Soft Power ไทยแท้! สงกรานต์ ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” โดยองค์การยูเนสโก
เมื่อวานนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ยูเนสโก’ (UNESCO, United Nations Education Scientific and Cultural Organization) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า“ประเพณี สงกรานต์ ของประเทศไทย” คือวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งจัดขึ้นที่สาธารณรัฐบอตสวานา
ทางเว็บไซต์ของยูเนสโกบรรยายไว้ว่า “ในประเทศไทย สงกรานต์หมายถึงการที่ดวงอาทิตย์ดาวราศีเมษ (Aries constellation) ซึ่งเป็นสัญญาณเริ่มต้นปีใหม่ตามประเพณี โดยเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนเมษายนหลังฤดูเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนกลับมาอยู่รวมกันกับครอบครัว และสักการะผู้สูงอายุ บรรพบุรุษ และพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์”
อีกทั้งยังระบุไว้อีกว่า ประเพณีสงกรานต์นี้มีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น การสรงน้ำพระ การเล่นน้ำกันในครอบครัวและเพื่อนฝูง มีการละเล่น ดนตรี และงานเลี้ยง โดยประเพณีนี้สืบทอดมาอย่างยาวนานจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ หรือสื่อมวลชน ต่างก็มีบทบาทในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และถ่ายทอดความรู้ประเพณีนี้ให้สืบต่อไป
“สงกรานต์ส่งเสริมความร่วมมือในชุมชนให้เกิดความสามัคคีและการให้อภัย (การเล่นน้ำ) มักถูกมองว่าเป็นเวลาที่จะล้างความโชคร้ายออกไป อธิษฐานขอให้มีความเจริญรุ่งเรืองในปีที่จะมาถึง ให้ครอบครัวกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง และให้เกียรติบรรพบุรุษและผู้สูงอายุ” เว็บไซต์ขององค์การยูเนสโกระบุ
ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมี ‘วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ’ เพิ่มขึ้นเป็น 4 รายการได้แก่ โขน ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปีพ.ศ. 2561, นวดไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีพ.ศ. 2562, โนรา ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปีพ.ศ. 2564 และครั้งล่าสุดนี้คือ สงกรานต์
หลังจากการประกาศอย่างเป็นทางการ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีส่งเสริมวัฒนธรรม จากกระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมจัดงานเฉลิมฉลองถึงการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ในเย็นวันนี้ วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 18:00 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพวราราม โดยมีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานเปิดงาน
มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้คืออะไร? ทางยูเนสโกให้คำนิยามไว้ว่า มรดกทางวัฒนธรรมนั้นไม่ใช่แค่เพียงอนุสรณ์สถานหรือของสะสม แต่ยังรวมถึงประเพณีหรือการแสดงออกถึงการดำรงอยู่ของบางสิ่งที่สืบสอดมาจากบรรพบุรุษของเรา และส่งต่อไปยังลูกหลานของเรา
ด้วยเหตุนี้ประเพณีเช่น ศิลปะการแสดง การปฎิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานรื่นเริง ความรู้ และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล หรือแม้แต่ความรู้และทักษะงานฝีมือดั้งเดิม ก็สามารถเป็นมรดกทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน ทางยูเนสโกจึงเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
โดยมีหลักเกณฑ์คร่าว ๆ ดังนี้คือ เป็นประเพณีร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์ และเป็นการใช้ชีวิตในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ต้องเป็นสิ่งที่ยังมีการปฏิบัติร่วมสมัยกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงทั้งในชนบทและในเมือง ผู้คนต่างมีส่วนร่วมกับประเพณี หรือวัฒนธรรมนี้ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด
ต่อมาเป็น ความครอบคลุม เช่นเดียวกับข้อแรก ผู้คนที่ไม่ว่าจะมาจากหมู่บ้านใกล้เคียง หรือแม้จะมาจากอีกซีกโลก ต่างก็สามารถเข้ามามีบทบาทหรือร่วมกิจกรรมนี้ได้ เป็นวัฒนธรรมที่สามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าได้เป็นส่วนร่วมของชุมชนหรือประเพณีนั้นได้อย่างครอบคลุม
นอกจากนี้ทางไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ได้แนะนำเกณฑ์เพิ่มเติมว่าทำไมสงกรานต์ของประเทศไทยถึงได้รับการขึ้นทะเบียน โดยให้เหตุผลหลัก ๆ ไว้ 5 ประการคือ
- สงกรานต์เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นโดยชุมชนชาวพุทธที่หลากหลายและชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าใครก็สามารถมีส่วนร่วมในประเพณีได้
- การขึ้นทะเบียนจะเป็นคุณประโยชน์ต่อสงกรานต์ให้เป็นที่ประจักษ์และตระหนักรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
- ความมีชีวิตของสงกรานต์ โดยมีการอนุรักษ์ผ่านการปฏิบัติและสืบทอดภายกันภายในครอบครัว วัด โรงเรียน และสังคม อีกทั้งภาครัฐยังมีส่วนร่วมในการส่งเสริมวัฒนธรรมนี้ด้วยเช่นกัน
- มีการจัดทำข้อมูลมาอย่างยาวนาน โดยมีการสอบถาม สัมภาษณ์ เอกสาร และพูดคุยกับชุมชน ศิลปิน ผู้อาวุโส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำทางจิตวิญญาณ ครู อาจารย์ นักวิชาการ และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อมูลครบถ้วน ซึ่งทางคณะกรรมการผู้ประเมินการขึ้นทะเบียนได้กล่าวเสริมว่า เอกสารของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับรายการตัวแทยมรดกวัฒธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (อ้างอิงจากประชาชาติ)
- ทางไทยพีบีเอสกล่าวไว้ว่า สงกรานต์เป็นส่วนหนึ่งของบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งชาติมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ส่งเสริมกัน ทำให้ประเทศไทยมีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเป็นลำดับที่ 4
“จึงขอเชิญชวนพี่น้อง ประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ร่วมแสดงความยินดี และมีส่วนร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์อันทรงคุณค่าของไทย ให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป” นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://ich.unesco.org/en/RL/songkran-in-thailand-traditional-thai-new-year-festival-01719
https://ich.unesco.org/en/what-is-intangible-heritage-00003
https://www.thaipbs.or.th/news/content/334648
https://www.unesco.org/en/intangible-cultural-heritage/committee-2023
https://www.prachachat.net/spinoff/culture/news-1454188