นักวิทยาศาสตร์พบ ต้นไม้ในปานามาใช้ ‘สายฟ้า’ ในการจัดการกับศัตรู

นักวิทยาศาสตร์พบ ต้นไม้ในปานามาใช้ ‘สายฟ้า’ ในการจัดการกับศัตรู

“ในป่าฝนที่ปานามา มีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง

ที่วิวัฒนาการให้ตัวเองเป็น ‘สายล่อฟ้า’ ไว้จัดการกับศัตรู”

ฟ้าฝ่าถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่อันตรายที่สุดของธรรมชาติซึ่งเราทุกคนต่างหาทางหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์นี้ ไม่เพียงเท่านั้นฟ้าฝ่ายังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำลายป่าได้ ความร้อนสูงที่เกิดขึ้นจากกระแสไฟฟ้าเข้มข้นสามารถจุดไฟกลายเป็นไฟป่าที่ลุกลามขึ้นมาได้ มันจึงสมเหตุสมผลว่าทุกชีวิตต่างเกรงกลัวสายฟ้าฟาดนี้

แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจป่าฝนเขตอนุรักษ์ธรรมชาติบาร์โรโคโรลาโดของปานามา พวกเขาก็ต้องพบว่าสิ่งที่เชื่อมาตลอดนั้นไม่เป็นความจริงเสมอไป ต้นไม้บางต้นดูจะชื่นชอบการถูกฟ้าฝ่า และทำให้พวกมันเติบโตได้อย่างโดดเด่นกว่าต้นอื่น ๆ อย่างชัดเจน

“เราเริ่มทำการศึกษานี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และเห็นได้ชัดว่าฟ้าผ่าทำลายต้นไม้ไปจำนวนมาก โดยเฉพาะต้นขนาดใหญ่จำนวนมาก” อีแวน กอรา (Evan Gora) นักนิเวศวิทยาป่าไม้จากสถาบันวิจัยระบบนิเวศวิทยาคารี กล่าว “แต่ Dipteryx oleifera กลับไม่พบความเสียหายใด ๆ เลย”

ฟ้าผ่าและป่าเขตร้อน

โดยทั่วไปแล้วสำหรับป่าเขตร้อน ฟ้าผ่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต้นไม้ตาย โดยเฉพาะต้นไม้ที่ใหญ่และเก่าแก่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกักเก็บคาร์บอกและสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ 

ดังนั้นการทำความเข้าใจว่าสายฟ้าส่งผลอย่างไรต่อโครงสร้างและองค์ประกอบของสายพันธุ์ในป่า จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงความยืดหยุ่นของระบบนิเวศเหล่านี้เมื่อต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แต่การลงไปสำรวจภาคพื้นสนามนั้นกลับเป็นอีกเรื่องไปเลย

ดร. กอรา เล่าว่าในตอนแรกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปการปีนต้นไม้เพื่อมองหาร่องรอยความเสียหายจากฟ้าผ่า แต่กว่าจะเริ่มปีนต้นแรกได้ก็ต้องขึ้นไปสูงและยังเสียเวลาไปอีกจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้นผึ้งที่บินมุ่งเข้ามายังตาและหูของเขาก็เป็นอุปสรรคจริง ๆ

“ทั้งหมดในชีวิตตอนนั้นมันวุ่นวายไปหมด” ดร. กอรา กล่าว “มันน่ากลัวมาก” 

ดังนั้นทีมวิจัยจึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ในการค้นหาต้นไม้ที่ถูกฟ้าฝ่าโดยไม่เจ็บตัว การใช้สายตามองหาจึงเปลี่ยนเป็นการตรวจสอบสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของฟ้าผ่าแทน เทคนิคนี้ทำให้พวกเขาระบุต้นไม้ที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็วและสามารถสั่งให้โดรนเข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมได้

ตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2019 ข้อมูลระบุว่าระบบมีการบันทึกต้นไม้ถูกฟ้าฝ่าได้ 94 ครั้ง ทีมวิจัยจึงเข้าไปตรวจสอบตามจุดต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้เพื่อดูว่ามีสายพันธุ์ใดบ้างที่ถูกฟ้าผ่า โดยพยายามมองหาร่องรอยต้นไม้ที่ตายไปกับ ‘จุดวาบไฟ’ ที่ใบไม้จะไหม้เกรียม เรือนยอดจะเหี่ยวเฉาลง และท้ายที่สุดต้นไม้ก็จะตายในเวลาต่อมา

โดยรวมแล้วมีต้นไม้ 85 สายพันธุ์ถูกฟ้าผ่า ซึ่งส่วนใหญ่จะตายไปภายใน 2 ปีแต่กลับมี 7 สายพันธุ์ที่รอดชีวิตมาได้ ทว่ามีสายพันธุ์หนึ่งที่โดดเด่นยิ่งกว่าใครนั่นคือ Dipteryx oleifera ต้นไม้สูงใหญ่ที่โดนฟ้าผ่าถึง 9 ครั้ง กลับดูแข็งแรงกว่า สูงใหญ่กว่าต้นอื่นร้อยละ 30 และมีทรงพุ่มไม้ใหญ่กว่าอีก 50% 

“ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ฟ้าผ่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับต้นไม้” ดร. กอรา กล่าว “การได้เป็นต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่าและพวกมันก็ปลอดภัยดีนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก” 

จัดการศัตรู

Dipteryx oleifera ทุกต้นไม่เพียงแต่รอดมาได้เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่ามันยังทำให้ตัวเป็นเหมือนสายล่อฟ้ามากขึ้นด้วย จากพุ่มที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นี้นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามีแนวโน้มทำให้มันถูกฟ้าผ่าบ่อยครั้งขึ้นไปอีก อันที่จริงแล้ว ต้นไม้ที่อยู่รอบ ๆ Dipteryx oleifera นี้มีโอกาสตายมากขึ้นด้วยซ้ำเมื่อฟ้าผ่าลงมา

ในเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่บันทึกได้ ทีมวิจัยระบุว่าต้นไม้กว่า 57 ต้นที่อยู่รอบ ๆ D. oleifera ตายจากการถูกฟ้าผ่าเพียงครั้งเดียว 

“ในขณะที่ต้นไม้ตรงกลาง (D. oleifera) กลับมีความสุขและแข็งแรงดี” ดร. กอราเล่า “ต้นไม้ใดก็ตามที่เข้าใกล้จะถูกไฟดูด”

ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้น ฟ้าผ่ายังทำลายเถาวัลย์ปรสิตที่ติดอยู่บนต้นไม้อีกด้วย การจัดการกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเหล่านี้ทำให้มีการแย่งทรัพยากรอย่างแสงน้อยลง ต้นไม้ก็เจริญเติบโตและผลิตเมล็ดได้ดีขึ้น แบบจำลองทางนิเวศวิทยาประเมินว่าการถูกฟ้าผ่าหลายครั้งนี้จะช่วยยืดอายุต้นไม้ได้นานขึ้นเกือบ 300 ปี 

ยังไม่ชัดเจนว่าเพราะอะไรต้นไม้ถึงสามารถรอดจากเหตุการณ์ฟ้าผ่ารุนแรงได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นในป่าฝนทั่วโลกไม่ใช่แค่ในเฉพาะปานามา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้พายุฝนฟ้าคะนองมีความถี่และรุนแรงมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าต้นไม้บางต้นมีแผนรับมือเรื่องนี้ได้ดีกว่าต้นอื่น ๆ

“มันเป็นผลงานสร้างสรรค์ชิ้นหนึ่งที่เปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อฟ้าผ่าซึ่งอยู่ในฐานะตัวรบกวน” ทอมมาโซ จักเกอร์ (Tommaso Jucker) นักนิเวศวิทยาป่าไม้จากมหาวิทยาลัยบริสตอลในอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://nph.onlinelibrary.wiley.com

https://www.nytimes.com

https://www.livescience.com

https://www.smithsonianmag.com


อ่านเพิ่มเติม : รู้ไหม? ต้นไม้พูดได้ นะ แล้วพวกพืชมีวีธีสื่อสารกันอย่างไร?

Recommend