“นักวิทยาศาสตร์พบพฤติกรรมใหม่ของวาฬเพชฌฆาต
ในการใช้สาหร่ายถูตัวให้กันและกันเพื่อผลัดเซลล์ผิวและเสริมสร้างสายสังคมทางสังคมภายในฝูง”
ในน่านน้ำเย็นของทะเลซาลิชนอกชายฝั่งบริติชโคลัมเบีย วาฬเพชฌฆาตสองตัวกำลังทำบางอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเห็นมาก่อน พวกมันนำสาหร่ายที่เป็นเส้น ๆ วางไว้ตามลำตัว แล้ววาฬเพชฌฆาตอีกตัวก็เข้ามา ทั้งสองว่ายไปพร้อม ๆ กันโดยเคลื่อนไหวเป็นรูปตัว ‘S’ อย่างสวยงาม
นี่คือพฤติกรรมใหม่ที่ ไมเคิล ไวสส์ (Michael Weiss) นักนิเวศวิทยาพฤติกรรมสังเกตได้จากภาพที่โดรนบันทึกได้ วาฬเหล่านั้นคาบสาหร่ายสีเขียวไว้ในปาก มาไว้ตามตัว และพฤติกรรมเหล่านี้ก็เกิดนานถึง 15 นาที ซึ่งในตอนแรก ไวสส์ ไม่ได้คิดอะไรเลย
“เพราะวาฬเพชฌฆาตชอบทำสิ่งแปลก ๆ” เขากล่าว แต่เมื่อสังเกตเพิ่มเติมก็พบว่ามันน่าจะมีจุดประสงค์อะไรบางอย่างมากกว่าแค่เล่นกันเฉย ๆ “ผมซูมเข้าไปใกล้ ๆ และแน่ใจได้เลยว่าสาหร่ายทะเลชิ้นที่พวกมันใช้ถูตัวกันนั้นชัดเจนมาก”
ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Current Biology นักวิทยาศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า ‘การผลัดเซลล์ผิว’ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกสุดที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลสร้าง ‘เครื่องมือ’ เพื่อดูแลกันและกัน การค้นพบนี้ได้เน้นย้ำว่าสัตว์เหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อนและยอดเยี่ยมกว่าที่เคยคิดกันมา
โดยตลอดระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ในปี 2024 ไวสส์และทีมงานของเขาได้บันทึกตัวอย่างของปฏิสัมพันธ์ใหม่ที่น่าสนใจเหล่านี้ได้มากถึง 30 ตัวอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นกับวาฬเพชฌฆาตเพียงกลุ่มเดียว คือ วาฬเพชฌฆาตประจำถิ่นทางตอนใต้ของแคนาดา
เครื่องมือ เครื่องมือ และเครื่องมือ
นักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลสามารถสร้างเครื่องมือได้ เช่น โลมาปากขวดจะแยกฟองน้ำทะเลออกมา และสวมมันไว้บนจมูกเพื่อป้องกันตัวเองจากวัตถุมีคมบนพื้นทะเลในขณะที่มันกำลังหาปลากิน
ขณะเดียวกันวาฬหลายชนิดก็มีการผลัดผิวหนังอยู่บ่อยครั้งเช่น วาฬหัวคันศรในน่านน้ำทะเลใกล้กับเกาะบัฟฟินของแคนาดาเอาตัวเองไปถูกับหิน เพื่อผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไป แต่สำหรับวาฬเพชฌฆาตแล้ว นักวิจัยพบการใช้เครื่องมือเพียงเพื่อหาอาหารซะมากกว่า แต่พวกเขาก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่
การสังเกตการณ์เริ่มต้นขึ้นในปี 2018 ซึ่งช่วงแรกทีมวิจัยมุ่งเน้นไปที่การหาอาหารและพฤติกรรมทางสังคมของวาฬเพชฌฆาตกลุ่มย่อยที่กำลังใกล้สูญพันธุ์นี้ เพื่อทำความเข้าใจว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้แต่ละตัวมีโอกาสรอดชีวิต และสืบพันธุ์ได้ดีขึ้น
แต่แล้วเมื่อต้นปี 2024 โดรนตัวใหม่ที่สามารถมองเห็นวาฬเพชฌฆาตได้ชัดเจนแม้จะอยู่บนอากาศสูง 30 เมตรก็ตาม เครื่องมือใหม่นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไวสส์ และเพื่อนร่วมงานได้สังเกตเห็นว่าวาฬเพชฌฆาตเหล่านี้ชื่นชอบพฤติกรรมนี้กันสุด ๆ
“ด้วยวิดีโอความคมชัดสูงนี้ เราจึงได้เห็นสาหร่ายที่อยู่ระหว่างตัวของพวกมันได้เป็นช่วง ๆ” ไวสส์ กล่าว “ผมรู้สึกว่า ‘โอ้ นั่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากทีเดียว’ และเมื่อเรารู้ว่าต้องมองหาอะไร เราก็เริ่มเห็นมันไปทุกที่”
ดูและกันและกัน
แต่วาฬเพชฌฆาตเหล่านี้เอาสาหร่ายมาถูตัวกันเพื่ออะไรล่ะ? ทีมวิจัยให้สาเหตุที่เป็นไปได้ 2 ประการ หนึ่งคือ การรักษาสุขอนามัย หรือก็คือ การกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เพราะดูเหมือนว่าปัจจุบันโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ทำให้วาฬเพชฌฆาตมีจุดสีเทาบนผิวกำลังแพร่ระบาดมากขึ้น
การกำจัดเซลล์ผิวเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในวิธีที่รักษารอยโรคเหล่านั้นได้ ขณะที่สาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ (อันที่สอง) พฤติกรรมนี้อาจเป็นการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ทางสังคม เนื่องจากวาฬเพชฌฆาตที่ทำสิ่งนี้มักจะเป็นญาติสนิทกันหรือมีอายุใกล้เคียงกัน
“แนวคิดเรื่องการดูแลซึ่งกันและกัน (โดยใช้เครื่องมือ) นั้นมักจำกัดอยู่แค่ไพรเมตเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้แนวคิดเหล่านี้น่าสนใจ” ฟิลิปา เบรคส์ (Philippa Brakes) นักนิเวศวิทยาพฤติกรรมจากองค์กรไม่แสวงกำไร Whale and Dolphin Conservation ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้กล่าว
“แนวคิดนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นช่วงของเซเทเซียน (Cetaceans – กลุ่มวาฬและโลมา) เพราะมันพิสูจน์ได้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องใช้หัวแม่มือเพื่อควบคุมเครื่องมือ”
สิ่งที่สนับสนุนก็คือ วาฬเพชฌฆาตนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น พวกมันมีสมองใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดร่างกาย และบางส่วนก็มีพัฒนาการที่มากกว่าสมองของมนุษย์ นี่อาจทำให้วาฬเพชฌฆาตแต่ละกลุ่มมี ‘ภาษาถิ่น’ ของตัวเอง
นอกจากนี้ วาฬเพชฌฆาตก็ยังมีผิวหนังที่ค่อนข้างบอบบาง และหลายกลุ่มก็มักทำพฤติกรรมถูตัวกับหินเช่นชายหาดที่มีกรวดในแคนาดา หรือตามต้นสาหร่าย แต่การเห็นวาฬเพชฌฆาต 2 ตัวที่ใช้เครื่องมือขัดตัวให้กันและกันนั้นไม่ใช่เรื่องที่เคยพบเจอมาก่อนเลย
“สิ่งที่ (งานวิจัย) แสดงให้เห็นก็คือ เรารู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับพฤติกรรมของวาฬเพชฌฆาตในธรรมชาติ” เจเน็ต แมนน์ (Janet Mann) นักนิเวศวิทยาพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ซึ่งศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลมานานกว่า 37 ปี กล่าว
โลกที่เปลี่ยนไป
วาฬเพชฌฆาตตอนใต้นั้นเป็นสัตว์ที่เข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลกลางทั้งในสหรัฐออเมริกและแคนาดา โดยมีประชากรวาฬทั้งหมดเพียง 74 ตัว ขณะเดียวกัน ป่าสาหร่ายทะลทั่วโลกก็กำลังมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จากการรบกวนของมนุษย์ ระบบนิเวศเหล่านี้กำลังเสื่อมโทรมลง
ทำให้เกิดความกังวลทั่วโลก เนื่องจากป่าสาหร่ายทะเลเหล่านี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่สำคัญของแซลมอนชินุกวัยอ่อน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของวาฬเพชฌฆาต การสังเกตการณ์หลายปีที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่า ประชากรวาฬเพชฌฆาตตอนใต้กำลังใช้เวลาในทะเลซาชิลน้อยลงเรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจเป็นเพราะเหยื่อลดน้อยลงเรื่อย ๆ
“นี่เป็นเหตผลอีกประการหนึ่งที่ต้องปกป้องที่อยู่อาศัยและพฤติกรรมของพวกมัน” เบรคส์ กล่าว การปกป้องป่าสาหร่ายทะเลจะช่วยทั้งเรื่องอาหารและวัฒนธรรมที่น่าทึ่งของพวกมัน “วัฒนธรรมช่วยให้สัตว์สามารถปรับตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์”
การประมงที่มากเกินไป วิกฤตสภาพอากาศ การทำลายแหล่งวางไข่ด้วยการสร้างเขื่อน และอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับสิ่งมีชีวิตที่สองสายพันธุ์นี้ ทั้งสาหร่ายทะเลและวาฬเพชฌฆาตต่างก็พึ่งพากันและกัน การปกป้องพวกมันจึงมีคุณค่าอย่างยิ่งในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปนี้
“วาฬเพชฌฆาตกำลังตกอยู่ในอันตราย และเราเสี่ยงที่จะสูญเสียพฤติกรรมพิเศษเช่นนี้ไป” ไวสส์ กล่าว “หากเราสูญเสียพวกมันไป เราก็อาจไม่มีวันได้เห็นพฤติกรรมนี้บนโลกนี้อีกเลย เราไม่สูญเสียแค่วาฬเพชฌฆาต 74 ตัวเท่านั้น แต่เรายังสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกมันทำมาเป็นเวลานับพัน ๆ ปี”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา