พบฟอสซิลมนุษย์นอกทวีปแอฟริกาที่เก่าแก่ที่สุด

พบฟอสซิลมนุษย์นอกทวีปแอฟริกาที่เก่าแก่ที่สุด

พบฟอสซิลมนุษย์นอกทวีปแอฟริกาที่เก่าแก่ที่สุด

บางส่วนของฟอสซิลขากรรไกรบนที่ยังคงมีฟันติดอยู่ซึ่งถูกพบในอิสราเอลนั้น ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการอพยพเดินเท้าออกจากทวีปแอฟริกาอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ การค้นพบครั้งนี้ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าสายพันธุ์มนุษย์ของเรานั้นมีวิถีชีวิตที่ทับซ้อนกับสายพันธุ์มนุษย์ผู้เป็นญาติอย่าง มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล บนพื้นที่ลิแวนต์ (บริเวณเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ปัจจุบันคือพื้นที่ของประเทศจอร์แดน เลบานอน อิสราเอล ดินแดนปาเลสไตน์ และซีเรีย)

ก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากฟอสซิลชิ้นก่อนๆ ที่ถูกค้นพบชี้ว่าบรรพบรุษของเรา มนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ ปรากฏขึ้นบริเวณพื้นที่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกาเมื่อราวๆ 200,000 ปีก่อน แต่การอพยพครั้งใหญ่ออกจากบ้านเกิดนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นราว 50,000 – 60,000 ปีก่อน ในขณะที่หลักฐานจากฟอสซิลชี้ว่าการอพยพกลุ่มเล็กๆ ของมนุษย์โฮโมเซเปียนส์นั้นน่าจะย้อนกลับไปได้ราว 120,000 ปีที่ผ่านมา

จนเมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยที่สำรวจฟอสซิลจากถ้ำจีเบล อีร์ฮูด (Jebel Irhoud) ในประเทศโมร็อกโกค้นพบหลักฐานบางอย่างที่ก่อให้เกิดการถกเถียงครั้งใหม่เกี่ยวกับทฤษฎีการอพยพของบรรพบรุษมนุษย์ พวกเขาระบุว่าการปรากฏตัวขึ้นของมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์แท้จริงน่าจะย้อนไปไกลได้ถึง 350,000 ปีก่อนด้วยซ้ำ

ผลการค้นพบใหม่นี้ถูกเผยแพร่ลงยังวารสาร Science ชี้ว่ากลุ่มมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์น่าจะอพยพเข้าสู่ผืนทวีปยูเรเซียเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นั่นคือราว 180,000 ปีก่อน

ฟอสซิลถูกพบในถ้ำ Misliya ส่วนหนึ่งถ้ำโบราณบริเวณทิวเขา Carmel ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์

(พอล ซาโลเพก ออกเดินเท้าตามรอยบรรพบรุษของเราจากแอฟริกา มาดูกันว่าเขาพบอะไรบ้างระหว่างทาง)

“มันเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมากครับ บรรพบรุษของเราออกจากแอฟริกาเร็วกว่าที่เคยคิดไว้” Darren Curnoe ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำเนิดมนุษย์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ในนครซิดนีย์ ของออสเตรเลียกล่าว

“การค้นพบเมื่อปีที่ผ่านมาช่วยฉายภาพใหม่ๆ ของทฤษฎีการกำเนิดมนุษย์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากหลังหลายสิบปีที่ผ่านมาองค์ความรู้เหล่านี้หยุดนิ่งมานาน”

ชิ้นส่วนฟอสซิลของขากรรไกรบนชิ้นนี้ถูกค้นพบเมื่อปี 2002 ระหว่างการสำรวจทางที่พื้นที่โบราณคดี Misliya บริเวณทิวเขา Carmel ทางตอนเหนือของอิสราเอล สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่พักพิงของมนุษย์มาแล้วมากกว่าแสนปี

“มนุษย์เราชอบอาศัยอยู่ตามเพิงหิน เพื่อที่จะได้มองเห็นว่ามีอันตรายหรือเหยื่อคืบคลานมาใกล้หรือไม่ และพื้นที่บริเวณนั้นต้องแห้งด้วย เปรียบเสมือนระเบียงที่พวกเขาสามารถมองเห็นภูมิทัศน์ทั้งหมดได้” Rainer Grün ผู้อำนวยการจากสถาบันวิจัยวิวัฒนาการของมนุษย์จากมหาวิทยาลัย Griffith ในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลียกล่าว

 

อ่านเพิ่มเติม

นักสำรวจถ้ำค้นพบฟอสซิล ไขปริศนาญาติมนุษย์

Recommend