“10 year challenge” สิบปีที่ผ่านมากับสปีชีส์ที่หายไป

“10 year challenge” สิบปีที่ผ่านมากับสปีชีส์ที่หายไป

ขอบคุณภาพของเสือพูม่าตะวันออกจากวิกิพีเดีย

 

“10 year challenge” สิบปีที่ผ่านมากับสปีชีส์ที่หายไป

ไม่แน่ชัดว่าใครเป็นคนริเริ่ม “10 year challenge” แคมเปญบนโลกออนไลน์ที่ขณะนี้กำลังได้รับความนิยม และเป็นกระแสสุดๆ ทั้งในไทย และในต่างประเทศ ง่ายแสนง่ายเพียงนำภาพถ่ายปัจจุบัน และภาพถ่ายของอดีตเมื่อสิบปีก่อนมาวางจับคู่เปรียบเทียบกัน เราจึงมีโอกาสได้เห็น “10 year challenge” ของบรรดาคนดัง และเพื่อนฝูงบนโลกโซเชียลที่ทยอยเผยแพร่กันออกมาเรื่อยๆ นัยหนึ่งชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงตลอดทศวรรษ ส่วนอีกนัยสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เรารู้จักกันมานานเป็นสิบปี

สิบปีนั้นนานพอที่หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลง และในที่นี้รวมไปถึงธรรมชาติด้วยเช่นกัน ภาพถ่ายมากมายของภูเขาน้ำแข็ง, แนวปะการัง และป่าไม้ที่หดหายจึงถูกผนวกรวมอยู่ในแคมเปญนี้ด้วย ตอกย้ำถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 วารสาร Biological Conservation เผยแพร่รายงานน่าสนใจ เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสายพันธุ์นกถึง 8 สายพันธุ์ ที่น่าจะสูญพันธุ์ไปตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก BirdLife International องค์กรไม่แสวงผลกำไร หลังทำการศึกษาวิจัยนาน 8 ปี กับนกที่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์จำนวน 51 สปีชีส์ ทีมวิจัยพบว่ามีนกจำนวน 4 สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนอีก 4 สายพันธุ์กำลังจะเผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือนกสปิกซ์มาคอว์ (Spix’s macaw) นกที่ถูกใช้เป็นต้นแบบในการสร้างตัวละครนกแก้วสีน้ำเงิน ตัวละครหลักในภาพยนตร์ Rio เมื่อปี 2011 พวกมันสูญพันธุ์ไปหมดแล้วในธรรมชาติ แต่ยังคงเหลืออีกราว 70 ตัว ในกรงเลี้ยง

10 year challenge
ภาพนกสปิกซ์มาคอว์ (Spix’s macaw)
ขอบคุณภาพจาก https://www.birdlife.org/worldwide/news/spixs-macaw-heads-list-first-bird-extinctions-set-be-confirmed-decade

สาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้บรรดาสัตว์นานาชนิดต้องสูญพันธุ์คือ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจของบริษัทใหญ่ที่ต้องการพื้นที่ป่า ไปจนถึงการทำลายโดยชาวบ้านท้องถิ่นเอง กองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประมาณการณ์ไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2001 – 2012 ผืนป่าแอมะซอนสูญสิ้นพื้นที่สีเขียวไปแล้วราว 170,000 ตารางกิโลเมตร ด้านนักวิทยาศาสตร์เผย หากผืนป่าแอมะซอนยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง และเสียพื้นที่ไป 40% จากทั้งหมด เชื่อกันว่าระบบนิเวศของป่าแอมะซอนจะไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้อีก

ทั้งนี้มีบางกรณีที่สัตว์บางชนิดซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพวกมันสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่กลับพบประชากรของพวกมันในธรรมชาติราวกับปาฏิหาริย์ เช่น เมื่อปี 2017 มีรายงานพบเห็นลิงซากิ Vanzolini เป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปี ข่าวดีเช่นนี้ต้องอาศัยการศึกษาวิจัย และลงพื้นที่เป็นเวลานาน กว่าจะสามารถยืนยันการสูญพันธุ์ได้ และสำหรับนกเพียงแค่ 8 สายพันธุ์ที่หายไปอาจดูเล็กน้อย ทว่ากลับส่งผลกระทบต่อผืนป่ามากกว่าที่คิด เพราะนกคือผู้ช่วยกระจายพันธุ์เมล็ดพืชและเกสรดอกไม้ เมื่อจำนวนประชากรนกในป่าลดน้อยลง นั่นหมายความถึงโอกาสที่ผืนป่าจะฟื้นคืนกลับมาก็จะลดน้อยถอยลงตามไปด้วย และไม่ใช่แค่นกเท่านั้น รายนามเหล่านี้คือบรรดาสัตว์อื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา น่าเศร้าที่ “10 year challenge” ของพวกมันมีเพียงรูปอดีต ปราศจากรูปปัจจุบัน…

 

เสือลายเมฆฟอร์โมซา (Formosan Clouded Leopard)

10 year challenge
ภาพเขียนของเสือลายเมฆฟอร์โมซา (Formosan Clouded Leopard) ในปี 1862
ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย

เสือลายเมฆสายพันธฺุ์เฉพาะที่มีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะไต้หวันเท่านั้น ทว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา การล่าและการรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันโดยมนุษย์ส่งผลให้จำนวนประชากรของเสือลายเมฆฟอร์โมซาลดน้อยลงจนไม่ถูกพบเห็น และในที่สุดพวกมันก็ถูกประกาศสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2013 หลังความพยายามตลอด 13 ปีในการค้นหาเสือชนิดนี้ในธรรมชาติล้มเหลว

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ทางไต้หวันยังคงพยายามพิจารณาสถานะของพวกมันใหม่อีกครั้ง ด้วยความหวังว่าอาจจะยังมีเสือลายเมฆฟอร์โมซาหลงเหลืออยู่ในผืนป่า ในปี 2014 มีรายงานวิจัยว่าหากทดลองนำเสือลายเมฆสายพันธุ์ญาติๆ ของมันที่มีถิ่นอาศัยในเอเชียมาปล่อยยังผืนป่าของไต้หวัน อาจช่วยสนับสนุนให้เสือพันธุ์พื้นเมืองเพิ่มประชากรมากขึ้นได้ ในกรณีที่พวกมันยังคงหลงเหลือ

 

เต่ายักษ์เกาะพินตา (Pinta Tortoise)

10 year challenge
“Lonesome George” เต่ายักษ์เกาะพินทาตัวสุดท้าย
ขอบคุณภาพจาก https://www.learnaboutnature.com/animals/tortoises/pinta-island-tortoise/

“Lonesome George” คือฉายาของเต่ายักษ์สายพันธุ์เกาะพินตา ในหมู่เกาะกาลาปากอสตัวสุดท้าย มันตายลงเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2012 ในอุทยานแห่งชาติกาลาปากอส หลังใช้ชีวิตมามากกว่า 100 ปี โดยผู้ดูแลมันมากกว่า 40 ปี เป็นผู้พบร่างของมันนอนตายอยู่ในบ่อเลี้ยง ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ความพยายามจับคู่ให้มันผสมพันธุ์กับเต่าเพศเมียชนิดใกล้เคียงกันจากเกาะอิสซาเบลลา ทว่าไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นความตายของมันจึงหมายถึงการสูญสิ้นสายพันธุ์เต่ายักษ์พินตาไปจากโลกด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ยังคงมีความหวังเล็กๆ เมื่อในปีเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์พบประชากรเต่ายักษ์อย่างน้อย 17 ตัว ในบริเวณหมู่เกาะกาลาปากอส ที่มีพันธุกรรมคล้ายกับ George เป็นไปได้ว่าเต่ายักษ์พินตาอาจจะยังคงหลงเหลืออยู่บนโลกนี้

 

ค้างคาวเกาะคริสต์มาส (Christmas Island Pipistrelle)

10 year challenge
ค้างคาวเกาะคริสต์มาส
ขอบคุณภาพจาก https://www.iucnredlist.org/species/136769/518894

รายงานจากไอยูซีเอ็น สายพันธุ์ของค้างคาวขนาดเล็กที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะแค่บนเกาะคริสต์มาสของออสเตรเลียนี้ เดิมมีสถานะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ จนกระทั่งทางเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียออกมาประกาศการสูญพันธุ์เองในปี 2009 โดยมีสาเหตุมาจากโรคระบาดที่ถูกนำมาจากสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น อันที่จริงตลอด 20 ปีที่ผ่านมาก่อนการประกาศ นักวิทยาศาสตร์เองก็ทราบถึงจำนวนประชากรของพวกมันที่ลดลงมาเรื่อยๆ ทว่ากฎระเบียบที่ยุ่งยากของหน่วยงาน และรัฐบาลช่วงเวลานั้นส่งผลให้ค้างคาวเกาะคริสต์มาสไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร ทั้งนี้การสูญพันธุ์ดังกล่าว ยังถือว่าเป็นการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าครั้งแรกในรอบ 60 ปี ของทวีปออสเตรเลียอีกด้วย

รายงานจากไอยูซีเอ็นที่เคยเผยเมื่อปี 2004 ระบุว่าอัตราการสูญพันธุ์โดยมนุษย์กำลังพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว 100 – 1,000 เท่า เมื่อเทียบกับการสูญพันธุ์ในครั้งก่อนๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากปัจจัยหลากหลายตั้งแต่การสิ้นสุดของยุคน้ำแข็ง, การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในมหาสมุทร, อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ไปจนถึงการพุ่งชนโดยอุกกาบาต

 

แรดดำตะวันตก (West African Black Rhinoceros)

10 year challenge
กะโหลกศีรษะของแรดดำตะวันตกที่ถูกยิงตายเมื่อปี 1911
ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย

แรดดำตะวันตกคือสายพันธุ์ย่อยของแรดดำ ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนาของแอฟริกากลาง ภัยคุกคามจากการล่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรของพวกมันอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์รายงาน ตั้งแต่ปี 1960 – 1995 มีแรดดำตำวันตกถูกฆ่าไปมากถึง 98% และในที่สุดพวกมันก็ถูกประกาศสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการในปี 2011 หลังการลงพื้นที่สำรวจแล้วไม่พบแรดดำตะวันตกหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติ

ปัจจัยสำคัญมาจากความนิยมในนอแรด ที่เชื่อกันว่ามีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรแผนจีน ส่งผลให้นอแรดมีราคาสูงมากในตลาดเอเชีย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ทางแอฟริกาจะมีมาตรการป้องกัน และอนุรักษ์ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งวงจรการล่าสัตว์แบบผิดกฎหมายที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องได้ ปี 2018 แรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายในโลกตายลง หลังทุกข์ทรมานอย่างหนักจากอาการติดเชื้อที่ขาหลังด้านขวา เหลือเพียงแรดขาวเหนือสองตัวซึ่งเป็นตัวเมียทั้งคู่ สร้างความกังวลว่าสายพันธุ์นี้อาจเป็นสายพันธุ์ต่อไปที่จะเผชิญกับการสูญพันธุ์ในอนาคต หากเซลล์สืบพันธุ์ของตัวผู้ที่ถูกเก็บเอาไว้ ไม่สามารถผสมเทียมได้

 

เสือพูม่าตะวันออก (Eastern Cougar)

10 year challenge
ภาพเขียนเมื่อปี 1830 แสดงภาพเสือพูม่าตะวันออกกำลังล่าเหยื่อตามธรรมชาติ
ขอบคุณภาพจาก https://www.flickr.com/photos/internetarchivebookimages/14781856915/

สถานะการมีตัวตนของเสือพูม่าตะวันออกเป็นที่ถกเถียงมาโดยตลอด จนกระทั่งถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ เมื่อปี 2015 โดยสำนักประมงและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐฯ พวกมันเป็นสัตว์หากินกลางคืนที่มีฉายาว่า “แมวผี” จากความสามารถในการพรางตัวตามธรรมชาติที่ดีเยี่ยม นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงจากผู้ที่เชื่อว่าเสือพูม่าตะวันออกยังคงไม่สูญพันธุ์ ทั้งนี้ตลอดการลงพื้นที่สำรวจที่ผ่านมาพบร่องรอยหลายอย่าง แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่สามารถระบุถึงการมีอยู่ของเสือพูม่าชนิดนี้ได้ คาดกันว่าสาเหตุหลักมาจากการที่มนุษย์บุกรุกถิ่นอาศัยของมันเพื่อตั้งถิ่นฐาน ทว่าเจ้าแมวใหญ่ที่สามารถรอดพ้นการสูญพันธุ์ของสัตว์ตระกูลแมวในช่วงท้ายของยุคไพลโตซีนในอเมริกาเหนือมาได้นี้ยังไม่สูญสิ้นไปเสียทีเดียว ปัจจุบันยังคงหลงเหลือเสือพูม่าอีกหลายสายพันธุ์ที่กำลังได้รับการปกป้อง ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ และในอเมริกาใต้

นับตั้งแต่ปี 1500 เป็นต้นมามีบันทึกสายพันธุ์สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วราว 869 ชนิด จากทั้งหมดของความหลากหลายราว 5 – 30 ล้านสายพันธุ์ทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 3% เท่านั้นที่ได้รับสถานะการอนุรักษ์อย่างจริงจัง

 

นกเป็ดผีอเลโอทรา (Alaotra Grebe)

แม้จะหน้าตาคล้ายเป็ด แต่อันที่จริงนกในวงศ์นกเป็ดผีเหล่านี้เป็นนกน้ำที่เป็นญาติกับนกฟลามิงโก สำหรับนกเป็ดผีสายพันธุ์อเลโอทรา พวกมันมีถิ่นอาศัยบนเกาะมาดากัสการ์ เอกลักษณ์คือปีกขนาดเล็กที่ไม่สามารถใช้บินเป็นระยะทางไกลๆ พวกมันมักใช้ชีวิตอยู่กับน้ำตลอดเวลา เพื่อจับปลาเป็นอาหาร ชื่อสามัญว่า “นกเป็ดผี” มาจากพฤติกรรมที่มักผลุบหายลงไปใต้น้ำอย่างรวดเร็ว ก่อนจะไปโผล่อีกจุดหนึ่งซึ่งมักอยู่ห่างออกไปรวดเร็วราวกับผี นักวิทยาศาสตร์รายงานการพบเห็นนกเป็นผีอเลโอทราครั้งสุดท้าย เมื่อทศวรรษ 1980 ก่อนจะประกาศการสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการในปี 2010 สาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การถูกจับด้วยแหโดยชาวประมงระหว่างการหาปลา ไปจนถึงถูกมุ่งเป้าล่าเป็นอาหาร

ในปี 2010 ไอยูซีเอ็นเผยรายชื่อของสิ่งมีชีวิตจำนวน 208 สายพันธุ์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะสูญพันธุ์ไปแล้ว ในจำนวนนี้มีบางชนิดที่ไม่ถูกพบเห็นในธรรมชาติมากกว่า 10 ปี และมีอีกหลายหมื่นสายพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคาม ในการประกาศนี้รวมถึงสัตว์ที่มีสถานะล่อแหลมเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่าง อุรังอุตังบอร์เนียว, ไพกา, นากยักษ์, เสือดาวอามูร์, เฟอเรทเท้าดำ, แรดสุมาตรา, แร้งเทาหลังขาว, ตัวนิ่ม, ซาวลา และ โลมาวากีตา เหล่านี้คือรายชื่อของสัตว์ที่อาจกลายเป็นเรื่องเศร้าในแคมเปญ “10 year challenge” แห่งอนาคต มิรวมถึงการสูญเสียชนิดพันธุ์พืช, พื้นที่ป่า, ธารน้ำแข็ง ไปจนถึงอุณหภูมิโลก, ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะสิบปีที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นมากจริงๆ

 

อ่านเพิ่มเติม

โปรดรู้จัก นกใกล้สูญพันธุ์

 

แหล่งข้อมูล

These 8 Bird Species Have Disappeared This Decade

10 Animals That Have Been Declared Extinct in the Last Decade

The only 10 year challenge we should be talking about.

Top 10 Species That May Become Extinct Within A Decade

 

Recommend