ทะเลไทยไม่ได้มีแต่ปลากะตัก จับตาร่างแก้ไขกฎหมายประมง ความคุ้มค่าที่แลกมากับระบบนิเวศในระยะยาว?

ทะเลไทยไม่ได้มีแต่ปลากะตัก จับตาร่างแก้ไขกฎหมายประมง ความคุ้มค่าที่แลกมากับระบบนิเวศในระยะยาว?

จับตาร่างกฎหมายประมงใหม่ หลังที่ประชุมวุฒิสภารับหลักการวาระแรกท่ามกลางข้อกังวล ม.69 เปิดช่องใช้อวนมุ้งแสงไฟล่อ สู่ประมงทำลายล้าง เสี่ยงระบบนิเวศทางทะเลเสื่อมโทรม นักวิชาการเสนอเปิดข้อมูลสู่สาธารณะ พร้อมออกกติกาให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่

แม้จะถูกคัดค้านและเสนอให้ทบทวนจากกลุ่มสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและเครือข่ายซึ่งเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว แต่เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานในที่ประชุม  ก็มีมติ165 ต่อ 11  ผ่านวาระแรก ร่างแก้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงปี 2558

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวนี้เป็นข้อถกเถียงกันมาสักระยะ โดยผู้เสนอคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีจุดมุ่งหมายในการจัดระเบียบการประมงเพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เน้นเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU – Illegal, Unreported, and Unregulated fishing) ขณะที่ผู้คัดค้านเน้นไปที่มาตรา 69 ซึ่งเดิมมีข้อกำหนด ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนขนาดเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน แต่ร่างกฎหมายใหม่แก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนขนาดเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ที่ระยะห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล

“ยืนยันว่า การอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ขนาดเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร(ตามุ้ง) ในเวลากลางคืนประกอบ แสงไฟล่อ จะจับเอาสัตว์น้ำวัยอ่อนในสัดส่วนสูง ทำให้ระบบนิเวศสูญเสีย เป็นอุตสาหกรรมประมงที่มุ่งตักตวงผลผลิต ตัดวงจรชีวิตห่วงโซ่อาหาร ตัดตอนการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนก่อนวัยอันควร และส่งผลเสียในระยะยาว และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้แหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำ และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่เหมาะสมตาม” ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย อธิบายย้ำถึงเจตนารมณ์ของการเคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหวของกลุ่มสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและเครือข่ายที่คัดค้านร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยการแสดงสัญลักษณ์สื่อสารไปยังที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 (ภาพจาก Environmental Justice Foundation (EJF))

กิจกรรม “ร่วมกันตามหาปลาที่กำลังจะหายไป” ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ของเครือข่ายผู้คัดค้าน เมื่อเย็นวันที่ 13 มกราคม 2568 (ภาพจาก ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย)

จับตากฎหมายเพื่อประมงไทย

ถ้ามองวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 มีจุดประสงค์จัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและรองรับการจัดระเบียบการประมงทะเลในน่านน้ำอื่นภายใต้กติการะหว่างประเทศ ต้องการจัดการกับการประมงและการควบคุมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย ซึ่งเน้นเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย

ดร.วรัณทัต ดุลยพฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ National Geographic ฉบับภาษาไทยว่า ถ้าไปพิจารณาเฉพาะในร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังพิจารณาในชั้นวุฒิสภานั้น พบว่าไม่ได้มีแค่มาตรา 69  ที่สร้างความกังวลให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน แต่ภาพรวมของกฎหมายทั้งหมดมีน้ำหนักค่อนข้างเอนเอียงไปกับกลุ่มประมงพาณิชย์ และไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานประมงไทยดีขึ้น อาทิ

  • การยกเลิกมาตรการคุ้มครองแรงงานในภาคการแปรรูปอาหารทะเล (มาตรา 10/1, 11, 11/1) ซึ่งเนื้อหาได้ยกเลิกบทบัญญัติสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคการแปรรูปอาหารทะเลทั้งหมดออกจากพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่สร้างความเสี่ยงต่อการคุ้มครองแรงงาน  เปิดช่องให้ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงเกณฑ์ด้านความปลอดภัย แรงงาน และจริยธรรมที่เข้มงวดได้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการหลบเลี่ยงกฎหมายและการเอารัดเอาเปรียบในอุตสาหกรรมนี้ได้
  • การยกเลิกมาตรา 11/1 กำหนดบทลงโทษสำหรับการละเมิดการคุ้มครองแรงงานเด็ก โดยเฉพาะการละเมิดข้อกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานและการเรียกเก็บเงินประกันที่ผิดกฎหมาย โดยสามารถสั่งระงับหรือปิดกิจการในกรณีที่กระทำผิดซ้ำ
  • มาตรา 85/1 ซึ่งอนุญาตการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมงได้อีกครั้ง ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับชาวประมง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้สั่งห้ามการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจทำให้สัตว์น้ำที่ถูกจับผิดกฎหมายถูกผสมกับสัตว์น้ำจากแหล่งที่ถูกกฎหมาย

“เรือขนาดใหญ่จะอยู่นอกฝั่งที่ไกลออกไปได้นานขึ้น ต้นทุนถูกลง โดยมีเรือเล็กเป็นผู้ขนถ่ายสินค้าและการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล ในแง่หนึ่งให้การตรวจสอบย้อนกลับทำได้ยากขึ้น เพิ่มความยากในการตรวจสอบประมงที่ผิดกฎหมาย รวมถึงลดประสิทธิภาพในการตรวจสอบสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของลูกเรือ”

ส่วนมาตรา 69 ซึ่งเป็นข้อกังวลที่ถูกเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ดร.วรัณทัต มองว่า การใช้เครื่องมือขนาดเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร โดยอนุญาตให้ใช้เครื่องมือดังกล่าวในเขตนอก 12 ไมล์ทะเลและในเวลากลางคืน สุ่มเสี่ยงต่อการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนในสัดส่วนสูง เพราะเมื่อมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้แสงไฟล่อสัตว์น้ำให้เข้ามารวมกันก่อนใช้อวนจับ ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดและหลายช่วงวัย

“การลดขนาดอวนลงคือความกังวลต่อระบบนิเวศทางทะเลในภาพรวม มีการมองกันว่าเอื้อต่อการจับปลากระตัก ซึ่งกรมประมงได้ชี้แจงว่า ในปีที่ผ่านมา ปลากะตักในน่านน้ำไทยมีค่า MSY (Maximum Sustainable Yield) หรือ “ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน” เท่ากับ 221,459 ตัน จัดสรรให้สามารถจับได้ 217,030 ตัน (ร้อยละ 98 ของค่า MSY) แต่จากข้อมูลปริมาณการจับปลากะตักในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2567 มีปริมาณการจับเพียง 90,000 ตัน และมีการลงแรงประมงไม่ถึงร้อยละ 25 ของการลงแรงที่ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ซึ่งผมมองว่าตัวเลขนี้ไม่น่าสะท้อนกับความเป็นจริง และค่า MSY ของปลาชนิดหนึ่ง ไม่สามารถนำมาใช้กับการจับปลาอีกหลายชนิดได้”

“มองว่ากติกาที่ออกมาจะเกิดปัญหาตามมาในหลายมิติ เช่น ลดทอนโอกาสในตลาดเศรษฐกิจ โดยการคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่ได้มองมูลค่าในระยะยาว โดยเฉพาะการเปิดไฟล่อจับ ทำให้ในอนาคตจะจับสัตว์น้ำได้น้อยลง เกิดกรณีวิกฤติปลาทูไทยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ที่ไทยจะต้องนำเข้าร้อยละ 90 จึงเห็นว่าการแก้ไขปัญหาครั้งนี้เป็นการแก้ไขให้กับเฉพาะกลุ่มด้านเศรษฐกิจในกลุ่มระยะสั้น แต่ในระยะยาวกลุ่มภาคเศรษฐกิจประมง ทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์”

วิถีชีวิตของชาวประมง กับการใช้อวนเป็นอุปกรณ์หลักในการจับปลา (ภาพโดยศุภชัย วีรยุทธานนท์)

ภาพถ่ายสัตว์น้ำที่ถูกจับในตอนกลางคืน โดยมีแสงไฟส่องสว่างเป็นตัวล่อ (ภาพโดยศุภชัย วีรยุทธานนท์)

ชาวประมงนิยมใช้เครื่องมือประมงประกอบแสงไฟในเวลากลางคืน เพื่อล่อสัตว์น้ำให้เข้าหาแสงไฟ (ภาพโดยศุภชัย วีรยุทธานนท์)

ทะเลไทยไม่ได้มีแต่ปลากะตัก

ถึงตรงนี้ การแก้ไขอนุญาตอวนล้อมปั่นไฟปลากระตักที่มีตาอวนขนาดเล็กกว่า 2.5  เซนติเมตร ในเวลากลางคืนนั้น น่าจะเป็นข้อกังวลมากที่สุดของชาวประมงพื้นบ้านไทย เพราะนี่คือการส่งเสริมการทำประมงแบบทำลายล้าง

ไม่มีใครเถียงว่า “ปลากระตัก” คือชนิดปลาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แต่เมื่อท้องทะเลไทยเต็มไปด้วยสารพัดสัตว์นานาชนิด กติกาแบบเดียวกันนี้สมควรหรือไม่ยังเป็นคำถาม

ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ว่า การกำหนดพื้นที่ 12 ไมล์ทะเลแบบเดียวกันทั่วประเทศ คืออีกคำถามสำคัญ เพราะบริบทการทำประมงในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างในเขตพื้นที่ จ.สงขลา ในช่วงปี 2555 – 2559 มีการศึกษาองค์ประกอบของปลาวัยอ่อน (Fish larvae) ด้วยการลากด้วยถุงแพลงก์ตอนขนาดตาอวน 500 ไมครอน (ศึกษาปลาวัยอ่อน) และ 300 ไมครอน (ศึกษาสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดอื่นๆ) บริเวณทะเลตอนเหนือของจังหวัดสงขลา ที่ระยะห่างจากฝั่ง 4 กิโลเมตร 12 กิโลเมตร และ 35 กิโลเมตร จำนวนรวม 8 สถานี

ผลวิจัยพบว่า องค์ประกอบของปลาวัยอ่อนในน้ำทะเลมีความหลากหลายมาก ลูกปลากะตักเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทะเลหน้าจังหวัดสงขลา มีปลาวัยอ่อนกระจายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่ชายฝั่งไปจนถึง 35 กิโลเมตร ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะใกล้ชายฝั่ง ตามที่มักมีการอ้างว่า สัตว์น้ำวัยอ่อนอาศัยอยู่เฉพาะบริเวณชายฝั่ง ในแต่ละเดือนมีความชุกชุมของปลาวัยอ่อน และสัดส่วนองค์ประกอบของปลาวัยอ่อนแต่ละชนิดแตกต่างกันไป

“ร่างกฎหมายนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา และถ้าผ่านจริงก็ต้องจับตาว่าจะมีกฎหมายลูกเพื่อควบคุมกติกาการประมงเหล่านี้หรือไม่ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ชาวประมงพื้นบ้านเท่านั้น แต่สุดท้ายจะกระทบต่อไปยังถึงคนไทย ที่ทรัพยากรทะเลจะลดน้อยลง และการออกกฎหมายใหม่เพื่อต้องการแก้ไขเรื่อง IUU นั้นเปล่าประโยชน์ เพราะได้แค่การขึ้นทะเบียน แต่ไม่ยุติการทำประมงแบบทำลายล้าง ทั้งยังถูกมองว่าให้ประโยชน์เฉพาะบางกลุ่ม” ดร.ศักดิ์อนันต์ อธิบาย

อนาคตของชาวประมงไทยจะเป็นอย่างไรคือเรื่องที่น่าจับตา โดยมีกฎหมายประมงฉบับใหม่เป็นใบเบิกทางและการวางกติกาที่สำคัญ

รายงานข่าวในที่ประชุมวุฒิสภา ระบุว่า ในข้อกังวลของกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ออกมาเรียกร้อง กรมประมงยืนยันจะพิจารณาวิธีการเพื่อออกกฎหมายลูกมารองรับหลังกฎหมายฉบับนี้ผ่าน เช่นการติดตั้ง VMS ในเรือทุกลำ และส่งสัญญาณทุก 15 นาที เพื่อติดตามการทำประมง และต้องกำหนดโควตาการจับที่จะไม่ให้เป็นวัน ไม่ต้องมีการนำเข้าเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไม่กระทบ และเรือที่ใช้ต้องไม่ใช่เป็นการต่อเรือใหม่ต้องให้เรือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ในการถกเถียงนั้น ข้อมูลทางการทั้งหมดล้วนอยู่ที่ภาครัฐ ซึ่งกรมประมงควรเปิดเผยข้อมูลวิชาการที่สำคัญ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากมุมมองวิชาการอีกหลายมิติ ตั้งแต่การวิเคราะห์ผลได้ผลเสีย ระยะสั้น กลาง และ ยาว เป็นข้อมูลประกอบที่สำคัญในการตัดสินใจ อาทิ การมีเวทีสัมมนาหรือการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ประชาชนร่วมตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย

อนาคตทะเลไทยจากนี้จึงต้องติดตาม และชวนตั้งคำถามว่ากับสิ่งที่กำลังดำเนินไป ผลที่จะได้ตามมาคุ้มค่ากับการสูญเสียไปหรือไม่?

ภาพ : ศุภชัย วีรยุทธานนท์ จากโครงการ 10 ภาพเล่าเรื่อง ปีที่ 8


หนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภาของกลุ่มสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและเครือข่าย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ระบุข้อเสนอไว้ 5 เรื่องประกอบด้วย

  1.  ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 23 แก้ไขมาตรา  69 ในร่างใหม่ ให้กลับไปใช้บทบัญญัติที่ตราไว้เดิมความว่า “ห้ามไม่ให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนขนาดเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ในเวลากลางคืน ”
  2. ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 10/1, 11/ 11/1 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็ก และแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล
  3. ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 85/1 ซึ่งคือการกลับมาอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์สัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมง
  4. เสนอผู้แทนจากประมงพื้นบ้าน ผู้แทนองค์กรด้านแรงงาน ผู้แทนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. แก้ไขพ.ร.ก. การประมงฯ จำนวน 3 คน
  5. ขอให้กมธ.วิสามัญที่จะตั้งขึ้นพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาจากนักวิชาการด้านการประมง ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และด้านแรงงานเป็นที่ปรึกษากมธ.วิสามัญฯ

อ่านเพิ่มเติม : ติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลหาย หลังพะยูนไทยตายพุ่ง

Recommend