“ไม่สนโลกร้อน ทรัมป์ลงนามถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส”
“ประธานาธิบดีทรัมป์เลือกที่จะเริ่มการดำรงตำแหน่งด้วยการเอาใจกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและพันธมิตร การตัดสินใจที่น่าละอายของเขานี้เป็นลางบอกเหตุที่น่ากังวลว่าคนในสหรัฐฯ จะคาดหวังอะไรได้จากเขาและคณะรัฐมนตรีที่ต่อต้านวิทยาศาสตร์” สหภาพนักวิทยาศาสตร์ Union of Concerned Scientists (UCS) กล่าว
หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เขาก็ได้ลงนามในสิ่งที่เขาตั้งใจไว้ทันที หนึ่งในนั้นคือการนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส ‘อีกครั้ง’ หลังจากที่เขาแสดงความตั้งใจนี้ไปเมื่อปี 2017 แม้ในขณะจะยังไม่เป็นทางการเนื่องจากในปี 2020 สหรัฐฯ ก็ได้กลับเข้ามายังข้อตกลงนี้หลัง โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง
แต่ในครั้งนี้การออกจากข้อตกลงปารีสดูจะเป็นเรื่อง ‘อย่างเป็นทางการ’ แล้ว โดยทรัมป์ได้ลงนามเพื่อแจ้งให้หน่วยงานระดับโลกทราบถึงการถอนตัวดังกล่าวที่จะมีผลภายใน 1 ปีหลังจากส่งจดหมาย โดยการถอนตัวดังกล่าวมีขึ้นเพื่อทำให้สหรัฐฯ เป็นอิสระจากข้อจำกัดด้านพลังงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศกลับมาเป็นผู้นำและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง
“ผลงานที่ประสบความสำเร็จของสหรัฐฯ ในการบรรลุเป้าหมายทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ” ทรัมป์ กล่าว คำสั่งของเขาข้อหนึ่งระบุว่า ‘ข้อตกลงปารีส’ นี้ไม่ได้สะท้อนถึงค่านิยมที่แท้จริงของสหรัฐฯ ซึ่ง “บังคับให้เงินภาษีของประชาชนสหรัฐฯ ไหลไปยังประเทศที่ไม่ต้องการหรือไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวอเมริกัน”
ข้อตกลงปารีสคืออะไร?
ในปี 2015 ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 190 ประเทศได้มารวมตัวกันในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับตกลงร่วมกันว่าจะจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และดีที่สุดคือให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (ข้อมูลปัจจุบัน โลกในปี 2024 ได้ก้าวข้าม 1.5°C ไปแล้ว)
โดยแต่ละประเทศจะไปกำหนดเป้าหมายของตนเองในการลดมลพิษต่าง ๆ อย่างไรก็ตามแม้ข้อตกลงปารีสนี้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการกำหนดเส้นทางของโลกที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน กระนั้นก็ไม่ได้มีผลผูกพันหรือภาระผูกพันใด ๆ ในการลดภาวะโลกร้อน
ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้หลายประเทศยังไม่ได้มีท่าทีจริงจังในการจำเป็นต้องลดการปล่อยคาร์บอน การถอนตัวของทรัมป์ครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนระบุว่า การลดปารปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกานั้นหยุดชะงักแล้ว อันที่จริงแล้วหยุดชะงักตั้งแต่ก่อนที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งด้วยซ้ำ
ตามรายงานจากโรเดียมกรุ๊ป (Rhodium Group บริษัทวิจัยอิสระที่ให้คำปรึกษาแก่นักลงทุน บริษัท รัฐบาล และองค์กรอื่นๆ ทั่วโลกในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก) ระบุว่าสหรัฐฯ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเพียงเล็กน้อยแค่ 0.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
และแม้ว่าพลังงานสะอาดจะเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากกฎหมายด้านสภาพอากาศฉบับสำคัญของรัฐบาลชุดก่อนเช่นกฎหมาย ‘Inflation Reduction Act’ แต่ระดับการปล่อยมลพิษก็ไม่มีท่าทีว่าจะลดลง จนเกิดการวิพากย์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
สหรัฐฯ ก็จะยังคงเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ไม่ว่าจะออกหรือไม่ออกจากข้อตกลงปารีสก็ตาม เนื่องจากมีนโยบายที่คอยส่งเสริมการจัดหาพลังงานทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมเครต สหรัฐฯ จึงสามารถผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้มากกว่าประเทศใด ๆ ในประวัติศาสตร์
ขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็ประกาศอย่างมั่นใจว่าจะเพิ่มการผลิตและการส่งออกให้มากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าโลกจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
“เห็นได้ชัดว่าอเมริกาจะไม่มีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เคยเผชิญมา” บิล แมคคิบบิน (Bill McKibben) นักรณรงค์ด้านสภาพอากาศและนักเขียน กล่าว “ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สิ่งที่ดีที่สุดที่เราหวังได้คือ วอชิงตันจะไม่สามารถทำลายความพยายามของผู้อื่น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ระลึกไว้เสมอก็คือ แม้สหรัฐอเมริกาจะไม่ได้เป็นภาคีของข้อตกลงปารีสอีกต่อไป แต่จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหประชาชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘COPs’
ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ทุกคนในสหรัฐฯ ที่จะเห็นด้วยกับการกระทำนี้ จากการสำรวจของ The Associated Press-NORC Center for Public Affairs Research เผยว่าชาวอเมริกันเกือบครึ่งหนึ่ง ‘คัดค้าน’ หรือ ‘คัดค้านอย่างยิ่ง’ ในการถอนตัวออกจากข้อตกลงด้านสภาพอากาศ
และแม้แต่พรรครีพับลิกันเองก็ไม่ได้เห็นด้วยอย่างท่วมท้น โดยมีผู้ใหญ่ชาวอเมริกันเพียงประมาณ 2 ใน 10 คนเท่านั้นที่ ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘เห็นด้วยอย่างยิ่ง’ กับการถอนตัว และอีก 1 ใน 4 เป็นกลาง แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกังวลมากกว่าท่าทีของทรัมป์คือจีน
ประเทศจีนอาจใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการผ่อนปรนความพยายามของตนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังทำให้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจตกอยู่ในประเทศอื่น ๆ เนื่องจากมีพลังงานสะอาดมีการเติบโตทั่วโลกในอัตราที่สูงมาก แต่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิล
“การเพิกเฉยต่อเรื่องนี้จะส่งผลให้ความมั่งคั่งที่มหาศาลตกไปอยู่ในมือของคู่แข่งทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภัยพิบัติทางสภาพอากาศเช่น ภัยแล้ง ไฟป่า และพายุรุนแรงยังคงเลวร้ายลง” ไซมอน สตีล (Simon Stiell) เลขาธิการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ แสดงความหวังว่าสหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนให้พลังงานสะอาดเติบโตต่อไป
“ประตู่สู่ข้อตกลงปารีสยังคงเปิดกว้าง และเรายินดีรับความร่วมมือที่สร้างสรรค์จากทุกประเทศ”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
อ่านเพิ่มเติม : ปี 2024 โลกร้อนทุบสถิติ ทะลุเกณฑ์ข้อตกลงปารีสแล้วที่ 1.5 องศา