ปิกาจู โปเกมอน ที่โด่งดังที่สุดในโลกโปเกมอน ภาพจากภาพยนตร์ “Pokemon Detective Pikachu” เล่าเรื่องราวการผจญภัยเพื่อช่วยกันคลี่คลายปริศนาของปิกาจูยอดนักสืบกับคู่หูที่เป็นมนุษย์
ขอบคุณภาพจาก The Pokémon Company/Warner Bros. Pictures
เหตุใดนักวิทย์ไม่ปลื้มคำว่า “วิวัฒนาการ” ในโลก โปเกมอน ?
มันคงดีไม่น้อยถ้าได้อยู่ในโลกของ โปเกมอน แบบนั้นบ้าง นี่คือความรู้สึกของใครหลายคนหลังชมตัวอย่างภาพยนตร์ “Pokemon Detective Pikachu” ที่มีกำหนดเข้าฉายในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 โดยเฉพาะบรรดาแฟนๆ โปเกมอนที่แทบจะอดใจรอไม่ไหว เมื่อได้เห็นมอนสเตอร์ที่พวกเขารู้จักมานานหลายปีเคลื่อนไหวไปมาราวกับมีชีวิตจริงๆ
ก่อนจะโด่งดังและได้รับความนิยมไปทั่วโลกเช่นวันนี้ จุดเริ่มต้นของโลกโปเกมอนมาจากความหลงใหลการจับแมลงในวัยเด็กของซาโตชิ ทาจิริ (Satoshi Tajiri) ด้วยไอเดียที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้แมลงที่เขาสะสมออกมาต่อสู้กันได้เหมือนในภาพยนตร์ไซไฟ เมื่อเติบโตขึ้นซาโตชิหลงใหลในความสนุกของการเล่นวิดีโอเกมส์ ต่อมาบริษัทนินเทนโดประกาศหาไอเดียสร้างเกมส์ใหม่ที่ต้องโด่งดังและได้รับความนิยมไปทั่วบ้านทั่วเมือง ซาโตชิเสนอไอเดียนี้ร่วมกับเค็น ซุงิโมะริ (Ken Sugimori) ศิลปินนักออกแบบตัวการ์ตูน ในตอนแรกเกมส์มีชื่อว่า Capsule Monster และต่อมาถูกเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Pocket Monster เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น หรือชื่อย่อว่า โปเกมอน หลังเปิดตัวครั้งแรกในปี 1996 พร้อมกับเกมส์บอยรุ่นใหม่ที่พกพาออกไปเล่นนอกบ้านได้ โปเกมอนได้รับความนิยมอย่างมาก และยังคงประสบความสำเร็จมาจนปัจจุบัน
อะไรทำให้โปเกมอนเป็นที่นิยมไปทั่วโลกได้ขนาดนี้? ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “Psy-Q เชิงอรรถจิตวิทยา” เขียนโดย กิติกร มีทรัพย์ นักจิตวิทยาระบุว่า เพราะรูปแบบของเกมโปเกมอนสอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก ในแง่ของความต้องการเป็นเจ้าของหรือจัดการกับทรัพย์สมบัติของตนเอง นอกจากนั้นในการเล่นเกมโปเกมอนยังให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของเห็นพัฒนาการและการเจริญเติบโต เมื่อโปเกมอนตัวนั้นๆ เติบโตจนมีเลเวลตามที่กำหนดจะเกิดการ “วิวัฒนาการ” ขึ้น (Evolution) รูปลักษณ์ของโปเกมอนชนิดนั้นๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังมีความสามารถที่เพิ่มขึ้นมา
ทว่าในความเป็นจริง ทฤษฎีวิวัฒนาการในสิ่งมีชีวิตมีหลักการและองค์ประกอบที่ลึกซึ้งกว่าแค่การเปลี่ยนรูปลักษณ์ในเกมมาก หากเทรนเนอร์ในโลกของโปเกมอนต้องการที่จะพัฒนามอนสเตอร์ของพวกเขาให้เก่งกาจขึ้นนั้น การวิวัฒนาการจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาหลายชั่วรุ่นเลยทีเดียวกว่าปิกาจูจะกลายมาเป็นไรจูได้ เมื่อไม่มีหินสายฟ้าคอยช่วย
เข้าใจวิวัฒนาการ
“ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา” ประโยคนี้ใช้อธิบายได้ดีว่าทำไมทั้งพืชและสัตว์ในอดีตจึงมีความแตกต่างจากปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกมันสูญพันธุ์ ในขณะที่อีกส่วนก็วิวัฒนาการมาเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ด้านชีววิทยาให้ความหมายไว้ว่าวิวัฒนาการคือ “การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในประชากรของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง” ฉายภาพให้เห็นมากขึ้นว่ากว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการสั่งสมลักษณะทางพันธุกรรม
ทฤษฎีของชอง ลามาร์ก (Jean Lamark) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสมองว่า ลักษณะของสิ่งมีชีวิตจะผันแปรไปตามสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่เรียก “กฎของการใช้และไม่ใช้” ดังนั้นอวัยวะที่ใช้งานบ่อยๆ จึงขยายใหญ่ขึ้น และในทางกลับกันอวัยวะที่ไม่ค่อยได้ใช้จะถูกลดขนาดลง โดยลักษณะดังกล่าวนี้สามารถถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ ต่อมากระบวนการวิวัฒนาการถูกอธิบายให้เห็นเป็นภาพชัดเจนมากขึ้นด้วยทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาผู้เดินทางไปกับเรือสํารวจบีเกิลของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อทำแผนที่ชายฝั่งอเมริกาใต้
ดาร์วินพบว่าต่อให้เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันก็ตาม แต่ไม่มีสัตว์คู่ไหนที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ ตัวหนึ่งอาจมีช่วงขาที่ยาวกว่า ในขณะที่อีกตัวก็อาจมีช่วงคอที่ยาวกว่า เมื่อถือกำเนิดขึ้นแล้วสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และสืบพันธุ์มีลูกหลาน ทว่ามีเพียงแค่สิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมกับธรรมชาตินั้นๆ ที่มีชีวิตรอดพอที่จะสืบเผ่าพันธุ์ กลไกดังกล่าวเรียก “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ”
วิดีโอกราฟิกแสดงตัวอย่างวิวัฒนาการของวาฬจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกมาเป็นยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเล
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “The Origin of Species” เขายกตัวอย่างสุนัขป่าในพื้นที่หนึ่งที่ล่ากวางเป็นอาหาร ต่อมาเกิดความเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ประชากรกวางลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว สุนัขป่าเหล่านั้นต้องเผชิญกับแรงกดดันเรื่องอาหาร นั่นหมายความว่าสุนัขป่าตัวที่มีพละกำลังมากที่สุด กล้ามเนื้อแข็งแรงและรวดเร็วที่สุดจะถูกเก็บรักษาหรือคัดเลือกไว้โดยธรรมชาติ ส่วนตัวที่เชื่องช้าก็จะอดอาหารจนอ่อนแอ ล้มป่วย หรือตาย หมดโอกาสสืบพันธุ์ หรือในทางกลับกันมันอาจล่าเหยื่ออื่นแทน
ในมุมของเหยื่อ กวางตัวที่มีขายาวกว่าก็สามารถหนีเอาตัวรอดจากสุนัขป่าได้มากกว่ากวางที่มีช่วงขาสั้น กวางเหล่านี้จึงเติบโตออกลูกหลาน และลักษณะของช่วงขาที่ยาวนี้จึงถูกส่งต่อไปยังลูกๆ ด้วยเช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไปกวางที่สืบสายเลือดจากบรรพบุรุษกวางขายาวจึงสะสมลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างจากกวางเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อความต่างมีมากพอก็จะเกิดเป็นกวางสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่สามารถกลับไปผสมพันธุ์กับกวางสายพันธุ์เดิมได้อีก
แล้วอะไรคือปัจจัยที่กระตุ้นให้กวางขายาวตัวแรกถือกำเนิดขึ้น? นักวิทยาศาสตร์แบ่งประเภทของปัจจัยที่ส่งผลให้สัตว์ชนิดนั้นๆ เกิดกลไกทางวิวัฒนาการขึ้นเป็น 2 ประเภท
1 การกลายพันธุ์ของยีน – เช่น ยีน A ที่เปลี่ยนไปเป็นยีน a ส่งผลให้ในรุ่นถัดๆ มามีความถี่ของยีน A ลดลง ในขณะที่ยีน a ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การกลายพันธุ์ของม่านตาสีฟ้าที่เกิดขึ้นในบรรพบุรุษมนุษย์เมื่อ 6,000 – 10,000 ปีก่อน และได้แพร่กระจายยีนกลายพันธุ์ไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
2 การคัดเลือกทางธรรมชาติ – สภาพแวดล้อมทำหน้าที่คัดเลือกสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสม เช่น กระต่ายขนสีดำสามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้มากกว่ากระต่ายสีขาว เนื่องจากกลมกลืนไปกับทัศนียภาพ ผู้ล่าจึงมองเห็นได้ยาก เมื่อเวลาผ่านไปกระต่ายสีขาวที่ถูกล่ามากกว่าจึงมีประชากรลดลง หรือถูกคัดออกไปในที่สุด หากกระต่ายสีขาวไม่ปรับตัววิวัฒนาการขึ้นเพื่อเอาตัวรอด
นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว การอพยพย้ายถิ่นฐานเองก็กระตุ้นให้เกิดกลไกทางวิวัฒนาการเช่นกัน ยกตัวอย่าง ประชากร Aเคลื่อนย้ายไปอาศัยรวมกับประชากร B เมื่อเวลาผ่านไปความถี่ของยีนที่ทั้งสองกลุ่มมีจึงเปลี่ยนแปลงไป ในประชากรรุ่นถัดไปจะมีการสูญเสียยีนบางส่วน และรับยีนใหม่เข้ามา ในรุ่นถัดๆ ไปของประชากร A และ B ความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างทั้งคู่จะมีน้อยลงเรื่อยๆ จนเปรียบเสมือนเป็นประชากรกลุ่มเดียวกัน
รูปแบบของกระบวนการเกิดวิวัฒนาการยังแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบได้แก่ Cladogenesis เป็นการวิวัฒนาการที่ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตใหม่แยกออกจากสิ่งมีชีวิตเดิมเป็นสองสาย หรือมากกว่า ก่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้น
Anagenesis เป็นการวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ในสายเอง โดยเกิดสายพันธุ์ใหม่แทนที่สายพันธุ์เดิม
Statis เป็นการวิวัฒนาการที่เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ทั้งยังไม่ได้แยกสายออกมาเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่
Extinction เป็นการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ และถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการ
วิวัฒนาการในโปเกมอนคือ…
จากองค์ความรู้ด้านวิวัฒนาการเบื้องต้นคงพอให้คุณผู้อ่านมองเห็นภาพว่า สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเปลี่ยนแปลงของปิกาจูไปเป็นไรจูนั้นไม่ใช่วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ถ้าเช่นนั้นมันคืออะไร?
การเปลี่ยนสัณฐาน หรือ Metamorphosis คือกระบวนการที่มีความใกล้เคียงที่สุด กระบวนการนี้พบได้ในแมลงและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบางชนิด มันคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกายหลังคลอดหรือฟักออกจากไข่แล้ว และเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด กระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อสัตว์นั้นๆ ได้รับอาหารเพียงพอและถึงช่วงวัยที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของหนอนไปสู่ดักแด้ และกลายเป็นผีเสื้อในที่สุด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เกิดในระดับเซลล์ และต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่ากระบวนการจะเสร็จสมบูรณ์ ส่วนในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำก็เช่น การเปลี่ยนแปลงจากลูกอ๊อดไปเป็นกบ เซลล์ในร่างกายจะค่อยๆ แบ่งตัวสร้างขาของมันขึ้น ในขณะที่หางหดสั้นลง
วิดีโอไทม์แลปส์แสดงกระบวนการ Metamorphosis แบบสมบูรณ์จากหนอนไปเป็นผีเสื้อ
ทว่าความแตกต่างสำคัญระหว่างกระบวนการ Metamorphosis ในสิ่งมีชีวิต กับการเปลี่ยนร่างของโปเกมอนก็คือ “ระยะเวลา” กว่าดักแด้จะกลายเป็นผีเสื้อต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ แต่การเปลี่ยนร่างของโปเกมอนใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที (แถมขนาดตัวยังใหญ่มหึมาขึ้น) พวกมันทำได้อย่างไรกัน?
มีทฤษฎีหนึ่งถูกหยิบยกมาอธิบาย มันคือ “กฎทรงมวลของสสาร” (law of conservation of mass) หมายความว่า สสารต่างๆ นั้นคงเดิมตลอดมา ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่หรือทำลายได้ และประกอบกันอยู่ในรูปแบบต่างๆ ด้วยองค์ประกอบของอะตอมที่แตกต่างกัน เช่น ไฮโดรเจน 2 อะตอม และออกซิเจน 1 อะตอมเชื่อมต่อกันด้วยพันธะเคมีกลายเป็นน้ำ แต่หากเป็นคาร์บอน 1 อะตอม และไฮโดรเจนอีก 4 อะตอมก็จะได้มีเทนแทน ดูเหมือนว่าในตอนที่โปเกมอนเปลี่ยนร่าง พวกมันมีความสามารถบางอย่างในการซึมซับอะตอมและธาตุต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อนำมาเปลี่ยนองค์ประกอบสร้างเป็นส่วนประกอบของร่างกายพวกมันใหม่ได้
หลักการเดียวกันนี้ยังเคยถูกนำมาใช้อธิบายว่าโปเกมอนเข้าไปอยู่ในมอนสเตอร์บอลได้อย่างไร ทั้งๆ ที่พวกมันตัวใหญ่กว่าลูกบอลมาก ด้วยวิธีเดียวกันคือการเปลี่ยนแปลงอะตอม หมายความว่าในลูกบอลลูกนั้นโปเกมอนยังคงมีมวลทุกอย่างเหมือนเดิม เพียงจัดเรียงต่างออกไป
แต่อันที่จริง ด้วยระยะเวลาหลายปีที่ทางผู้ผลิตเกมใช้คำว่าวิวัฒนาการมาตลอด ประกอบกับความรักมากมายที่ผู้คนมีต่อโปเกมอน คงไม่ผิดอะไรนักที่จะใช้คำว่า “Evolution” กันต่อไป อย่างน้อยก็เข้าใจง่ายกว่าคำว่า “Metamorphosis” สิ่งสำคัญคืออย่าลืมว่าความหมายที่แท้จริงของวิวัฒนาการคืออะไร ตลอดจนความสำคัญของมันที่เปลี่ยนเราจากไพรเมตห้อยโหนต้นไม้ให้มานั่งอ่านบทความนี้ได้
เรียนรู้เกี่ยวกับ law of Conservation of Mass เพิ่มเติมได้ที่วิดีโอด้านล่าง
อ่านเพิ่มเติม
ตามล่าหาดีเอ็นเอสัตว์ประหลาด เนสซี
แหล่งข้อมูล
วิวัฒนาการของสัตว์ โดย ดร.นิตยา เลาหะจินดา
วิวัฒนาการความเป็นมาและการกำเนิดสิ่งมีชีวิต โดย พัฒนี จันทรโรทัย
แนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
การเจริญเติบโตหลังระยะเอ็มบริโอของสัตว์
ซาโตชิ นักสะสมแมลงป่า [จุดเริ่มต้น Pokémon G0]
Pokemon Evolution (Some Actual Science)