เห็บล้านปีสิ้นชีพด้วยใยแมงมุมถูกฝังใน อำพัน
เมื่อ 99 ล้านปีก่อน บนพื้นที่ทางตอนเหนือของเมียนมาในปัจจุบัน มีเห็บโชคไม่ดีตัวหนึ่งที่ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า
ปกติแล้วเห็บเป็นสัตว์ที่มักซ่อนตัวอยู่ตามไรขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือไดโนเสาร์เพื่อดูดกินเลือด แต่ดูเหมือนว่าเห็บตัวนี้จะตกลงมาลงเอยที่ใยแมงมุม และเจ้าบ้านก็ต้อนรับมันอย่างดีด้วยการพันใยรอบตัวเป็นนัยว่าเห็บตัวนี้อาจถูกเก็บเป็นอาหารมื้อถัดไป
เราทราบเรื่องนี้ได้ก็เพราะหลักฐานทั้งหมดถูกห้อหุ้มอยู่ภายในก้อนอำพันสีเหลือง และผลการวิเคราะห์ฟอสซิลอันน่าทึ่งนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Cretaceous Research เมื่อเดือนเมษายน 2018 นับเป็นฟอสซิลในลักษณะนี้ฟอสซิลแรก เนื่องจากอำพันก้อนอื่นๆ ที่เคยถูกค้นพบก่อนหน้าไม่เคยมีเห็บภายในมาก่อน แต่จะเป็นใยแมงมุมกับซากของแมลงอื่นๆ แทน ส่วนฟอสซิลของเห็บอื่นๆ ที่เคยพบมาก็ไม่มีหลักฐานว่าพวกมันมีความเชื่อมโยงกับแมงมุมในสมัยโบราณแต่อย่างใด
“สิ่งสำคัญก็คือการที่ฟอสซิลชิ้นนี้เป็นอะไรที่หายากและไม่ปกติ” Jason Dunlop ภัณฑารักษ์แผนกสัตว์จำพวกแมง (arachnids) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเบอร์ลินกล่าว
“มันน่าตื่นเต้นเสมอที่มีหลักฐานทางฟอสซิลแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมสัตว์ เช่นการจับเหยื่อ” Paula Cushing ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุมจากพิพิธภัณฑ์ Denver ซึ่งไม่ได้ร่วมวิจัยครั้งนี้กล่าวเสริม
(รู้หรือไม่ว่าบรรพบุรุษของแมงมุมมีหาง)
ผ้าห่อศพ
การค้นพบครั้งนี้เป็นฟอสซิลชิ้นล่าสุดที่ได้มาจากเหมืองอำพันในเมียนมา สถานที่ที่เป็นที่รู้จักดีในฐานะแหล่งผลิตและแลกเปลี่ยนอัญมณีเก่าแก่มาตั้งแต่ศตวรรษแรก
อำพันก้อนนี้มีอายุ 99 ล้านปี ส่งผลให้มันเป็นอำพันบรรจุฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาวิจัยบรรพชีวินวิทยาภายในอำพันจากเหมืองในเมียนมา ก่อนหน้านี้พวกเขาพบลูกนก, เห็บตัวบวมที่เชื่อกันว่ามันดูดเลือดจากไดโนเสาร์ หรือแม้แต่ชิ้นส่วนหางของไดโนเสาร์ที่ยังมีขนภายในก้อนอำพันโบราณ
อย่างไรก็ดีการจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลอันทรงคุณค่าเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เหมืองอำพันหลายแห่งในเมียนมาถูกควบคุมโดยกลุ่มกบฏที่เป็นปฏิปักษ์กับกองกำลังทหารของเมียนมา ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ซึ่งไม่มั่นคง ทีมนักวิจัยต้องคอยตรวจตราไม่ให้ชาวบ้านท้องถิ่นเหล่านี้ค้าขายหรือแลกเปลี่ยนฟอสซิลกันเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยมองหาอำพันก้อนใหม่ๆ ที่มีคุณค่าต่องานวิทยาศาสตร์
สำหรับฟอสซิลเห็บในอำพันชิ้นนี้ต้องขอบคุณนักสะสมชาวเยอรมันนาม Patrick Muller ผู้ตัดสินใจขายมันให้กับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเบอร์ลิน หลังปรึกษาหารือกับ Dunlop ว่าฟอสซิลนี้มีความสำคัญเพียงใด และเมื่อทีมนักวิจัยได้รับมอบก้อนอำพันมาแล้ว พวกเขาต้องหาคำตอบว่าเส้นใยที่ปรากฏรอบตัวเห็บนั้นเป็นใยแมงมุมจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่เชื้อราเท่านั้น
Lidia Chițimia-Dobler หนึ่งในผู้ร่วมวิจัย และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเห็บจากสถาบันไมโครชีววิทยาบุชเดซเวร์ชี้ว่า จากการศึกษาลักษณะการย่อยสลายของตัวเห็บ เธอระบุว่าเชื้อรามักจะเริ่มต้นที่ช่องปากของมันก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ แต่สำหรับฟอสซิลเห็บชิ้นนี้ไม่มีร่องรอยของเชื้อราแต่อย่างใด นั่นแปลว่าเส้นใยที่ห่อหุ้มมันนี้น่าจะเป็นใยแมงมุมตามที่คาดการณ์ไว้
ใยชีวิต
David Grimaldi นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันตั้งข้อสันนิษฐานว่า แมงมุมเจ้าของใยน่าจะดักจับเห็บที่มองหาเจ้าบ้านอย่างไดโนเสาร์แรปเตอร์ ซึ่งอาศัยอยู่บนต้นไม้ “มีแนวโน้มว่าใยแมงมุมถูกสร้างใกล้กับโพรงที่ไดโนเสาร์เหล่านี้อาศัยอยู่” เขากล่าว
ทั้งนี้ยังไม่ได้คำตอบชัดเจนว่าแมงมุมสายพันธุ์ไหนกันที่เป็นเจ้าของใยเหนียวหนึบนี้ “เรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับแมงมุมที่ล่าเห็บเป็นอาหาร รวมไปถึงองค์ความรู้ที่มีต่อแมงมุมโบราณที่มีในปัจจุบันก็ไม่ได้ย้อนไปไกลนัก” Paul Selden นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคนซัส หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว
“บางสายพันธุ์ของแมงมุมก็มักถูกพบในอำพันมากกว่าสายพันธุ์อื่น” Selina Grob นักศึกษาปริญญาเอกสาขาบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้ศึกษาแมงมุมโดยเฉพาะกล่าวเสริม “แต่เราไม่สามารถเหมารวมสายพันธุ์แมงมุมที่พบบ่อยในก้อนอำพันว่าเป็นเจ้าของใยที่คร่าชีวิตเห็บได้”
แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ทราบว่าใครคือเจ้าของใยปริศนา ทว่าทีมนักวิจัยกำลังวางแผนที่จะศึกษาฟอสซิลเพิ่มเติม เพื่อหาคำตอบว่าแมงมุม และเหยื่อที่ถูกจับมีวิวัฒนาการมาอย่างไร “มีแมงมุมที่สูญพันธุ์ไปแล้วในอำพันของเมียนมาเพียบเลยครับ” Selden กล่าว
เรื่อง มิคาเอล เกรสโค
อ่านเพิ่มเติม