“งานวิจัยใหม่เผยให้เห็นว่าเต่าบกก็มีความรู้สึกคล้ายกับเรา
การค้นพบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสัตว์เลื้อยคลาน”
สัตว์มีความรู้สึกหรือไม่? เป็นคำถามที่มีมายาวนานนับหลายพันปี ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยเนื่องจากมนุษย์นั้นคิดได้และรู้สึกเป็น แต่สำหรับการหาคำตอบในสิ่งมีชีวิตอื่นนั้นเป็นเรื่องยากอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตามเมื่อเราใช้เวลากับสัตว์มากขึ้นเท่าไหร่ (โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยง) เจ้าของหลายคนก็มั่นใจว่าแมวหรือหมาของพวกเขามีความรู้สึกไม่ต่างจากเรา เช่นเดียวกัน วิทยาศาสตร์หลายช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาก็มีหลักฐานสนับสนุนแนวคิดนี้ว่า อย่างน้อย ๆ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็มีความชอบ หงุดหงิด ไม่พอใจ หรือ อยากจะออดอ้อนใครสักคนด้วยเช่นกัน กระนั้นในสัตว์กลุ่มอื่น ๆ อย่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลับมีน้อยมาก
และาำหรับสัตว์เลื้อยคลานนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย แทบไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่พวกมันก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะสัตว์เลี้ยงสุดแปลก จึงไม่น่าแปลกใจที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งตัดสินใจตรวจสอบความรู้สึกในสัตว์กลุ่มนี้ให้ดียิ่งขึ้น
“เนื่องจากสัตว์เลื้อยคลานกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่พบเห็นได้ทั่วไปมากขึ้น การศึกษาอารมณ์และความรู้สึกของพวกมันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เและพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าการถูกกักขังอาจส่งผลกระทบต่อพวกมันอย่างไร” ศาสตราจารย์แอนนา วิลกินสัน (Anna Wilkinson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรับรู้ของสัตว์ประจำมหาวิทยาลัยลินคอล์น กล่าว
เจ้าเต่า
ทีมวิจัยได้เลือกเต่าบก (Tortoises) เป็นกลุ่มตัวอย่างเพราะพวกมันดูเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ทำงานด้วยง่ายที่สุด แน่นอนว่าเราไม่อาจถามเต่าได้โดยตรงว่า ‘เจ้าเต่า เจ้ามีความรู้สึกยังไงบ้าง?’ หรือเข้าไปในหัวของพวกมันเพื่อดูว่าเต่าคิดอะไรบ้าง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงต้องตรวจสอบทางอ้อม
ด้วยการให้เต่าเรดฟุต (red-footed tortoises) 15 ตัวทำการทดสอบอคติทางปัญญา ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่ใช้ในมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ เพื่อแยกแยะมุมมองเชิงบวกหรือเชิงลบ ไปจนถึงความวิตกกังวลของสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้
วิธีก็คือ ทีมวิจัยจะทำเครื่องหมายตำแหน่งสำหรับชามอาหาร 5 ตำแหน่งเป็นรูปโค้งภายในกรงที่มีลักษณะเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส (สี่เหลี่ยมเปิดด้านหนึ่ง) ทั้งนี้จะมีชามอาหารวางอยู่เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้นในแต่ละช่วงเวลา
เจ้าเต่าจะได้รับการฝึกให้รู้ว่าชามอาหารในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งจะมีอาหารมาเติมในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ตำแหน่งอื่น ๆ จะว่างเปล่า จุดนี้เป็นประเด็นสำคัญ สำหรับสัตว์อื่น ๆ แล้วอาจไม่ได้สนใจ แต่สำหรับเต่าแล้ว การที่ต้องเดินไปชามอื่นที่ไม่มีอาหาร เป็นการเสียเวลาและพลังงานอย่างยิ่ง
เมื่อเต่าคุ้นเคยแล้ว ทีมวิจัยจะเริ่มวางอาหารในตำแหน่งแบบสุ่ม กล่าวคือตำแหน่งที่เต่าได้รับการฝึกมาหรือไม่ก็ตำแหน่งที่ไม่ชัดเจน ทุกขั้นตอนการตัดสินใจของเต่าจะถูกถ่ายวิดีโอไว้เพื่อดูว่ามันเลือกจะเดินทางต่อไปหรือไม่ (หากชามอาหารวางผิดตำแหน่ง)
หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนแรกทั้งหมด นักวิทยาศาสตร์ได้ลองเพิ่มความซับซ้อนให้กับการทดลองมากเข้าไปอีก เต่าถูกส่งกลับไปยังกรงเดิม แต่แทนที่จะได้เจอกับชามอาหาร พวกมันกลับต้องเจอวัตถุอื่นแทน และพฤติกรรมก็จะถูกบันทึกว่าเต่าเลือกที่จะเข้าไปสำรวจหรืออยู่ห่าง ๆ
และในขั้นสุดท้าย กรงจะได้รับการตกแต่งใหม่ด้วยสีและพื้นผิวใหม่ เต่าถูกนำมาอีกครั้งเพื่อสังเกตปฏิกิริยาตอบสนอง และเพื่อประเมินความกังวล ทีมวิจัยอ้างว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการทดสอบอคติทางความคิดในสัตว์เลื้อยคลาน และได้รับการรายงานทางวิทยาศาสตร์
ผลลัพธ์
เต่าบางตัวดูเหมือนจะมีความคิดไปในทางบวก กล่าวคือเมื่อพวกมันเห็นชามที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งปกติ พวกมันละความสนใจไปได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางตัวกลับดูเหมือนแสดงความกังวลและตรวจสอบอยู่นาน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ดูเป็นตัวบ่งชี้ถึงอารมณ์เชิงบวกหรือลบ
ขณะเดียวกันเมื่อเจอแบบทดสอบกับวัตถุใหม่ ๆ (ครั้งที่สอง) และสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ (ครั้งที่สาม) เต่าที่แสดงพฤติกรรมเชิงบวก (ปล่อยวางได้เร็ว) ก็ดูจะมีพฤติกรรมวิตกกังวลน้อยลงในการตอบสนองต่อสิ่งใหม่ ๆ กล่าวอีกนัยคือ พวกมันไม่ได้คิดอะไรมาก ยังคงทำพฤติกรรมตามปกติได้ กลับกันเต่าที่แสดงความวิตกกังวลในตอนแรก ก็ยังคงแสดงพฤติกรรมเช่นเดิม
“นี่คือการค้นพบที่น่าตื่นเต้น ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการทำความเข้าใจของเราเกี่ยวกับสิ่งที่สัตว์เลื้อยคลานสัมผัสได้” ศาสตราจารย์โอลิเวอร์ เบอร์แมน (Oliver Burman) หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว “ซึ่งมีความหมายสำคัญต่อวิธีที่เราดูแลสัตว์เหล่านี้ในกรงขัง และตอบโต้กับพวกมันในป่า”
อนาคตกับสวัสดิภาพสัตว์เลื้อยคลาน
สัตว์เลื้อยคลานมักเป็นกลุ่มสัตว์ที่ไม่ค่อยถูกยกย่องเท่าไหร่ พวกมันดูอันตราย บางครั้งถึงขั้นน่าเกลียดน่ากลัว และที่แย่ที่สุดคือการกระทำที่อ้างว่าเป็นการป้องกันตัวของเรากลับกลายเป็นการทารุณกรรม สัตว์เหล่านี้มักถูกมองว่าเย็นชาและไร้ความรู้สึก
แต่สำหรับวิทยาศาสตร์แล้ว สิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความสามารถในการแก้ปัญหามานานกว่า 4 ทศวรรษ และในตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็เชื่อว่ามันมีความสามารถด้านอารมณ์ในระยะยาวด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าเต่าสามารถนอนลงบนกองขยะได้ แต่จะดีกว่าไหมหากเราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า เพื่อให้พวกมันได้นอนอย่างพึงพอใจมากขึ้น?
“ความกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่บ่งชี้ว่า สิ่งมีชีวิตชนิดใดบ้างที่มีความสามารถในการแสดงอารมณ์” ศาสตราจารย์ วิลกินสัน กล่าว และการมองโลกในแง่บวกอาจเป็นวิธีที่ทำให้เต่าชนะกระต่ายในนิทานอีสปก็เป็นไปได้
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา