แม้จิงโจ้จะเป็นสัตว์ที่ดูน่ารัก จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศออสเตรเลียสำหรับมุมมองชาวต่างชาติ แต่สำหรับคนออสเตรเลีย มันคือวายร้ายที่ก่อให้เกิดปัญหาการทำลายผลผลิตการเกษตรและอุบัติเหตุทางถนน
จนเมื่อเดือนตุลาคม 2019 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ที่รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ประกาศให้นักล่าที่ได้รับอนุญาตสามารถล่าจิงโจ้เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ในธุรกิจที่ได้รับอนุญาตได้ โดยนักล่าเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้ล่าจิงโจ้ในพื้นที่และจำนวนที่กำหนด โดยการกำหนดที่ชัดเจนจะทำให้การเก็บเกี่ยวจิงโจ้เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่กระทบต่อสวัสดิภาพของสัตว์อื่นๆ
โดยทางรัฐฯ หวังว่าโครงการนี้จะสามารถจัดการเรื่องประชากรจิงโจ้ ลดปริมาณชยะที่เกิดจากจิงโจ้ และช่วยเกษตรกรที่มองว่าจิงโจ้เป็นศัตรูพืช
ปัญหาเรื่องจิงโจ้บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของคนนั้นมีมานาน โดยสาเหตุหลักมาจากการเข้ามาหาอาหาร ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับจิงโจ้อย่างใหญ่หลวง และนี่คือเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักของเผ่าพันธุ์มนุษย์กับสัตว์ชนิดนี้
จิงโจ้ : สัตว์สัญลักษณ์หรือสัตว์รบกวน
ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับการตัดสินใจอันยากลำบากในการจัดการกับสัตว์สัญลักษณ์อันเป็นที่รักอย่าง จิงโจ้ ขณะที่มีชาวออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยมองว่า พวกมันก่อปัญหาและเป็นสัตว์รบกวน
เรื่อง เจเรมี เบอร์ลิน
ภาพถ่าย สเตฟาโน อุนแตร์ทีแนร์
แม่ จิงโจ้ และลูก กระโดดข้ามถนนเมนสตรีตไปเล็มหญ้าในพงหญ้ารกๆใกล้ปั๊มน้ำมัน ตอนนั้นเป็นช่วงโพล้เพล้ของฤดูใบไม้ผลิที่อากาศเย็นสบายในไวต์คลิฟส์ เมืองพิลึกพิลั่นที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำเหมืองโอปอหรือโอปอลในรัฐนิวเซาท์เวลส์ คนท้องถิ่นใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เหมือนพวกฮอบบิต กล่าวคืออาศัยอยู่ในโพรงที่มีระบบระบายอากาศ ปล่องเหมืองหลายพันปล่องกระจายทั่วพื้นดินที่แห้งแล้ง แต่จิงโจ้เทาพันธุ์ตะวันออกสองตัวเป็นภาพที่แปลกตาที่สุด
“ผมไม่เคยเห็นพวกมันเข้ามาในเมืองอย่างนี้เลยครับ” จอร์จ วิลสัน ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยา ผู้ศึกษาจิงโจ้มานานห้าทศวรรษ กล่าวและเสริมว่า “ผมสงสัยว่าพวกมันเป็นสัตว์เลี้ยงของใครหรือเปล่า”
นักท่องเที่ยวชี้ชวนกันมองอย่างประหลาดใจ เด็กๆส่งเสียงอื้ออึง พอดวงอาทิตย์เริ่มตก จิงโจ้ หรือที่ชาวออสเตรเลียเรียกสัตว์จอมกระโดดนี้สั้นๆว่า “รู” (roo) ก็ออกไปจากเมือง
ออสเตรเลียมีความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับสัญลักษณ์ประจำชาติ จิงโจ้เป็นชนิดพันธุ์ที่มีชื่อเสียงและมีเสน่ห์ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก เป็นสัญลักษณ์กระโดดได้และยังมีชีวิตอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของออสเตรเลีย จิงโจ้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางวิวัฒนาการ พวกมันเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ประเภทเดียวที่กระโดด
และชาวออสเตรเลียภาคภูมิใจในจิงโจ้อย่างเห็นได้ชัด จิงโจ้เป็นดาวเด่นในภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ บทกวี และหนังสือเด็ก ภาพของพวกมันปรากฏบนเงินตรา ตราสัญลักษณ์และโล่ สายการบินพาณิชย์ เรือของกองทัพเรือ แมสคอตกีฬาโอลิมปิก และชุดนักกีฬา คงไม่มีสัตว์ชนิดใดและประเทศใดในโลกที่ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของกันและกันมากกว่านี้อีกแล้ว
แต่จากสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาล ออสเตรเลียมีประชากรจิงโจ้มากกว่าคนสองเท่า และชาวออสเตรเลียจำนวนมากมองว่าจิงโจ้เป็นสัตว์รบกวน ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ซึ่งมีที่ดินของตนเองบอกว่า จิงโจ้ที่ประเมินว่ามีราว 50 ล้านตัวในประเทศสร้างความเสียหายแก่พืชผล และแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยกับปศุสัตว์
อุตสาหกรรมประกันภัยของออสเตรเลียชี้ว่า จิงโจ้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุรถยนต์ชนสัตว์มากกว่าร้อยละ 80 จากที่มีรายงานปีละกว่า 20,000 ครั้ง ในแถบตอนในของประเทศที่มีผู้คนอาศัยอยู่เบาบางและแห้งแล้ง มีความเชื่อร่วมกันว่า จำนวนจิงโจ้เพิ่มขึ้นจนถึง “ขั้นโรคระบาด” เมื่อไม่มีนักล่าประจำถิ่น เช่น สุนัขป่าดิงโกและพรานชาวอะบอริจิน จึงเกิดแนวคิดว่า การฆ่าจิงโจ้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยา
เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท อุตสาหกรรมผลิตเนื้อและหนังจิงโจ้เชิงพาณิชย์ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนและควบคุมดูแล ส่งออกผลิตภัณฑ์มูลค่า 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2017 และจ้างแรงงานประมาณ 4,000 ตำแหน่ง ปัจจุบันมีการส่งออกเนื้อ ผืนหนัง และเครื่องหนังจากจิงโจ้ชนิดพันธุ์ที่ไม่ถูกคุกคามสี่ชนิด ได้แก่ จิงโจ้เทาพันธุ์ตะวันออก จิงโจ้เทาพันธุ์ตะวันตก จิงโจ้แดง และจิงโจ้วอลลารูธรรมดา ไปยัง 56 ประเทศ แบรนด์ระดับโลก เช่น ไนกี้ พูมา และอาดิดาส ซื้อหนังจิงโจ้ “เค-เลเทอร์” [ย่อมาจาก kangaroo leather] ที่ยืดหยุ่นและทนทานไปผลิตอุปกรณ์กีฬา ส่วนเนื้อซึ่งเคยขายเป็นอาหารสัตว์เป็นหลัก มีจำหน่ายในร้านขายของชำและภัตตาคารหรูมากแห่งขึ้นเรื่อยๆ
สี่ในแปดรัฐและดินแดนของออสเตรเลียบริหารการล่าจิงโจ้ตามโควตาในแต่ละปีสำหรับป้อนสู่อุตสาหกรรมนี้ ผู้สนับสนุนชี้ว่า เนื้อจิงโจ้ที่มีไขมันต่ำและโปรตีนสูงได้จากสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าแกะและปศุสัตว์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จอห์น เคลลี อดีตผู้อำนวยการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมจิงโจ้แห่งออสเตรเลีย กล่าวและเสริมว่า “การผลิตอาหารและเส้นใยจากสัตว์ที่ปรับตัวให้เข้ากับทุ่งหญ้าอันเปราะบางของออสเตรเลียเป็นความฉลาดอย่างเด่นชัดและยั่งยืน นักนิเวศวิทยาหลายคนจะบอกคุณว่า ไม่มีวิธีผลิตเนื้อแดงที่ถูกหลักมนุษยธรรมมากกว่านี้อีกแล้ว”
ผู้คัดค้านอุตสาหกรรมนี้เป็นคนกลุ่มน้อยที่เสียงดัง องค์กรสวัสดิภาพสัตว์ ผู้มีชื่อเสียงในสังคม และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆระบุว่า การฆ่าจิงโจ้นั้นไม่เพียงไร้มนุษยธรรม แต่ยังไม่ยั่งยืน และไม่จำเป็น พวกเขาบอกว่า แม้จะมีการถกเถียงกันมากเรื่องการประเมินประชากร แต่ “ขั้นโรคระบาด” ในทางชีววิทยาไม่น่าเป็นไปได้ ลูกจิงโจ้โตช้าและตายไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ประชากรจิงโจ้จึงขยายตัวได้เพียงร้อยละ 10 ถึง 15 ต่อปี และต้องอยู่ภายใต้สภาวะเหมาะสมที่สุด เท่านั้น
ดเวย์น แบนนอน-แฮร์ริสัน ชาวยูอินซึ่งเป็นชาวอะบอริจินกลุ่มหนึ่งในรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า แนวคิดที่ว่าจิงโจ้ กำลังทำลายประเทศนั้นช่างน่าขำ “พวกมันท่องไปบนแผ่นดินนี้มานานกว่าคนมาก” เขาบอกและเสริมว่า “สิ่งที่อยู่ที่นี่เป็นพันๆปีแล้วจะ ‘ทำลาย’ ประเทศได้อย่างไร ผมไม่เข้าใจเหตุผลในเรื่องที่ว่ามานั้นเลยครับ”
ชาวออสเตรเลียจะประนีประนอมทัศนคติที่ขัดแย้งกันเรื่องจิงโจ้ได้ไหม แนวคิดหนึ่งมีอยู่ว่า ถ้าฟาร์มปศุสัตว์หรือไร่ของเอกชนเป็นเจ้าของจิงโจ้ได้ พวกเขาจะปกป้องจิงโจ้โดยปฏิบัติต่อพวกมันในฐานะสินทรัพย์ สามารถให้อาหาร ให้เช่า เพาะพันธุ์ และคิดเงินพรานที่เข้ามาล่า พวกเขาแค่ต้องการสิ่งจูงใจที่จะทำ
“ถ้าคุณอยากอนุรักษ์อะไร คุณต้องสร้างมูลค่าให้มัน สัตว์ที่จัดเป็นสัตว์รบกวนไม่มีมูลค่าหรอกครับ” เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์รายหนึ่งกล่าว
การถ่ายโอนให้เอกชนยังช่วยลดแรงกดดันเรื่องปริมาณหญ้า ถ้าจิงโจ้มีมูลค่าสูงกว่าวัวหรือแกะ ชาวไร่จะเลี้ยงปศุสัตว์น้อยลง ซึ่งอาจดีต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนนี้ เจ้าของที่ดินจะร่วมมือกับอุตสาหกรรมจิงโจ้ในการสร้างแบรนด์ ทำตลาด และควบคุมคุณภาพ รัฐบาลจะมีบทบาทในการควบคุมดูแลและออกกฎระเบียบ
อีกด้านหนึ่ง ลุงแมกซ์ “ดูลูมุนมุน” แฮร์ริสัน ผู้เฒ่าชาวอะบอริจินวัย 82 ปี อธิบายความสัมพันธ์อันซับซ้อนที่ชาวออสเตรเลียพื้นเมืองมีกับจิงโจ้ ทั้งด้านวัฒนธรรม สังคม และการเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณที่นับย้อนกลับไปอย่างน้อย 50,000 ปี
ชาวออสเตรเลียพื้นเมืองกินจิงโจ้มาโดยตลอด แต่พวกเขาทำตามระเบียบที่เข้มงวด ลุงแมกซ์กล่าวว่า กฎหมายชนพื้นเมืองอนุญาตให้ล่าได้ แต่ตามฤดูกาลเท่านั้นและไม่ใช่ช่วงผสมพันธุ์ หรือทิ้งส่วนไหนให้เสียเปล่า ทุกส่วนของจิงโจ้ควรถูกใช้ประโยชน์ เนื้อสำหรับกินและแบ่งปัน เอ็นใช้ทำเส้นด้าย หนังใช้ทำเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นและกันน้ำ ส่วนขนใช้ทำกระเป๋าและเสื้อผ้า
ทั้งที่มีความสัมพันธ์กับจิงโจ้มายาวนาน ชาวออสเตรเลียพื้นเมืองกลับแทบไม่มีสิทธิออกความเห็นในเรื่องที่ประเทศของพวกเขาปฏิบัติต่อสัญลักษณ์ประจำชาติ แม้ชนพื้นเมืองจะไม่มีทัศนคติร่วมกัน เนื่องจากแต่ละเผ่ามีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมมากเกินไป แต่ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า การฆ่าจิงโจ้เป็นความกังวลใหญ่หลวง
ขณะนั่งอยู่ในสำนักงานที่มหาวิทยาลัยแมกควอรีในซิดนีย์ ผู้เฒ่ารูปร่างล่ำสันชาวโกเมอรอยชื่อ ฟิล ดังคัน บอกว่า ออสเตรเลียเป็นสถานที่ประหลาด เพราะเป็น “ประเทศเดียวที่กินตราแผ่นดินของตัวเอง”
เช่นเดียวกับลุงแมกซ์ เขาตกตะลึงกับการปฏิบัติต่อจิงโจ้ เขาบอกว่า “การกำจัดจิงโจ้กำลังขัดขวางความสามารถของเราในการสอนคนรุ่นต่อไปเรื่องความเชื่อมโยงกับประเทศของเรา กับสัตว์สัญลักษณ์ของเรา” ทางออกของเขานั้นเรียบง่าย นั่นคือ ให้คนกลุ่มแรกของออสเตรเลียตัดสินใจเรื่องการจัดการจิงโจ้ ถึงอย่างไรพวกเขาก็ทำสำเร็จมานับพันปีแล้ว “ถ้าคุณจะฆ่าจิงโจ้” ดังคันกล่าวและเสริมว่า “ก็ควรมีอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมนั้นควรเป็นเอกสิทธิ์ของชาวอะบอริจิน เราล่าจิงโจ้อย่างมีมนุษยธรรม ให้ใบอนุญาตเรา ให้เราทำเอง”
ขณะเดียวกัน ดังคันมีสารที่ตรงประเด็นกว่า “เมื่อนักท่องเที่ยวมาออสเตรเลีย พวกเขาต้องการกอดจิงโจ้ อุ้มโคอาลา และกระทบไหล่ชาวอะบอริจิน ทั้งสามอย่างเชื่อมโยงถึงกันในตำนานของเรา จงเข้าใจความเชื่อมโยงนั้น อย่ามาที่นี่เพื่อฆ่า ขอจงมาที่นี่เพื่อโอบอุ้ม”
อ่านเพิ่มเติม