นกแสนรู้ : ไขปริศนาความฉลาดของนก

นกแสนรู้ : ไขปริศนาความฉลาดของนก

นกแสนรู้ : ไขปริศนาความฉลาดของนก

ก่อนหน้าศตวรรษนี้ คงไม่ใครนึกถึงคำว่า  “นกแสนรู้”  เพราะนักวิทยาศาสตร์คิดว่า นก (และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่) เป็นสัตว์ทึ่มๆไม่ต่างจากหุ่นยนต์  โดยทำได้เพียงตอบสนองด้วยสัญชาตญาณ นกถูกมองว่า “โง่เง่า” [เป็นที่มาของสำนวนภาษาอังกฤษว่า birdbrain]  ตั้งแต่ก่อนหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ ลุดวิก เอดิงเงอร์ จะแปลความหมายกายวิภาคระบบประสาทของนกผิดเมื่อราวปี 1900 เสียอีก เขาคิดว่านกไม่มีสมองชั้นนอก (neocortex) อันเป็นส่วนของสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้ในการคิด ซึ่งทำหน้าที่ด้านการรับรู้ขั้นสูงหลายอย่าง เช่น ความจำที่ใช้ทำงานต่างๆ การวางแผน และการแก้ปัญหา

แต่ทั้งๆที่มีสมมุติฐานผิดๆว่า นกไร้โครงสร้างและความสามารถที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา นักจิตวิทยาเปรียบเทียบก็ใช้นกศึกษาเรื่องการรู้คิดของสัตว์มาตลอดศตวรรษที่ยี่สิบ พวกเขาโปรดปรานนกพิราบที่สมองมีขนาดพอๆกับเมล็ดถั่วลิสงเป็นพิเศษ และนกคะแนรีกับนกฟินช์คอลายซึ่งมีสมองเล็กยิ่งกว่าเสียอีก นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า นกพิราบมีความจำที่น่าทึ่ง โดยสามารถแยกแยะใบหน้าและสีหน้าของมนุษย์ ตัวอักษร และแม้แต่ภาพจิตรกรรมของโมเนและปีกัสโซได้  นักวิจัยอื่นๆ แสดงให้เห็นความจำอันยอดเยี่ยมของนกนัตแครกเกอร์ปีกดำ นกเจย์ดง และนกชิกกาดี ตัวอย่างเช่น นกนัตแครกเกอร์เก็บและสะสมเมล็ดสนกว่า 30,000 เมล็ดทุกฤดูใบไม้ร่วง โดยกระจายเมล็ดสนไว้ในขุมสมบัติจิ๋วนับพันแห่งที่พวกมันจำเป็นต้องจดจำให้ได้ตลอดฤดูหนาว

นกแสนรู้
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ไก่ เช่น ไก่เหล่านี้ในฟาร์มของแมตต์ ซีเกล ในรัฐไวโอมิง มีการรับรู้ขั้นสูง พวกมันอาศัยอยู่ในสังคมที่มีลำดับชั้น นับจำนวนและคำนวณคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานได้ และน่าจะรับรู้อารมณ์ ตั้งแต่ความเบื่อหน่ายและความคับข้องใจไปจนถึงความสุข

ในทศวรรษ 1950 นักวิจัยเริ่มศึกษาว่า นกจับคอน เช่น นกคะแนรี นกกระจอก และนกฟินช์คอลาย เรียนรู้การร้องเพลงได้อย่างไร พวกเขาพบความเหมือนอย่างน่าทึ่งระหว่างเพลงของนกกับคำพูดของมนุษย์ จากนั้นก็มี “อเล็กซ์” นกแก้วใหญ่สีเทา ซึ่งนักจิตวิทยาเปรียบเทียบ ไอรีน เปปเปอร์เบิร์ก สอนให้เลียนเสียงเป็นภาษาอังกฤษ (เปปเปอร์เบิร์กเน้นย้ำว่า อเล็กซ์ไม่ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจริงๆ)

 


รวมสายพันธุ์นกอินทรีที่คุณอาจไม่เคยพบเห็นมาก่อน


 

เมื่อถึงเวลาที่มันตายในปี 2007 ขณะอายุ 31 ปี อเล็กซ์เชี่ยวชาญการเลียนเสียงภาษาอังกฤษสำหรับ เรียกสี วัตถุ ตัวเลข และรูปร่าง ประมาณ 100 เสียง มันออกเสียงคำว่า “สีเขียว” “สีเหลือง” “ผ้าขนสัตว์” “ไม้” “วอลนัต” และ “กล้วย” ได้อย่างชัดเจน และใช้เสียงเหล่านี้สื่อสารกับคน มันเข้าใจคำว่า “เหมือนกัน” และ “ต่างกัน” สามารถนับถึงแปดและเข้าใจแนวคิดนามธรรมของศูนย์ อเล็กซ์บอกให้เปปเปอร์เบิร์ก “ใจเย็นๆ” เมื่อเธออารมณ์เสีย และขอ “กลับไป” เมื่อมันคิดถึงบ้านในช่วงที่ป่วยจนต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ และมันยังบอกราตรีสวัสดิ์เธอก่อนนอนเสมอ เช่นเดียวกับที่มันบอกก่อนตายว่า “เธอทำตัวดีๆ เจอกันพรุ่งนี้ ฉันรักเธอ”

 

Recommend