เราจะ ‘ฝึก’ แมวให้เป็นเหมือนน้องหมาได้ไหม? เจ้าตัวร้ายขนปุยที่ดูเหมือนจะเอาแต่ใจและไม่ฟังใครจะสามารถ ‘เชื่อง’ เหมือนกับที่สุนัขทำได้หรือไม่?
อันที่จริงแล้วผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าเจ้าเหมียวนั้นสอนได้ง่ายพอ ๆ กับน้องหมา โดยเฉพาะในบางด้าน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ผู้หมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องแมว ๆ ได้ค้นพบว่าแมวนั้นรู้ตัวเองว่าเจ้าของกำลังคุยกับมัน ขณะที่งานวิจัยล่าสุดเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เผยให้เห็นว่า แมวเรียนรู้ที่จะเชื่อมคำศัพท์กับรูปภาพได้อย่างรวดเร็ว จนทีมวิจัยอ้างว่า แมวนั้นอาจเรียนคำศัพท์ได้เร็วกว่าทารกมนุษย์เลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้นแมวหลายตัวก็แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ว่าเจ้าเหมียวสามารถอ่านอารมณ์มนุษย์ได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงเสนอว่าจริง ๆ แล้ว แมวอาจสามารถเป็นสัตว์บำบัดให้กับมนุษย์ได้หากพวกมันสามารถฝึกให้สร้างประโยชน์เช่นนั้นได้
“เมื่อเทียบกับสุนัขแล้ว แมวมีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันในด้านความสัมพันธ์กับมนุษย์” ลอเรน ฟินคา (Lauren Finka) นักวิจัยฝ่ายพฤติกรรมและสวัสดิภาพสัตว์ของมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมเทรนท์ กล่าว
“แมวไม่เคยถูกผสมพันธ์แบบคัดเลือกเพื่อเพิ่มความสามารถในการร่วมมือและสื่อสารกับเรา หรือทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ต้อน ล่า หรือเฝ้ายาม”
อาจเป็นเพราะว่ามนุษย์ในสมัยอดีตเห็นว่าแมวนั้นเป็นสัตว์ดูจะอิสระ พวกเขาจึงไม่ได้คัดเลือกลักษณะพันธุ์ที่ ‘เชื่อง’ กับมนุษย์เหมือนกับสุนัข นั่นทำให้แมวในปัจจุบันไม่ได้มีนิสัยนี้เป็นทั่วไป อย่างไรก็ตามแมวยังคงอยู่คู่กับมนุษย์มานานนับหมื่นปี
ดังนั้นนัก วิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จึงลงความเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะทำให้แมว ‘เดินอย่างสง่างาม’ เมื่อจูงพวกมันในการประกวด หรือสั่งให้นั่งนิ่ง ๆ ไม่ไปไหนเพื่อรอเจ้าของอยู่ตรงนี้ แต่หากเป็นเรื่องการฝึกอย่างง่าย ๆ เช่นการขับถ่าย หรือคำสั่งนั่ง กินอาหาร ก็อาจสามารถสร้างประโยชน์ขึ้นได้อีกมาก
ไม่ว่าจะเป็นการรู้สึกสบายใจที่อยู่ในกรงแมว การคุ้นเคยกับการเดินทางด้วยรถยนต์ รวมถึงการอดทนต่อการอาบน้ำ การตัดเล็บ การตรวจสุขภาพและการรักษาขั้นพื้นฐาน การฝึกที่ดีเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตเจ้าของกับแมวดีขึ้นอย่างชัดเจนแน่นอน
การฝึกที่ดีเริ่มต้นที่ก้าวแรก
สิ่งแรกสุดที่นักวิทยาศาสตร์แนะนำคือ ‘หากเป็นไปได้’ เจ้าของอาจจำเป็นต้องสร้างความผูกพันกับแมวตั้งแต่อายุ 2 สัปดาห์แรกด้วยการสัมผัสอย่างอ่อนโยนและอบอุ่น เพื่อให้แมวเรียนรู้ที่จะเป็นมิตรมากกว่าเป็นศัตรูกับเรา
เนื่องจากมีงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าแมวอายุน้อยจะใส่ใจสัญญาณทางสังคมของเรามากกว่า ซึ่งหมายความว่าพวกมันอาจยินยอมต่อการฝึกมากกว่าเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เจ้าของควรเล่นลูกแมวโดยใช้ของเล่นแมว พร้อมกับหลีกเลี่ยงการลงโทษเจ้าแมวผู้ใสซื่อตัวนี้
“การลงโทษเช่น การตะโกน การสัมผัสอย่างรุนแรง หรือการใช้สเปรย์น้ำ อาจทำให้เกิดความเครียดและส่งผลกระทบต่อคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและแมว (การใช้สเปรย์น้ำอาจทำให้แมวกลัวน้ำได้ และทำให้แมวเกลียดการอาบน้ำยิ่งกว่าเดิม)” ฟินคา กล่าว
แต่หากคุณรับอุปการะแมวที่มีอายุแล้วเข้ามาในบ้านและต้องการฝึกก็ไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจำคือ ‘ความอดทน’ และเคล็ดลับก็คือเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับเป็นงานซับซ้อนขึ้น โดยทำให้ในช่วงเวลาสั้น ๆ หนึ่งถึงสองครั้งต่อวัน แน่นอนว่าจะต้องยากกว่าการผูกสัมพันธ์ตั้งแต่แรกเกิด
ต่อมาเราต้องแน่ใจว่าแมวอยู่ในที่ที่มันรู้สึกสบายใจ ขณะที่เราทำการฝึกเจ้าเหมียว และสร้างทางเลือกให้แมวที่จะออกไปได้หรือยุติการฝึกอัตโนมัติเมื่อแมวต้องการ ไม่มีการฝีนใจแมวและพยายามให้แมวได้พักเมื่อพวกมันต้องการ
“แมวมักไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการสนใจเรา หรือทำตามที่เราสั่งเท่ากับสุนัข โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แมวไม่รู้สึกสบายใจ” ฟินคา กล่าวและว่า “ปัจจัยเหล่านี้อาจอธิบายอัตราการเลิกฝึกที่สูงในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการฝึกแมวให้ตอบสนองต่อสัญญาณทางสังคมของมนุษย์”
ขั้นตอนง่าย ๆ 5 ประการ
ฟินคาได้ยกตัวอย่างวิธีการฝึกแมวให้สบายใจเมื่ออยู่ในกรง โดยเริ่มต้นจากผ้าห่ม เนื่องจากผ้าห่มนั้นมักอยู่กับแมวตั้งแต่แรกเกิด (เหมือนกับผ้าเน่า ตุ๊กตาเน่าในมนุษย์) ซึ่งเป็นวัตถุให้แมวสบายใจ การมีผ้านุ่ม ๆ อยู่ด้วยจะช่วยลดความเครียดได้
จากนั้นเสริมด้วยการลูบ ขนม หรือการชมเชยเมื่อแมวอยู่บนผ้าผืนดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่าแมวตัวนั้นชอบอะไรมากที่สุด เช่น หากแมวชอบขนม การใช้ขนมในระดับจมูกจะช่วยกระตุ้นให้แมวนั่ง และการให้ขนมระดับพื้นจะทำให้แมวเรียนรู้ที่จะหมอบลบ
“เมื่อแมวของคุณชำนาญขั้นตอนที่ 1 แล้ว ให้วางผ้าห่มไว้ที่ด้านล่างของกระเป๋า(หรือกรง)โดยเปิดฝาออก(หรือเปิดกรงไว้) ทำซ้ำขั้นตอนและให้รางวัลแบบเดียวกัน” ฟินคา กล่าวถึงขั้นตอนที่ 2
ต่อมาต้องระลึกไว้เสมอว่าให้ ‘ค่อย ๆ ทำ’ เมื่อเจ้าเหมียวพักผ่อนอยู่บนผ้าห่มในกรงหรือกระเป๋าอย่างมีความสุขแล้ว ให้วางฝาไว้ด้านบนโดยไม่มีการล็อค (3.) จากนั้นทำซ้ำแล้วให้รางวัลเช่นเดิม ต่อมาเมื่อแมวทำข้อ 3 ได้อย่างสบายใจแล้วให้เริ่มการล็อคทีละน้อยแล้วเพิ่มขึ้นพร้อมกับให้ขนมแมวทุกครั้ง (4.)
“ค่อย ๆ เพิ่มจังหวะของเรื่อย ๆ จนกระทั่วปิดประตูได้สนิท (ตอนแรกปิดไม่กี่วินาที) ในขณะที่แมวยังรู้สึกสบายตัวอยู่ ป้อนขนมแมวผ่านประตูที่ปิดอยู่” ฟินคา กล่าว
ขั้นตอนสุดท้าย (5.) เมื่อพยายามให้แมวอยู่กรงได้นานขึ้นแล้ว ก็ค่อย ๆ เพิ่มเวลาการให้ขนมมากขึ้นในแต่ละครั้งโดยผ่านประตูของกรง เช่นในครั้งแรก ๆ ให้ทันทีล็อคประตู จากนั้นค่อย ๆ เว้นระยะห่างในการให้ขนมแต่ละครั้งให้นานขึ้น
อีกครั้ง สิ่งที่ต้องจำคือการฝึกแต่ละครั้งไม่ควรใช้เวลาเกิน 2-3 นาทีเพื่อความสบายใจของแมว และแมวบางตัวอาจชอบฝึกเพียงวันละครั้ง ดังนั้นมันจะต้องใช้เวลาฝึกหลายครั้งและหลายวันหรืออาจถึงหลายสัปดาห์กว่าจะเสร็จสิ้นแต่ละขั้นตอนอย่างแน่นอน
แต่หากคุณสำเร็จ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าคุณจะแมวที่ขี้อ้อน น่ารัก และเชื่อฟังง่ายอยู่รอบ ๆ ตัวคุณ
สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ : National Geographic
ที่มา
https://www.popsci.com/how-to-train-your-cat-using-science/
https://www.sciencealert.com/you-should-train-your-cat-experts-say-heres-how
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2022/dec/16/can-i-train-my-cat-like-a-dog-we-ask-an-expert
https://www.animalbehaviorcollege.com/blog/pet-training/can-cats-be-trained/