จับตา ‘โลกร้อน’ ทำหนูล้นโลก ขยายพันธุ์ไว โรคระบาดพุ่ง

จับตา ‘โลกร้อน’ ทำหนูล้นโลก ขยายพันธุ์ไว โรคระบาดพุ่ง

โลกร้อน หนูร้าย เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้หนูระบาดหนัก เตรียมตัวให้พร้อมในภาวะโลกร้อน โดยการแนะวิธีแก้ง่าย ๆ นั่นคือ การจัดการขยะให้ดี 

มหานครจำนวนมากต่างประสบปัญหากับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เรียกว่าหนู ไม่ว่าจะเป็นในมหานครนิวยอร์ก ซานฟราซิสโก หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ที่เราสามารถมองเห็นหนูตัวใหญ่วิ่งออกจากท่อและฟุตบาทสำหรับการสัญจร โดยที่ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มแย่มากขึ้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Science Advances ได้ตรวจสอบเมืองใหญ่ 16 แห่งทั่วโลกและพบว่ากว่า 2 ใน 3 มีการพบเห็นหนูเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ประชากรหนูระเบิดขึ้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

“เราพบเห็นหนูเพิ่มขึ้นในเมืองที่มีอากาศอบอุ่นขึ้นเร็วที่สุด และเรากำลังเดินตามหลังและถูกผลักให้ช้าลง” โจนาธาน ริชาร์ดสัน (Jonathan Richardson) หัวหน้าทีมวิจัยและนักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยริชมอนด์ กล่าว

สาเหตุของการที่หนูเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วเนื่องมาจาก การมีอากาศอบอุ่นขึ้น (โดยเฉพาะในเมืองหนาว) ซึ่งนั่นหมายความว่า หนูสามารถออกมาใช้ชีวิต หาอาหารและผสมพันธุ์กันได้มากขึ้น กล่าวคือ หากฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวจัด หนูก็มักจะหลบอยู่ในรังของตัวเอง แต่เมื่ออากาศหนาวเริ่มช้ากว่าเดิมสัก 1-2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น พวกมันก็สามารถอยู่บนพื้นดินเพื่อหาอาหารมากขึ้น และขยายวงจรการสืบพันธุ์ไปได้อีก 1-2 รอบ

แม้ 1-2 สัปดาห์หรือ 1 เดือนจะดูไม่มากนักสำหรับมนุษย์ แต่อย่าลืมว่า สำหรับหนูตัวเมียสามารถออกลูกได้ทุกเดือน ซึ่งจะมีครั้งละ 8-16 ตัว การมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นเท่านี้ เป็นปัจจัยอย่างมากในการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว และตามการประเมินก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอุณหภูมิเมืองจะสูงขึ้นอย่างน้อย ๆ 1.5 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้ขึ้นอยู่ปริมาณการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่าในภาวะโลกร้อนนี้เราจะประสบปัญหากับประชากรหนูมากขึ้น และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ หนูเป็นพาหะของความสกปรกและโรคร้ายต่าง ๆ นานา พวกมันปรับตัวให้เข้าไปเมืองของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กินของเสียของเรา และป้วนเปี้ยนไปทั่วสิ่งก่อสร้าง

“หนูสามารถข้ามทวีปและอยู่ในทุกแห่งยกเว้นแอนตาร์กติกา ดังนั้นจึงถือเป็นปัญหาร้ายแรง” แคธลีน คอร์ราดี (Kathleen Corradi) ผู้เชี่ยวชาญด้านหนูแห่งนครนิวยอร์กกล่าว

ขณะที่ไมเคิล พาร์สัน (Michael Parsons) ผู้เชี่ยวชาญด้านหนูจากเมืองฮูสตัน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เมื่อจำนวนหนูเพิ่มขึ้น ผู้คนก็ป่วย ยานพาหนะก็ใช้งานไม่ได้ สุขภาพจิตก็ทรุดโทรม ไฟไหม้ และอาหารก็เน่าเสีย” ผู้คนมักรังเกียจหนูเป็นเนื่องจากวิวัฒนาการ “ความกลัวโดยกำเนิดเนื่องจากเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำให้เราป่วยได้”

สงครามคนกับหนู

แม้จะมีปัญหาเกี่ยวกับหนูมากมายโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ แต่ก็ดูเหมือนว่ามนุษย์จะไม่สามารถจัดการอะไรกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ได้เลย หนูยังคงวิ่งพล่านไปทั่วเมืองพร้อมกับแพร่กระจายลูกหลานของมันราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

กระนั้นแม้จะเป็นดูเป็นข่าวร้ายไปหมด แต่ก็มีบางเมืองที่มีจำนวนหนูลดลงอย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

“มันไม่ใช่เรื่องยากเลย เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร” ริชาร์ดสัน กล่าว

เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์ทุ่มเททรัพยากรอย่างมากไปกับวิธีที่เรียกว่า ‘ยาเบื่อหนู’ แต่หลักฐานก็ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเราแทบจะทำอะไรพวกมันไม่ได้เลย เนื่องจากหนูสามารถออกลูกได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการวางยาหนึ่งจุดจึงไม่สามารถเข้าถึงหนูได้ทุกตัว และที่สำคัญบางตัวก็เรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยง

อย่างไรก็ตามมีวิธีที่ง่ายกว่านั้นและไม่ต้องมีอะไรยุ่งยากเลย อีกทั้งเป็นมิตรของสิ่งแวดล้อมและสามารถทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นอย่างมากนั่นคือ ‘กำจัดขยะออกจากถนน’ กล่าวคือขยะต้องอยู่ในสถานที่เหมาะสมที่หนูไม่สามารถเจาะเข้าไปได้ และที่สำคัญก็คือมนุษย์ไม่ควรทิ้งขยะเรี่ยราดซึ่งเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถทำได้

นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โตเกียวมีจำนวนหนูน้อยกว่าเมืองอื่น ๆ เพราะวัฒนธรรมและค่านิยมของเมืองให้ความสำคัญกับความสะอาดและสุขอนามัยอย่างมาก ร้านอาหารและบริษัทต่าง ๆ รู้สึก ‘อับอาย’ อย่างยิ่งหากมีคนพบเห็นหนูสักตัวหนึ่งอยู่ใกล้ ๆ บริเวณของพวกเขา

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการต่อสู้ในสงครามนี้อาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากหนูเอง แต่คือพฤติกรรมมนุษย์ หากเราสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทิ้งขยะของเราได้ หนูเหล่านี้จะมีน้อยลงซึ่งหมายความว่าควบคุมได้ง่ายขึ้นในวิธีที่ไม่จำเป็นต้องฆ่าหรือทารุณพวกมัน

“หนูจะยังคงอยู่ในมองโกเลียตอนเหนือและนอนเล่นอยู่ในโพรงของมันหากไม่มีเศษอาหารที่ถูกทิ้งข้ามทวีปมา” พาร์สัน กล่าว “มันง่ายกว่ามากที่เราจะฆ่าสัตว์สายพันธุ์อื่นและทุบมันจนตาย ในบางกรณีก็ทรมานมันมากกว่าที่เจะเป็นเก็บกวาดมันหลังจากมันตาย”

พาร์สันกล่าวว่าหนูเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ต้องหา อันที่จริงแล้วหากมันไม่ได้สร้างปัญหาให้กับมนุษย์ มันก็เป็นสัตว์ที่น่ารักชนิดหนึ่งที่มีสังคม มีความเห็นอกเห็นใจ และงานวิจัยบางครั้งก็แสดงให้เห็นว่าพวกมันเลือกที่จะช่วยเพื่อนของมันมากกว่าช็อคโกแลตที่อยู่ตรงหน้า

“มีงานวิจัยมากพอที่แสดงให้เห็นว่าเราต้องหยุดพฤติกรรมที่โหดร้ายต่อสัตว์ แต่เป็นมนุษย์เองที่ต้องเริ่มด้วยการทิ้งขยะให้ลงถัง”

สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

photo by Charlie Hamilton James, Nat Geo Image Collection

 

ที่มา

https://www.science.org

https://phys.org

https://www.vox.com

https://www.jpost.com


อ่านเพิ่มเติม : รถยนต์-อุณหภูมิผกผัน-อากาศปิด-เผาพื้นที่เกษตร ถอดสมการทำกรุงเทพฯ เผชิญวิกฤตฝุ่น

Recommend