“หัวใจสำคัญ คือ แพลตฟอร์ม LEAD ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นให้เป็นระบบที่ชาญฉลาดในการติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนแบบเฉพาะบุคคล ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย LEAD จะช่วยปรับการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับศักยภาพและความต้องการของนักเรียนแต่ละคน ทำให้การเรียน AI ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป”ดร.เสาวลักษณ์ ระบุ
Abdul for Education เทคโนโลยีติดตามการตอบคำถามในระบบแชตบอตเพื่อวัดความเข้าใจ ระบบจะติดตามว่าคำตอบที่ผู้เรียนเลือกหรือพิมพ์ตอบนั้นถูกต้องหรือแสดงถึงความเข้าใจเนื้อหาที่เรียนหรือไม่
“สวทช. มุ่งหวังให้คุณครูผู้สามารถพัฒนาเยาวชนของเราให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น คุณค่า ประโยชน์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการเสริมสร้างทักษะในการสร้าง AI ได้ด้วยตนเองอย่างมีความรับผิดชอบและรู้เท่าทัน ด้วยเครื่องมือทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทั้งผู้เรียน ผู้สอน รวมถึงผู้ออกแบบเนื้อหาทราบถึงปัญหาที่ผู้เรียนกำลังเผชิญได้ทันที และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว โดยเน้นการปูพื้นฐานความรู้ AI ที่แข็งแกร่งให้กับเยาวชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลดีต่ออนาคตของชาติ”
ทั้งสองแนวทางได้ถูกผนวกและปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจเทคโนโลยี AI อย่างถูกต้อง สามารถใช้งานได้จริง และตระหนักถึงจริยธรรมและผลกระทบของ AI ต่อสังคม ซึ่งโครงสร้างหลักสูตรของระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มีความใกล้เคียงกัน อาจมีการปรับเปลี่ยนบางโมดูล เพื่อให้เหมาะสมกับระดับชั้นปี โครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วย 5 โมดูล ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ AI ไปจนถึงเทคนิค Supervised Learning การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) และคอมพิวเตอร์วิชัน (Computer Vision) พร้อมทั้ง Generative AI เพื่อปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์อย่างรับผิดชอบ
“ทักษะที่ผู้เรียนได้รับครอบคลุมการคิดเชิงคำนวณ การวิเคราะห์ข้อมูล การออกแบบระบบ AI และจริยธรรม AI ที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ศักยภาพเหล่านี้ต่อยอดสู่นวัตกรรมดิจิทัล เปิดโอกาสสร้างเยาวชนที่จะเติบโตเป็นนักพัฒนาประเทศรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่ยุค AI อย่างยั่งยืน” ดร.จีระพร กล่าว”
Adaptive Education Platform” พลิกโฉมการเรียนรู้ สร้างนักเรียนยุคใหม่ สู่โลก AI
กรกันต์ ดิตถ์อัศวณิช ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว เปิดเผยว่า จากการนำ “แพลตฟอร์ม LEAD Education” มาใช้ในการเรียนการสอน ส่งผลดีอย่างมากต่อนักเรียน โดยเฉพาะในการจัดการกับความแตกต่างด้านพื้นฐานและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน แพลตฟอร์มนี้ไม่เพียงเป็นเครื่องมือช่วยครู แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมให้นักเรียนได้เรียนรู้ในแบบฉบับของตนเอง พร้อมรับมือกับโลกยุค AI ได้อย่างมีคุณภาพ