เมื่อศิลปะร่วมสมัยสลับร้อยเรียงไปกับโบราณวัตถุ สร้างประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เหมือนใคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร หรือ National Museum Bangkok (Phranakorn) ซึ่งมีคอลเลกชั่นโบราณวัตถุที่ร้อยเรียงกันให้เห็นจิตวิญญาณของแต่ละยุคสมัย เมื่อเทศกาลศิลปะร่วมสมัยมาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ การผสมผสานความแตกต่าง แต่กลมกลืน ก็สร้างประสบการณ์การชมงานศิลปะที่พิเศษขึ้นมา
ภายในอาคารศิวโมกขพิมาน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร หรือวังหน้า เป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณของกรมศิลปากร แต่ช่วงนี้พื้นที่แห่งนี้ได้มีส่วนผสมของเทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2024 ผสานเข้าไป หากได้ไปชม ความคิดที่เดินทางไปมาระหว่างงานศิลปะสมัยใหม่และโบราณวัตถุที่สลับวาง ทับซ้อนกัน อย่างศิลปินที่ได้รับเชิญมาจัดแสดงผลงานที่นี่เลือกจัดวางได้อย่างแนบเนียนไปกับศิลปะวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชวนไปผู้เข้าชมเชื่อมร้อยเรื่องราวของแต่ละยุคสมัยเข้าหากันด้วยจินตนาการที่เกิดจากประสบการณ์ของตัวเอง หากคุณเดินชมผลงานศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผารูปวัว แล้วถัดไปอีกหน่อยก็อาจเจอกับโมเดลของ ‘หมูเด้ง‘ ซึ่งเป็นรูปทรงของสัตว์เหมือนกัน ด้วยเหตุแห่งการก่อเกิดงานศิลป์ที่คล้ายกัน แต่มาจากคนละยุค คนละบริบทช่วงเวลาโดยสิ้นเชิง
“สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนบทสนทนาของความคิดที่ต่างยุคสมัย และเป็นสิ่งที่ภัณฑารักษ์ต้องการจะชวนให้ทุกคนตั้งคำถาม กับวัตถุจัดแสดงที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ว่าชิ้นไหนเป็นของจริง และชิ้นไหนเป็นของทำใหม่ และอีกหนึ่งคำถามก็คือบทบาทของพิพิธภัณฑ์กับแกลเลอรี่ ว่าทั้งสองสถานที่นั้นมีหน้าที่ทำอะไร พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่สำหรับเก็บสะสมงานในประวัติศาสตร์อย่างเดียว หรือสามารถที่จะจัดแสดงผลงานที่ทำขึ้นใหม่ เฉกเช่นแกลเลอรี่ได้หรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คืองานในประวัติศาสตร์นั้นครั้งหนึ่งก็เคยเป็นผลงานที่ทำขึ้นใหม่ในยุคสมัยนั้นนั้น จึงกลายเป็นการรวบรวมคำถามที่ชวนผู้ชมให้ได้มาตื่นเต้นกับการค้นพบสิ่งใหม่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติแห่งนี้”
Parvati โดย Ravinder Reddy
(คำอธิบายผลงานโดย Bangkok Art Biennale)
Bangaruamma ยืนอยู่อย่างมั่นคง สะโพกกว้างแข็งแรง น่องและข้อเท้าเรียว เท้าบอบบางวางตรงอยู่บนพื้นโลก เธอสุขสบายดีในโลกของเธอ ผิวสีทองเปล่งปลั่ง ทรวงอกอวบอิ่ม หน้าท้องนูนจากการคลอดบุตร เอวและบั้นท้ายหย่อนคล้อย แผ่นหลังและไหล่ที่มั่นคงเข้มแข็งแสดงให้เห็นการใช้งานหนักเกินไป การใส่ใจดูแลและการฟื้นคืนสู่สภาพเดิม ใบหน้าอ่อนโยนบนลำคอสั้น มุ่นผมที่ตกแต่งอย่างประณีตมีเครื่องประดับพร้อมเผชิญโลก แขนทั้งสองข้างยกขึ้นเล็กน้อยไม่ชัดเจนว่ากำลังจะทำอะไร เธอถือพวงมาลัยในจินตนาการที่จะมอบให้เรา ผ้าผืนนั้นเตรียมจะคลุมหน้าหรือเชือกที่ถักทอเปลเพื่อไกวลูกน้อยกันแน่
Woman Holding Hair สะท้อนลักษณะรูปร่างคล้าย ๆ กัน เส้นผมที่ยืดยาวออกมาของเธอเป็นดุจของขวัญที่จะมอบให้เรา เป็นภัยร้ายคุกคามเหมือนงูพิษหรือว่าเป็นเกราะป้องกันตัวเองกันแน่ Woman Tying Her Hair เป็นหญิงสาวขี้อายผู้ถูกกาลเวลาทำให้ไร้รูปแบบแต่ก็ยืนอยู่อย่างมั่นคงคล้าย ๆ กัน Parvati และ Head/ Devi งานขนาดใหญ่มากมีใบหน้าสีทองและน้ำเงินเปล่งปลั่ง ทำผมแบบมากประสบการณ์ เผชิญหน้ากับเราด้วยความมั่นใจที่เห็นได้จากนัยน์ตาเบิ่งกว้าง มีความตระหนักรู้ตนเอง พร้อมเผชิญโลกด้วยความสงบ ความอยากรู้อยากเห็นและความกล้า
ผู้หญิงเหล่านี้มิได้ถูกมองเป็นวัตถุและถูกบ่งเพศผ่านสายตาตามขนบปิตาธิปไตยแต่เป็นประชากรผู้มีหน้าที่ ถูกมองด้วยความเข้าใจและความนับถือ ขอเรียกว่าพวกเขาเป็นผู้รับประสบการณ์ชีวิตที่อ่อนโยน มีสัญชาตญาณ ขี้เล่น ใจกว้างและคงตัวไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนความเป็นสตรีหรือศักติ (พลังของเพศแม่) ภายในตัวเราทุกคน
Sisters (Flame and Foam) by โดย Chiara Camoni
(คำอธิบายผลงานโดย Bangkok Art Biennale)
In mythological imagery ทางเทวตำนาน ความเป็นพี่สาวน้องสาวมักจะแทนด้วยสัญลักษณ์สายสะดือเส้นยาว เชื่อมกับพระแม่ธรณี แสดงความเป็นเอกภาพและพิธีกรรมที่ประกอบร่วมกัน งาน Sisters ของเคียร่า คาโมนีทำให้แนวความคิดนี้เป็นรูปธรรมขึ้นมาด้วยรูปปั้นผู้หญิงซึ่งมีทั้งมนุษย์ สัตว์และกึ่งเทพ ทำให้นึกถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับธรรมชาติและมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ รูปปั้นเหล่านี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งผู้ใหญ่และเด็กส่งเสริมให้เกิดสายสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างสิ่งมีชีวิตกับโลกธรรมชาติ แสดงให้เห็นวัฏจักรของการมีอยู่ ยอมรับทั้งชีวิตและความตาย ความดีงามและความชั่วร้ายโดยผ่านวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ การทำรูปปั้นเหล่านี้ขึ้นมาเป็นพิธีกรรมสร้างการรับรู้ซึ่งเชื่อมโยงหัตถกรรมกับต้นกำเนิดของโลก
ที่บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ 2024 พี่น้องฝาแฝดเหล่านี้จะหันหน้าเข้าหากันเกิดเป็นทางเชื่อมหรือทางเดิน สัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงและการเปลี่ยนผ่าน เคียร่า คาโมนีทำงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์พืชผัก วิดีทัศน์และเครื่องเคลือบโดยมักร่วมงานกับเพื่อน ๆ และครอบครัว เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งกรานารา (MAGra) และกลุ่มวลาดิวอสตอค นิทรรศการเดี่ยวในช่วงที่ผ่านมาได้แก่ Chiamare a raduno. Sorelle. Falene e fiammelle. Ossa di leonesse, pietre e serpentesse (ปิเรลลี ฮังกาบิค็อคคา, มิลาน, พ.ศ. 2567) Whispers, world above, world below (อะเทลออฟอะทับ, รอตเทอร์ดาม, พ.ศ. 2566) HIC SUNT DRACONES โดยอเตอลิเยร์เดลเลอรอเร่ (หอศิลป์สมัยใหม่และร่วมสมัย GAM, โตรีโน, พ.ศ. 2565) LA DISTRUZIONE BELLA (หอศิลป์สปาซิโออา, พิสโตยา, พ.ศ. 2565) La Meraviglia (ศูนย์ปฏิบัติการศิลปะร่วมสมัยแห่งยุโรป CEAAC, สทราซบูร์, พ.ศ. 2564) Deux Soeurs (พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งบอร์โด CAPC, บอร์โด, พ.ศ. 2564)
สีทันดรสันดาป (Fish, Fire, Fallout) โดย นักรบ มูลมานัส
(คำอธิบายผลงานโดย Bangkok Art Biennale)
นักรบ มูลมานัส สร้างงานศิลปะขึ้นจากชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์และวรรณคดีที่พัวพันไปกับเรื่องเล่าต่างๆ และประวัติศาสตร์โลก ศิลปินใช้วิธีการตัดปะ (Collage) ในการสำรวจและสร้างภาพความทรงจำขึ้นมาใหม่ ผลงานเหล่านี้เสมือนเป็นเรื่องเล่าทางเลือกที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมได้ใคร่ครวญถึงเรื่องราวในอดีตอีกครั้ง
ใน BAB 2024 นอกจากผลงานที่สร้างสรรค์ร่วมกับจิตติ เกษมกิจวัฒนาแล้ว นักรบยังนำเสนอผลงานอีก 2 ชิ้น ได้แก่ สีทันดรสันดาป (Fish, fire, fallout) จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่ผสานประวัติศาตร์ของพิพิธภัณฑ์ เข้ากับจุดสิ้นสุดของโลกตามคติไตรภูมิ กับทั้งวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมในโลกมนุษยสมัย (Anthropocene) เข้าด้วยกันผ่านประติมากรรมปลา โบราณวัตถุ และสื่อผสม ในขณะที่ผลงาน คางหมู,โลกา, ราหู (Là, in the trapeziums) จัดแสดงที่วิหารทิศเหนือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้รับแรงบันดาลใจจากจารึก รูปปั้น และภาพวาดสมัยรัชกาลที่ 3 ในวัดโพธิ์ที่ว่าด้วยชาวต่างชาติและดินแดนที่ชาวสยามรู้จักเมื่อศตวรรษที่แล้ว นักรบนำเสนอภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงร้องที่ร้อยเรียงขึ้นจากอุปรากรเรื่องสำคัญของโลก อันสะท้อนมุมมองที่ชาวตะวันตกนึกคิดเกี่ยวกับโลกตะวันออก
Our Place in Their World โดย นักรบ มูลมานัส
(คำอธิบายผลงานโดย Bangkok Art Biennale)
ถักโลกทอแผ่นดิน นำเสนอห้วงขณะเมื่อชนชั้นนำและสามัญชนชาวสยามข้ามสมุทรจากดินแดนตะวันออกไกลไปยังโลกตะวันตก ในช่วงการก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ระหว่างการกรุยทางสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงอำนาจจักรวรรดินิยมและความสำคัญยิ่งยวดของการต่างประเทศ พระองค์ทรงปรารถนาให้นานาอารยประเทศยอมรับสยามในฐานะประเทศเอกราช นำไปสู่การเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2440 ซึ่งถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของสยามในเวทีโลก ผลงานนำเสนอประวัติศาสตร์กระแสหลัก ผนวกกับประวัติศาสตร์บอกเล่าของเหล่าสามัญชน อาทิ ก.ศ.ร.กุหลาบ ผู้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์สื่อมวลชนสยาม นายทองคำ ผู้ออกเดินทางโดยลำพังเมื่ออายุ 16 ปี สู่ทวีปยุโรปและอเมริกาและใช้ชีวิตในต่างประเทศ 25 ปี และนายบุศย์มหินทร์ (บุศย์ เพ็ญกุล) ผู้นำคณะละครไทยคณะแรกที่เดินทางไปแสดงต่างประเทศ การแสดงของเขาใน พ.ศ. 2443 ได้ถูกบันทึก และปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำของโลกโดย UNESCO
ถักโลกทอแผ่นดิน ร่างฉากทัศน์ประวัติศาสตร์ในการข้ามสมุทรของชาวสยามโดยการปะติดปะต่อเศษเสี้ยวแห่งความหลงลืมเข้ากับเรื่องเล่าหลักของชาติ นำเสนอการอยู่ร่วมกันของชั้นเรื่องเล่าอันหลากหลายในชั่วขณะเดียวกัน และถักทอร้อยเรียงกันในนานาวิถีทาง
ถักโลกทอแผ่นดิน คอมมิชชั่นโดยมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เพื่อร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ วิญญาณข้ามมหาสมุทร ส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะนานาชาติเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 พ.ศ. 2567 โครงการนี้สำเร็จได้ด้วยการสนับสนุนจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และโครงการวิจัยภูมิทัศน์ของตำนาน: การขับเคลื่อนระบบนิเวศวัฒนธรรมในพื้นที่แอ่งเชียงแสน โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
สำหรับแนวคิดหลักในปีนี้ “รักษา กายา (Nurture Gaia)” จะเป็นการมุ่งเน้นที่จะถ่ายทอดความหมายที่แตกต่างของธรรมชาติ การเลี้ยงดู ความเป็นผู้หญิง และการครุ่นคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยา การเมือง หรืออำนาจเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยจากทั่วโลกด้วยสื่อศิลปะที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัจจุบัน กระตุ้นให้ฉุกคิด รวมทั้งมองหาวิธีใหม่ในการจัดการกับประเด็นปัญหาของอนาคตในด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม
ชมงานศิลปะในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 Bangkok Art Biennale 2024 (BAB 2024) ได้ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568
ติดตามข่าวสาร และตารางกิจกรรมของ เพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : BkkArtBiennale
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
เรื่อง: Wuthikorn Sut, Natthawat Klaysuban