกล่าสัตว์ด้วยเช่นกัน
ช่วงทศวรรษ 1980 – 1990 Kristen Hawkes นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยยูทาห์และทีมงานของเธอศึกษาเรื่องราวของชนเผ่า Hadza ในแทนซาเนีย “สิ่งที่ได้ก็คือเราพบว่าผู้หญิงอาวุโสนั้นมีความสำคัญต่อของเผ่าแค่ไหน”
ทีมวิจัยของเธอเรียกสิ่งนั้นว่า สมมติฐาน “คุณย่า/คุณยาย” นั่นคือบรรดาผู้หญิงอาวุโสที่หมดประจำเดือนไปแล้วจะมีหน้าที่เลี้ยงดูหลาน ซึ่งบทบาทสำคัญของเธอนี้มีส่วนช่วยให้เด็กเติบโตและอยู่รอดต่อไป ลองจินตนาการถึงภาพคุณแม่ที่กำลังวุ่นวายกับการเลี้ยงดูลูกคนใหม่จนไม่มีเวลาดูแลลูกๆ คนอื่น ย่ายายเหล่านี้จึงเป็นผู้หาอาหารให้แก่เด็กๆ เอง และไม่ใช่แค่ผู้อาวุโสเท่านั้น แต่หน้าที่การเลี้ยงดูเด็กๆ ยังรวมไปถึงบรรดาน้องสาวและลูกสาวของผู้เป็นแม่อีกด้วย ทำให้บทบาทของผู้หญิงเหล่านี้ไม่ว่าในสถานะใดก็ตาม แต่ก็มีความสำคัญต่อชุมชน
ครอบครัวยุคใหม่
ทุกวันนี้ความช่วยเหลือจากบรรดาญาติพี่น้องเองก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้หญิงสามารถกลับไปทำงานได้เร็วขึ้นเมื่อมี แต่ผลการสำรวจพบว่าผู้หญิงในประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่จะเป็นแม่คนช้าลงเรื่อยๆ
“การแสวงหาความสำเร็จคือแรงจูงในสำคัญในชีวิตมนุษย์” Lisa McAllister นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเมือง Santa Barbara กล่าว “เราวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อโหยหาความสำเร็จ และในหลายสังคมคนที่มีความสำเร็จมากคือคนที่มีลูกหลานมากตามไปด้วย” เป็นเวลาหลายปีที่ McAllister ทดลองอาศัยอยู่กับชนเผ่านักล่าสัตว์ที่มีชื่อเรียกว่า Tsimané ในโบลิเวีย เธอพบว่าสถานะทางสังคมของผู้หญิงจะสูงแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนลูกที่เธอมี
ผู้หญิง Tsimané ไม่ได้มีตัวเลือกในชีวิตมากนัก โดยเฉลี่ยแล้วพวกเธอมีลูกคนแรกตั้งแต่อายุได้ 18 ปี และสามารถมีลูกได้ถึง 9 คน ตรงกันข้ามกับในสหรัฐฯ ข้อมูลประชากรในปี 2017 ชี้ว่าค่าเฉลี่ยช่วงวัยที่ผู้หญิงสหรัฐฯ มีลูกอยู่ที่ 30 – 34 ปี และจำนวนเด็กต่อแม่หนึ่งคนก็ไม่ได้มากนัก
“ในสังคมสมัยใหม่เราไม่ได้วัดค่าของผู้หญิงจากจำนวนลูกอีกต่อไปแล้ว แต่เราวัดคุณค่าจากงานที่เธอทำ? หรือเธอขับรถเก่งไหม? เป็นต้น” McAllister “ทุกวันนี้มีชายหญิงมากมายที่ไม่ได้อยากมีลูก และมีอีกมากที่ไม่ได้ปลาปลื้มเด็ก เมื่อคุณค่าและการวัดความสำเร็จในสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว”
แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่ต้องดูแลเด็กทารกกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรือสังคมแบบไหนก็ตาม “ยกตัวอย่างเช่นการรับบุตรบุญธรรม” Hawkes กล่าว “ทุกวันนั้นมันมีหลายวิธีมากที่เราจะสร้างความสัมพันธ์อันดีหรือเอ็นดูใครก็ได้ที่ไม่ได้เกี่ยวดองเป็นญาติ และไม่มีใครตั้งคำถามด้วย”
เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์
อ่านเพิ่มเติม