ตามล่าหาดีเอ็นเอสัตว์ประหลาด เนสซี ทะเลสาบล็อกเนสส์
ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังวางแผนที่จะตามหาสัตว์ประหลาดแห่งสกอตแลนด์อันโด่งดัง มันคือ “เนสซี” หรือที่รู้จักกันในชื่อสัตว์ประหลาดล็อกเนสส์ ซึ่งหากมันมีตัวตนอยู่จริง ไม่ว่าจะลึกแค่ไหนก็ตามร่องรอยดีเอ็นเอของมันต้องถูกทิ้งเอาไว้ในทะเลสาบเนสส์แห่งนี้
นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2018 เป็นต้นมา ทีมวิจัยนานาชาติที่นำโดย Neil Gemmell นักพันธุกรรมจากมหาวิทยาลัย Otago ได้เก็บรวบรวมตัวอย่างของน้ำจากทะเลสาบนี้ขึ้นมา โดยในเดือนมิถุนายน พวกเขามีแผนที่จะวิเคราะห์ตัวอย่างเหล่านี้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อมองหาดีเอ็นเอของเนสซี ซึ่งทางทีมคาดหวังว่าพวกเขาน่าจะได้คำตอบบางอย่างต่อปริศนาสัตว์ประหลาดในสกอตแลนด์ที่คาใจคนทั้งโลกมานาน ผลการวิจัยในโปรเจคล็อกเนสส์ครั้งนี้เตรียมเผยแพร่ในเดือนมกราคม ปี 2019 และแม้ว่าอาจจะไม่มีดีเอ็นเอของเนสซีอยู่เลยก็ตาม แต่อย่างน้อยทีมวิจัยก็ได้ข้อมูลทางระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์
อะไรคือดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม?
กิจกรรมในชีวิตประจำวันของทุกสรรพชีวิตทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้เบื้องหลังเสมอ ไม่ว่าจะเป็น เศษผิวหนัง, มูล, ไข่, สเปิร์ม และอีกมากมาย ตัวอย่างเหล่านี้บรรจุดีเอ็นเอของเจ้าของ และปะปนลงกับน้ำและดิน ซึ่งเรียกว่าดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือ eDNA นั่นหมายความว่า เพียงตัวอย่างจากดินหรือน้ำเพียงตัวอย่างเดียวสามารถทำหน้าที่เป็นห้องสมุดเก็บรวบรวมรหัสพันธุกรรมไว้มากมายอย่างไม่ตั้งใจ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถสกัดมันออกมาได้ และเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลเพื่อหาว่าดีเอ็นเอนั้นๆ เป็นของสิ่งมีชีวิตใด
เมื่อเร็วๆ นี้ ฐานข้อมูลของดีเอ็นเอพัฒนาขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อมูลดีเอ็นเอใน Genbank หน่วยงานหลักที่เก็บรวบรวมฐานข้อมูลโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอมเมริกามีข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกๆ 18 เดือน นับตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา และทุกวันนี้พวกเขามีข้อมูลของดีเอ็นเอมากกว่า 260 ล้านล้านคู่กระจายกันอยู่ใน 200 ล้านลำดับพันธุกรรม
(สัตว์ประหลาดแห่งใต้ทะเลลึกนี้มีรูปร่างเหมือนถุงพลาสติก)
ดีเอ็นเอในสิ่งแวดล้อมมีส่วนช่วยนักวิทยาศาสตร์อย่างไร?
ดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญก็เพราะนักวิทยาศาสตร์สามารถได้ข้อมูลพันธุกรรมอย่างย่อของระบบนิเวศนั้นๆ ทั้งหมด ในหนึ่งตัวอย่าง
“จินตนาการถึงการเก็บดินหรือน้ำจากระบบนิเวศนั้นๆ และเราสามารถพบสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบได้” Helen Taylor นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Otago ผู้ร่วมงานกับ Gemmell กล่าวไว้ใน Blog ของเธอที่เกี่ยวกับ eDNA “ทั้งยังดีตรงที่ไม่มีการรุกรานถิ่นอาศัยหรือสุ่มเอาสิ่งมีชีวิตไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์”
และทุกวันนี้ eDNA มีส่วนอย่างมากในการค้นพบใหม่ๆ เช่น ในปี 2011 นักชีววิทยาพบดีเอ็นเอของปลาวงศ์ Asian carp ในคลองรอบๆ เมืองชิคาโก บ่งชี้ว่าสายพันธุ์ของปลาต่างถิ่นนี้กำลังแพร่พันธุ์ไปถึงทะเลสาบเกรตเลกส์แล้ว ในปี 2016 นักชีววิทยาเก็บตัวอย่างของน้ำทะเลนอกชายฝั่งกาตาร์ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับบรรดาฉลามวาฬ และในปี 2017 มีการค้นพบร่องรอยของดีเอ็นเอมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลจากผืนดินของถ้ำในสเปน, รัสเซีย และเบลเยียม
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกเองกำลังเก็บตัวอย่างของดินในหมู่เกาะ Nikumaroro ของมหาสมุทรเซาธ์แปซิฟิก เพื่อตามหาดีเอ็นเอของเอมิเลีย เอียร์ฮาร์ต (Amelia Earhart) นักบินหญิงชาวอเมริกันผู้บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จ
สิ่งนี้เกี่ยวกับเนสซีอย่างไร?
เนสซี หรือสัตว์ประหลาดล็อกเนสส์ ถูกเชื่อกันมานานแล้วว่าอาศัยอยู่ในทะเลสาบเนสส์ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสกอตแลนด์ โดยเกิดทะเลสาบแห่งนี้ขึ้นจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็งเมื่อ 10,000 ปีก่อน ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมามีผู้ยืนยันว่าพวกเขาพบเห็นสัตว์ประหลาดคอยาวเนสซีจริง แต่นักวิทยาศาสตร์เองไม่เชื่อ และคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องแต่ง
นักวิทยาสัตว์ลึกลับบางท่านโต้แย้งว่า เนสซีก็คือ เพลสิโอซอร์ สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในน้ำชนิดหนึ่ง ซึ่งเคยมีชีวิตร่วมกับไดโนเสาร์ แต่จากหลักฐานทางฟอสซิลบ่งชี้ชัดเจนว่าพวกมันสูญพันธู์ไปแล้วเมื่อ 66 ล้านปีก่อน
อย่างไรก็ดีหากเพลสิโอซอร์ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน มันเป็นการยากที่จะใช้ชีวิตอยู่ในทะเลสาบ นักนิเวศวิทยาเสนอว่าทะเลสาบล็อกเนสส์ไม่มีจำนวนปลามากพอที่จะเป็นอาหารของบรรดาประชากรเพลสิโอซอร์ ซึ่งมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2,000 ปอนด์ (900 กิโลกรัม) ในเดียวกันก็มีทฤษฎีชี้ว่า สัตว์ประหลาดที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเนสซีนั้น แท้จริงแล้วอาจคือปลาเวลส์ หนึ่งในปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ไม่เคยมีรายงานการจับปลาเวลส์ได้จากทะเลสาบเนสส์มาก่อน
“ไม่มีหลักฐานว่ามีปลาเวลส์ในนี้ อย่างไรก็ดีอีกทฤษฎีหนึ่งที่ผมชอบมากคือเชื่อกันว่ามันคือปลาสเตอร์เจียน” Adrian Shine ผู้อำนวยการโปรเจคล็อกเนสส์กล่าวกับ The Skeptic “ทั้งสองทฤษฎีนี้ดูเป็นไปได้มากกว่าที่จะมีสัตว์ประหลาดซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนอยู่ในนั้น”
นั่นแปลว่าดีเอ็นเอจากสิ่งแวดล้อมเปล่าประโยชน์?
ไม่เสียทีเดียว งานวิจัยของ Gemmell ที่รวบรวมเอาระบบนิเวศทั้งหมดของทะเลสาบเนสส์นั้นมีประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่าพวกเขาจะค้นพบอะไรก็ตาม ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ของปลาแซลมอนต่างถิ่นที่รุกรานเข้ายังทะเลสาบเนสส์ ซึ่งข้อมูลจาก eDNA จะมีส่วนอย่างมากในการติดตามพวกมัน
นอกจากนั้นการวิจัยครั้งนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ถึงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์นี้ไปในตัว ให้ผู้คนได้รู้จักกับดีเอ็นเอที่หลงเหลือในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ว่ามันคืออะไรและมีความสำคัญแค่ไหนในวงการวิทยาศาสตร์
เรื่อง มิคาเอล เกรสโค
อ่านเพิ่มเติม