คาร์บอนเครดิต และสถานการณ์ในประเทศไทย

คาร์บอนเครดิต และสถานการณ์ในประเทศไทย

คาร์บอนเครดิต เป็นหนึ่งในกลไกเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้นคือการซื้อขายปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในธรรมชาติ

คำนิยามของ คาร์บอนเครดิต

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นิยามว่า คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยน หรือซื้อขาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น การนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงาน การนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ

คาร์บอน เครดิต
                                                         ภาพประกอบ Gerd Altmann / Pixabay

วัตถุประสงค์ของแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิต

สืบเนื่องจากพิธีสารโตเกียวได้กำหนดกลไกต่าง ๆ ให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยหนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้นคือการซื้อขายมลพิษ หรือคาร์บอนเครดิต กับประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนดไว้ได้

สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้ตกลงเข้าร่วมในพิธีสารโตเกียวเมื่อ พ.ศ. 2545 โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ถูกบังคับให้มีพันธกรณีในการลดประมาณก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถเข้าร่วมโครงการในฐานะผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตได้

หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization) :TGO) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ รวมไปถึงการดำเนินการเรื่องตลาดคาร์บอน

Carbon Credit
                                                   ภาพถ่าย Marcin Jozwiak / Unsplash
ตลาดคาร์บอนคืออะไร

ตลาดคาร์บอน คือแหล่งซื้อขายคาร์บอนเครดิต สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการนำคาร์บอนไปชดชเยในกิจกรรมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งองค์กรหรือหน่วยงานเหล่านั้นไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยตนเอง

ตลาดคาร์บอนสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่

1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้นสืบเนื่องจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมายซึ่งต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ออกกฎหมาย และเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้ที่เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally binding target)

Carbon market
                                                         ภาพประกอบ med son / Pixabay

2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับการจัดตั้งตลาด เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กร เพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในตลาดด้วยความสมัครใจโดยอาจจะตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองโดยสมัครใจ (Voluntary) แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally binding target)

โครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถขออนุญาตขึ้นทะเบียนรับรองคาร์บอนเครคิดจาก อบก. ได้แก่

1. การพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น การผลิตหรือใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิง

2. การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เช่น การใช้อุปกรณ์เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง การนำความร้อนหรือความเย็นเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า ระบบความร้อนหรือระบบความเย็น

3. การจัดการในภาคขนส่ง เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในการคมนาคมขนส่ง การใช้ยานพาหนะไฮบริด และไฟฟ้า

คาร์บอนเครดิตคืออะไร
                                     ภาพประกอบ Gerd Altmann / Pixabay

4. การจัดการของเสีย เช่น การหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซมีเทนจากน้ำเสีย การคัดแยกและนำกลับคืนขยะพลาสติก การผลิตปุ๋ย และสารปรับปรุงดินจากขยะอินทรีย์

5. การเกษตร เช่น การใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี และการปลูกพืชเกษตรยืนต้น

6. การปลูกป่าและต้นไม้

7. การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า

โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ

2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิตของตนโดยไม่ผ่านตลาด

อย่างไรก็ตาม อบก. ยอมรับว่า การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการของไทยในตลาดคาร์บอนภายในประเทศยังมีปริมาณไม่มาก เนื่องด้วยตลาดคาร์บอนของไทยเป็นตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) ซึ่งมีขนาดเล็กมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ต่อปี ส่วนใหญ่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศไทยอยู่ในรูปแบบของการเจรจาต่อรอง (Over-the-Counter: OTC)

ซื้อขายคาร์บอนเครดิต
                                                                 ซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ภาพถ่าย James Ting / Unsplash

ประโยชน์จากการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นในงานสัมมนาหัวข้อ CARBON CREDIT : ลดต้นทุน หมุนไปสิ่งแวดล้อม ที่จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า

ประโยชน์ของคาร์บอนเครดิตในระยะสั้นจะช่วยทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำง่ายขึ้น เนื่องจากมีการขยายการลงทุนในพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงการลงทุนในทุนทางธรรมชาติ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจมีต้นทุนสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกไม่เท่ากัน บางธุรกิจ อาจติดกับดักทางเทคโนโลยี ดังนั้น กระบวนการคาร์บอนเครดิตจึงมาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมดำเนินต่อไปภาพประกอบ Mystic Art Design / Pixabay

ประโยชน์ในระยะกลางถึงระยะยาว คาร์บอนเครดิตจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการเหล่านั้นสามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้

คาร์บอนในประเทศไทย
                                                        ภาพประกอบ Mystic Art Design / Pixabay 

สถานการณ์กาารซื้อขายคาร์บอนในประเทศไทย

ความต้องการคาร์บอนเครดิตในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions

ปัจจุบัน การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมีการดำเนินการผ่านโครงการชดเชยคาร์บอน หรือ Thailand Carbon Offsetting Programme (T-COP) ซึ่งพัฒนาโดย อบก. เพื่อสร้างอุปสงค์คาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction : T-VER)

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการ T-COP มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกเริ่มโครงการ มีมูลค่าการซื้อขายเพียง 846,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 9,714,190 บาท ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนราคาคาร์บอนเฉลี่ยต่อตัน มีราคาเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 150 บาทต่อตัน ในช่วงเปิดตลาดซื้อขายในปีแรก ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา โดยล่าสุดราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อตัน

ในส่วนของการคาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมชดเชยคาร์บอนประเภทต่าง ๆ ของประเทศไทยพบว่า ภาคธุรกิจมีความต้องการรวมประมาณ 182-197 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือมีความต้องการรวมถึงปี 2030 ที่ 1,823-1,973 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สืบค้นและเรียบยเรียง ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

คาร์บอนเครดิต คืออะไร?


https://www.bangkokbiznews.com/tech/963474

“คาร์บอนเครดิต” ตัวช่วยธุรกิจสู่ความยั่งยืน


http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y29uY2VwdF9tYXJrZXQ=
http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=YXJ0aWNsZQ==

Recommend