กลยุทธ์-หลักวิทยาศาสตร์เพื่อการ รักษาป่า จากโลกร้อน จะทำวิธีใดได้บ้าง

กลยุทธ์-หลักวิทยาศาสตร์เพื่อการ รักษาป่า จากโลกร้อน จะทำวิธีใดได้บ้าง

ทางออกของการ รักษาป่า กลยุทธ์การปลูกที่ดีขึ้นและแรงส่งทางวิทยาศาสตร์อาจช่วยให้ตัวดูดซับคาร์บอนเหล่านี้สู้ภาวะโลกร้อนได้

ทางออก 1
การเคลื่อนย้ายต้นไม้อาจช่วยผืนป่าที่อยู่ในภาวะเครียด
รับมือกับความร้อน ขณะที่สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนไป

เรื่อง อะเลฮันดรา โบรุนดา

ใบสนสีทองโปรยปรายทั่วพื้นและร่วงลงบนศีรษะของเกร็ก โอนีลล์ ราวกับไฮไลต์ผมสีบลอนด์ ระหว่างที่เขาเดินผ่านป่าสนลาร์ชสูงสง่าในหุบเขาโอคานากันของรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา

“เป็นต้นไม้ที่สวยมากนะครับ” เขาว่า “ชนิดพันธุ์ที่สง่าภาคภูมิ ถ้าเจอที่เหมาะๆ มันจะงามสะพรั่งเลย”

แต่ “ที่เหมาะๆ” สำหรับต้นไม้จำนวนมาก ทั้งที่นี่และที่อื่นๆ กำลังเปลี่ยนไป เมื่อสภาพภูมิอากาศของโลกอุ่นขึ้น อันที่จริง ต้นสนลาร์ชที่งอกงามเหล่านี้ไม่ได้ถือกำเนิดจากต้นพ่อแม่ในหุบเขานี้ หรือกระทั่งในประเทศนี้ แต่มาจากไอดาโฮซึ่งอยู่ห่างออกไปทางใต้ 457 กิโลเมตร ที่นั่นบรรพบุรุษของมันปรับตัวเข้ากับอากาศที่เป็นปกติของที่นี่ตอนนี้ นั่นคือฤดูร้อน ที่อุ่นขึ้น ฤดูหนาวที่สั้นลงเล็กน้อย และรูปแบบฝนที่เปลี่ยนไป

ต้นไม้เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการทดลองที่ออกแบบมาเพื่อตอบคำถามซึ่งเร่งด่วนขึ้นทุกที นั่นคือเราจะช่วยให้ป่าต่างๆปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์ก่อขึ้นได้อย่างไร ในแปลงปลูกแบบเดียวกันนี้จากทางเหนือของแคลิฟอร์เนียไปจนถึงชายแดนยูคอน โอนีลล์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของบริติชโคลัมเบียกับเพื่อนร่วมงานปลูกกล้าลาร์ชและต้นไม้ชนิดอื่นๆที่รวบรวมจากป่าริมชายฝั่งตะวันตก เพื่อทดสอบแนวคิดการย้ายป่าแบบมีส่วนช่วย พวกเขาอยากรู้ว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องย้ายต้นไม้ขึ้นเหนือไปไกลขนาดไหนและเร็วเพียงใดจึงทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รักษาป่า
แรนด์ เบียรี วัดคาร์บอนไดออกไซด์ในดินของแปลงทดสอบที่ได้รับความอบอุ่นจากเครื่องทำความร้อน ใกล้เมืองโคลเกต์ รัฐมินนิโซตา นักวิจัยปลูกกล้าไม้ที่ได้จากพื้นที่ห่างไกลถึงโอคลาโฮมาที่นี่ เพื่อดูว่าพวกมันทนทานต่อผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีเพียงใด (ภาพถ่าย: เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์)

เมื่อปี 2009 กรมป่าไม้รัฐบริติชโคลัมเบียเริ่มทดลองการย้ายป่าแบบมีส่วนช่วยครั้งใหญ่ที่สุดของโลก ในพื้นที่ 48 แห่ง โอนีลล์กับเพื่อนร่วมงานปลูกกล้าไม้ 15 ชนิดที่รวบรวมจากป่า 47 แห่งในรัฐออริกอนไล่ขึ้นไปถึงเมือง พรินซ์จอร์จในบริติชโคลัมเบีย รวม 152,376 ต้น

ผ่านไปราวสิบปี ต้นไม้จำนวนมากที่เติบโตดีมาจากป่าที่อยู่ลงไปทางใต้ราว 500 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสัญญาณว่า สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไปแล้วมากเพียงใด ข้อมูลที่รวบรวมได้ในช่วงแรกน่าทึ่งเสียจนในปี 2018 กรมป่าไม้รัฐบริติชโคลัมเบียถึงกับออกนโยบายอย่างเป็นทางการให้ใช้เมล็ดพันธุ์จากเขตภูมิอากาศอบอุ่นกว่าในการปลูกป่า 280 ล้านต้นในแต่ละปี

การทดลองนี้พลิกกฎพื้นฐานที่สุดข้อหนึ่งของการป่าไม้ยุคใหม่ นั่นคือการปลูกต้นไม้ชนิดที่พบในพื้นถิ่นเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์ทั้งในและนอกบริติชโคลัมเบีย ถกเถียงกันอย่างคร่ำเคร่งเรื่องจริยธรรมในการนำชนิดพันธุ์ไม้ออกจากถิ่นกระจายพันธุ์ปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาการปลูกไม้ต่างถิ่นเคยก่อปัญหาชนิดพันธุ์รุกรานที่น่าตระหนกมาแล้ว แต่อีกฝ่ายแย้งว่า มนุษย์ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอยู่แล้ว และความเสี่ยงของการไม่ทำอะไรอาจรุนแรงยิ่งกว่า

คนงานกำลังเปลี่ยนแปลงยูคาลิปตัสเก่าให้เป็นป่าพื้นถิ่นในแปลงทดลองของมหาวิทยาลัยเซาเปาลู อันเดอร์สัน ดา ซิลวา ลีมา กับเอเดอร์ อาเราจู ปลูกกล้าไม้ราปาเนีย ซึ่งเป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในป่าแอตแลนติกของบราซิล (ภาพถ่าย: วิกตอร์ โมริยามะ)

ทางออก 2
นักวิทยาศาสตร์สร้างต้นไม้ที่ทนทานมากขึ้น
ด้วยการตัดแต่งดีเอ็นเอ คำถามสำคัญคือ ควรทำหรือไม่

เรื่อง ซาราห์ กิบเบนส์

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ต้นไม้จำนวนมากกำลังเผชิญการระบาดใหญ่ทั่วโลกของตนเอง ทั้งด้วงเจาะต้นแอชสีมรกต โอ๊กยืนต้นตาย โรคดัตช์เอล์ม โรคเหี่ยวในสน ด้วงเจาะลำต้นในวอลนัต เพลี้ยขนเฮมล็อก และตอนนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดร่วมกับภัยแล้ง อุทกภัย และคลื่นความร้อนรุนแรง ก็ทำให้การตั้งรับยากเป็นพิเศษ

ทั้งหมดนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนตั้งคำถามว่า เราสร้างต้นไม้ที่แข็งแรงกว่าได้หรือไม่ ต้นเชสต์นัตอเมริกันอาจเป็นตัวอย่างแรกในไม่ช้านี้ โดยครั้งนี้เป็นการฟื้นคืนชีพ นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ด้วยการตัดแต่งดีเอ็นเอเล็กน้อย พวกเขาได้สร้างต้นไม้ที่ต้านทานโรคตายแห้งซึ่งพร้อมจะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ถ้าวิธีนี้ได้ผลกับต้นเชสต์นัตอเมริกัน บางทีก็อาจใช้ได้กับต้นไม้อื่นๆที่ถูกโรครุมเร้าลักษณะเดียวกัน

โรคตายแห้งในเชสต์นัตเกิดจากเชื้อราตัวร้าย ซึ่งทิ้งแผลเปื่อยสีส้มไว้ตามลำต้นและกิ่งก้าน รอยด่างคล้ายแผลฟกช้ำนี้อาจอุดกั้นท่อลำเลียงน้ำและสารอาหารของต้นไม้

ในฐานะชนิดพันธุ์หนึ่ง ต้นเชสต์นัตอเมริกันอยู่รอดด้วยการงอกต้นใหม่จากรากของต้นที่ตายแล้ว แต่นี่เป็นภารกิจที่ถูกสาป โรคตายแห้งจะเกิดเมื่อต้นไม้อายุมากขึ้น ขณะที่ความสามารถในการงอกใหม่มีจำกัด

ความพยายามผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างเชสต์นัตอเมริกันกับเครือญาติจากจีนเพื่อสร้างพันธุ์ผสมที่ต้านทานโรคตายแห้งเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 และดำเนินไปอย่างเข้มข้นในทศวรรษ 1950 มูลนิธิอเมริกันเชสต์นัตเริ่มทำงานเรื่องพันธุ์ผสมอย่างเป็นทางการในทศวรรษ 1980

รักษาป่า
อนาคตของต้นเชสต์นัตพันธุ์อเมริกันที่เคยสง่างามอาจขึ้นอยู่กับต้นกล้าเช่นที่เห็นอยู่เหล่านี้ในเรือนกระจกที่เมือง ซีราคิวส์ รัฐนิวยอร์ก ซึ่งผ่านการดัดแปรพันธุกรรมให้ต้านทานเชื้อราที่ทำให้เชสต์นัตหลายพันล้านต้นยืนต้นตายในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ (ภาพถ่าย: เอมี ทันซิง)

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มีส่วนต่างๆของยีนถึงเก้าส่วนทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความต้านทานโรคตายแห้ง ซึ่งทำให้การปรับปรุงพันธุ์เป็นเรื่องท้าทาย คำถามที่แท้จริงคือ อะไรคือส่วนผสมที่ถูกต้องของยีนที่สร้างความต้านทานโรคกันแน่ การปรับปรุงพันธุ์ยังต้องอาศัยการปลูกไม้หลายชั่วรุ่นเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละรุ่นใช้เวลาหลายปี

พันธุวิศวกรรมเป็นทางลัดที่จุดประเด็นขัดแย้งในการสร้างเชสต์นัตอเมริกันที่ต้านทานโรคตายแห้งได้อย่างแท้จริง ในทศวรรษ 1990 ชาร์ลส์ เมย์เนิร์ด กับบิล พาวล์ ในเมืองซีราคิวส์ รัฐนิวยอร์ก เริ่มใช้แนวทางดังกล่าวโดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่แกะกล่องในยุคนั้น

ช่วงเวลาแห่งการค้นพบของเขามาถึงเมื่อรู้ว่า ยีนที่ได้จากข้าวสาลีทำให้มะเขือเทศต้านทานจุลชีพก่อโรคมากขึ้น พอถึงปี 2014 เมย์เนิร์ดกับพาวล์ก็ตัดต่อยีนจากข้าวสาลีนี้ใส่ในจีโนมของเชสต์นัตสำเร็จ พวกเขาเรียกต้นไม้ที่ผ่านกระบวนการดัดแปรพันธุกรรมแล้วว่า ดาร์ลิง 58 ตามชื่อเฮิร์บ ดาร์ลิง วิศวกรที่สนับสนุนงานพวกเขาอย่างแข็งขัน และต้นเชสต์นัตอเมริกันที่ปลูกในแปลงทดสอบในซีราคิวส์ก็ทนต่อโรคตายแห้งได้จริง

สหรัฐฯควบคุมสถานที่และผู้ที่สามารถปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมอย่างเข้มงวด พาวล์กับเพื่อนร่วมงานขอให้พิจารณาปลดดาร์ลิง 58 ออกจากบัญชีควบคุม เพื่อให้มีสถานะเป็นต้นไม้ทั่วไป

“เมื่อเราปล่อยต้นไม้เหล่านี้ให้เติบโตในธรรมชาติแล้ว เราไม่มีทางเรียกคืนได้ ไม่มีทางถอยกลับค่ะ” แอนน์ ปีเตอร์มันน์ ผู้อำนวยการบริหารโครงการความยุติธรรมเชิงนิเวศของโลก บอก นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันพื้นเมืองบางส่วนยังกังวลด้วยว่า ต้นไม้เหล่านี้จะละเมิดสิทธิในการปกป้องดินแดนของพวกเขาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ

แฮนนาห์ พิลคีย์ เก็บเชสต์นัตในฤดูใบไม้ร่วงที่โครงการวิจัยและฟื้นฟูต้นเชสต์นัตพันธุ์อเมริกันในเมืองซีราคิวส์ ดอกเชสต์นัตผ่านการผสมเกสรจากต้นที่ดัดแปรพันธุกรรม ถุงช่วยป้องกันเมล็ดและเรณูไม่ให้เล็ดรอดและแพร่กระจาย สู่ธรรมชาติโดยไม่ตั้งใจ (ภาพถ่าย: เอมี ทันซิง)

ทางออก 3
ปลูกต้นไม้เพิ่ม แต่อย่ามากเกินไป ให้ต้นกล้ามีที่ทางพอที่จะเติบโตและมีชีวิตยืนยาว

เรื่อง เครก เวลช์

ท่ามกลางเรือกสวนไร่นาและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เขียวชอุ่มสุดลูกหูลูกตา ห่างจากเมืองเซาเปาลูในบราซิลไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 225 กิโลเมตร ป่าเขตร้อนสองประเภทเติบโตอยู่ด้วยกัน ป่าแรกมีพันธุ์ไม้ชนิดเดียวคือยูคาลิปตัส พืชต่างถิ่นที่ปลูกเรียงเป็นแถวเหมือนแคร์รอต ส่วนอีกแห่งปลูกพืชพื้นถิ่นหลายสิบชนิดคละกันระเกะระกะ

ต้องยอมรับว่าป่านี้ดูไม่จืดจริงๆ ยูคาลิปตัสผอมแห้งชี้กิ่งเหมือนนิ้วแม่มดสูงเหนือดงมะเดื่อต้นอ้วนเตี้ยและไม้ไม่ผลัดใบอื่นๆ แต่การปลูกพืชพื้นถิ่นคละกันในพื้นที่กว่าหกไร่ซึ่งแวดล้อมด้วยพืชต่างถิ่นโตเร็วนี้ คือหนึ่งในความพยายาม อันหลากหลายที่จะพลิกฟื้นป่าของโลก

เปโดร บรันกาลีออน นักพืชกรรมศาสตร์ ผู้ออกแบบแปลงทดลองดังกล่าว บอกว่า ยูคาลิปตัสโตเร็วจนสามารถ ตัดขายเพื่อทำกระดาษหรือเสารั้วได้หลังผ่านไปห้าปี เงินที่ได้ครอบคลุมต้นทุนเกือบครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าของการปลูกพืชพื้นถิ่นที่เติบโตช้า ซึ่งจะค่อยๆ เติบโตตามธรรมชาติแทนยูคาลิปตัสที่ถูกตัด และกระบวนการนี้ไม่ได้ขัดขวางการคืนสภาพป่าตามธรรมชาติ

ทุกวันนี้ มองไปทางไหนก็เห็นองค์กรต่างๆ พยายามปลูกต้นไม้กู้โลก ทั้งบอนน์แชลเลนจ์ (Bonn Challenge) ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลเยอรมันและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น ซึ่งเชิญชวนประเทศต่างๆ ให้ร่วมกันปลูกป่ากว่า 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรภายในปี 2030

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้บอกว่า โครงการปลูกต้นไม้มากมายยังเข้าใจผิดไปมาก ระหว่างไปเยี่ยมแปลงปลูกป่า อีกแห่งของเขาเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีกลาย นักนิเวศวิทยาการฟื้นฟูชาวบราซิลผู้นี้พบว่า ถ้าเว้นพื้นที่ว่างส่วนหนึ่งไว้ใน แต่ละแปลง หรือปลูกกล้าไม้เพียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ต้นไม้จะแพร่พันธุ์จนเต็มพื้นที่เอง ผ่านไปหลายสิบปี เขาจะประหยัดเงินและได้ป่าทึบกลับมาทั้งที่ปลูกต้นไม้น้อยลง

คนงานประจำห้องปฏิบัติการตัดเปลือกที่เป็นหนามสีเขียวจากเชสต์นัตที่ผสมกับเรณูดัดแปรพันธุกรรม ต้นไม้ดัดแปรพันธุกรรมแต่ละรุ่นทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใกล้วันที่ต้นเชสต์นัตพันธุ์อเมริกันอาจกลับมาดกดื่นในป่าอีกครั้ง (ภาพถ่าย: เอมี ทันซิง

การปลูกต้นไม้ดูจะเป็นวิธีธรรมชาติง่ายๆ ที่สู้กับวิกฤติใหญ่หลวงอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นไม้เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ

จึงไม่น่าประหลาดใจที่เราจะเห็นต้นไม้เป็นอาวุธในอุดมคติ ทำไมไม่ปลูกให้มากขึ้น จะได้แก้ปัญหาได้มากขึ้นล่ะ แต่ปฏิบัติการปลูกต้นไม้ครั้งใหญ่ทุกครั้งกลับประสบความล้มเหลวอันน่าสิ้นหวัง ต้นไม้ที่ปลูกผิดที่ผิดทางทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้น้อยลง ทำลายดินในทุ่งหญ้าที่ดูดซับคาร์บอนและมีความหลากหลายสูง หรือไม่ก็ทำให้ชนิดพันธุ์พืชรุกรานแพร่กระจาย

“ฉันไม่คิดว่าการปลูกต้นไม้เป็นทางออกง่ายๆค่ะ” แคเรน ฮอลล์ นักนิเวศวิทยาการฟื้นฟูจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตแซนตาครูซ บอก การปลูกป่าไม่อาจแทนที่การลดการปล่อยคาร์บอนจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติได้ การปลูกต้นไม้ไม่อาจทดแทนป่าโบราณได้เช่นกัน ต้องใช้เวลาหลายร้อยหรือหลายพันปีกว่าจะเกิดระบบทางชีวภาพ (และการกักเก็บคาร์บอน) ที่ซับซ้อนเช่นนั้น การอนุรักษ์ป่าดึกดำบรรพ์สำคัญกว่าการปลูกป่าใหม่มาก

คุณค่าแท้จริงของต้นไม้คืออายุที่ยืนยาว ซึ่งแปลว่าต้องมีคนดูแลไม่ให้มันตาย เอธิโอเปียเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อปี 2019 ที่ปลูกต้นไม้ 350 ล้านต้นในวันเดียว แต่ฮอลล์กับนักศึกษาของเธอพบข้อมูลน้อยมากว่า ต้นไม้เหล่านั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร ระหว่างทบทวนข้อเสนอปลูกต้นไม้ให้สภาเศรษฐกิจโลก ฮอลล์พบว่า กระทั่งความพยายามปลูกป่าที่ดีที่สุดก็มีการติดตามผลเพียง 24 เดือน ถ้าเป้าหมายคือการกักเก็บคาร์บอนและความหลากหลายทางชีวภาพ “เราตัดสิน เรื่องพวกนั้นภายในสองปีไม่ได้หรอกค่ะ” เธอบอก

ติดตามสารคดี อนาคตของป่าทั้งหลาย ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/546555


อ่านเพิ่มเติม ความร้อนและภัยแล้งกำลังสังหารป่าทั่วโลก แล้วมนุษย์จะหาทางช่วยป่าได้อย่างไร

Recommend