ลิ่น : เหยื่อของการลักลอบล่าสัตว์ป่า

ลิ่น : เหยื่อของการลักลอบล่าสัตว์ป่า

ลิ่น : เหยื่อของการลักลอบล่าสัตว์ป่า

ลิ่น ทั้งหมดแปดชนิด ซึ่งสี่ชนิดอยู่ในแอฟริกาและสี่ชนิดอยู่ในเอเชีย ตกอยู่ในอันตรายจากการสูญพันธุ์โดยการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

ลิ่น ดูคล้ายอาร์มาดิลโลที่ลำตัวมีเกล็ด แต่พวกมันเป็นญาติใกล้ชิดกับหมีและสุนัขมากกว่า ลิ่นจัดอยู่ในอันดับทางอนุกรมวิธานของตัวเอง และหากลิ่นหายไป จะไม่มีสัตว์ใดเหมือนพวกมันเหลืออยู่บนโลกอีก

การค้าระหว่างประเทศซึ่งลิ่นเอเชียสี่ชนิดถูกห้ามมาตั้งแต่ปี 2000 และต่อมาในปี 2007 การห้ามค้าลิ่นทั้งแปดชนิดระหว่างประเทศก็มีผลบังคับใช้ โดยรัฐบาล 183 ประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) อันเป็นสนธิสัญญาควบคุมการค้าสัตว์ป่าและอวัยวะข้ามพรมแดน ให้สัตยาบันรับรอง

การวิเคราะห์ขององค์กรเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าแทรฟฟิก (Traffic) ชี้ว่า อย่างน้อย 67 ประเทศและดินแดนบนหกทวีป มีส่วนเกี่ยวข้องในการค้าลิ่น แต่การค้าเกล็ดลิ่นปริมาณมากที่สุดมีต้นทางในแคเมอรูน ไนจีเรีย เซียร์ราลีโอน และยูกันดา และส่วนใหญ่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศจีน

ลิ่น
ลิ่นถูกลักลอบซื้อขายทั้งเกล็ดและเนื้อ  ซึ่งบางคนถือว่าเป็นอาหารชั้นเลิศ ที่อินโดนีเซียเมื่อเดือนเมษายน ปี 2015 ซากลิ่นแช่แข็งกว่า 4,000 ตัว ตลอดจนเกล็ดและลิ่นเป็นๆเกือบ 100 ตัว ถูกตรวจพบในตู้สินค้าที่ควรบรรจุปลาแช่แข็ง
ลิ่น
ลิ่นเทมมิงก์ชื่อทามูดาค้นหามดหรือปลวกเป็นอาหารที่ศูนย์ฟื้นฟูสัตว์ป่าในซิมบับเว มันได้รับการช่วยเหลือมาจากนักค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งน่าจะมีเป้าหมายในการลักลอบส่งเกล็ดของมันไปเอเชียเพื่อใช้ปรุงยาแผนโบราณ

“ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การค้าลิ่นระหว่างทวีปขยายตัวอย่างมโหฬารครับ โดยเฉพาะเกล็ดลิ่น” แดน แคลเลนเดอร์ หัวหน้ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านลิ่นจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น (IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกผู้กำหนดสถานะให้แก่ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม กล่าวและเสริมว่า ก่อนหน้านี้ การลักลอบล่าและขนส่งลิ่นส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในเอเชีย การเปลี่ยนแปลงนี้หมายความว่า ลิ่นเอเชียกำลังหายากขึ้นเรื่อยๆ แต่มูลค่าของเกล็ดทำให้การลักลอบขนส่งลิ่นจากแอฟริกาไปเอเชียมีความคุ้มค่ามากขึ้น

ผู้คนในแถบตะวันตกและตอนกลางของแอฟริกา รวมถึงชนพื้นเมืองบางกลุ่มในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กินเนื้อลิ่นเป็นอาหาร ในกานา ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และที่อื่นๆในภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา มีการใช้อวัยวะของลิ่นในทางการแพทย์แผนโบราณ ขณะที่คนบางกลุ่มในเวียดนามและจีนยังถือว่า เนื้อลิ่นเป็นอาหารชั้นเลิศ กระนั้น ความต้องการเกล็ด  กลับเป็นสิ่งที่ทำลายล้างลิ่น

เกล็ดลิ่นซึ่งปกติแล้วนำมาตากแห้ง บดเป็นผง แล้วบรรจุเป็นยาเม็ด นำมาใช้ปรุงยาจีนแผนโบราณหลายตำรับ ตั้งแต่การรักษาโรคต่างๆ การช่วยบำรุงน้ำนมแม่ ไปจนถึงการบรรเทาโรคข้ออักเสบและไข้รูมาติก เกล็ดลิ่นพบได้ในตลาดยาทั่วเอเชีย รวมถึงเวียดนาม ไทย ลาว และเมียนมา

จากรายงานเมื่อปี 2016 ของมูลนิธิอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของจีน ในประเทศจีนซึ่งรัฐบาลยังคงสนับสนุนการรักษาดังกล่าว บริษัทยากว่า 200 บริษัทผลิตยาแผนโบราณประมาณ 60 ชนิดที่มีเกล็ดลิ่นเป็นส่วนประกอบ ทุกปีมณฑลต่างๆในจีนโดยรวมแล้วอนุญาตให้บริษัทยาใช้เกล็ดลิ่นเฉลี่ย 26.6 ตัน คิดเป็นจำนวนลิ่นประมาณ 73,000 ตัว

ลิ่น
ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าของมูลนิธิทิกกีไฮวูดในซิมบับเว ลิ่นแต่ละตัว เช่น ทามูดาที่เห็นในภาพนี้ จะมีผู้ดูแลตามที่ได้รับมอบหมาย ลิ่นผูกพันใกล้ชิดกับผู้ดูแลของมัน ซึ่งจะช่วยให้มันเรียนรู้วิธีหากินมดและปลวก ผู้ดูแลบอกว่า ทามูดาซึ่งได้รับการช่วยเหลือตอนเป็นลูกลิ่น ดื้อและซน

รายงานบางฉบับชี้ว่า เมื่อถึงกลางทศวรรษ 1990 ลิ่นในประเทศจีนหายากอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากถูกล่าเกินขนาด เมื่อความต้องการยังมีอยู่ บริษัทจีนจึงยังคงผลิตผลิตภัณฑ์จากลิ่น โดยหันไปหาแหล่งเกล็ดลิ่นที่ถูกกฎหมายสองแหล่ง ได้แก่ คลังสะสมลิ่นที่ล่าภายในประเทศจีนก่อนจำนวนจะลดลงอย่างมาก และลิ่นที่นำเข้ามาในประเทศก่อนการห้ามค้ามีผลบังคับใช้

บันทึกการค้าลิ่นของไซเตสแสดงว่า ในช่วง 21 ปีตั้งแต่ปี 1994 ถึง 2014 จีนนำเข้าเกล็ดลิ่นเกือบ 15 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของบริษัทยา ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลในระดับมณฑลมักไม่ตรวจสอบว่า บริษัทได้เกล็ดลิ่นจากคลังจริง ไม่ใช่ลิ่นที่ถูกล่าอย่างผิดกฎหมายเมื่อไม่นานมานี้ โจวจิ้นเฟิง ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของจีนในกรุงปักกิ่ง กล่าวและเสริมว่า เขาสงสัยว่าคลังเกล็ดลิ่นของจีนมีมากถึงขนาดรองรับความต้องการของบริษัทยามานานกว่าสองทศวรรษ หลังจากลิ่นแทบจะเรียกได้ว่าหมดไปจากประเทศแล้วจริงหรือ

“ผมไม่เชื่อหรอกครับ” เขาพูด “ผ่านมาหลายปีแล้ว พวกเขายังมีเกล็ดลิ่นมากมายขนาดนั้นในคลังหรือครับ”

ลิ่น
องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าของเวียดนามดูแลลูกลิ่นตัวนี้จนกระทั่งมันแข็งแรงพอจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ถึงแม้ในเวียดนามยังมีความต้องการเนื้อและเกล็ดลิ่น  แต่ลิ่นหลายตัวที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมีปลายทางอยู่ที่จีน  ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าจำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกใหม่ๆในตำรับยาจีนแก่แพทย์และลูกค้า  เพื่อลดความต้องการสัตว์ที่กำลังจะหายไปเหล่านี้
ลิ่น
ตามปกติแล้ว ลิ่นใช้ชีวิตตามลำพัง แต่ทามูดาและลูเลโกใช้โอกาสอันหาได้ยากอยู่ใกล้กันเพื่อดื่มน้ำในแอ่ง ลิ่นเทมมิงก์เดินด้วยขาหลังโดยใช้หางและขาหน้าในการทรงตัว ลิ้นที่เหนียวและยาวเกือบเท่าลำตัว ยึดอยู่ที่ฐานของกระดูกซี่โครง

ประเทศจีนเป็นผู้บริโภคเกล็ดลิ่นรายใหญ่ที่สุด แต่ไม่ต้องเป็นเช่นนั้นก็ได้ สตีฟ กิฟเวน อดีตผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนโบราณของอเมริกันในแซนแฟรนซิสโก กล่าว เขาจำแนกสมุนไพร แร่ธาตุ และสัตว์ทางเลือกสำหรับใช้ในตำรับยาจีนได้อย่างน้อย 125 ชนิด ขึ้นอยู่กับโรคภัยไข้เจ็บที่ผู้ป่วยต้องการรักษา “ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ต้องใช้ ชวานชานเจี่ย มารักษาโรค” เขากำลังพูดถึงเกล็ดลิ่นในภาษาจีน

จนถึงตอนนี้ การแพทย์แผนตะวันตกไม่พบหลักฐานใดๆว่า เกล็ดลิ่นซึ่งประกอบด้วยเคอราทิน อันเป็นวัสดุเดียวกันกับที่สร้างเล็บมือ เส้นผม และนอแรด มีผลกระทบทางสรีรวิทยาต่อมนุษย์ แต่ตำราการแพทย์แผนโบราณบันทึกว่า เกล็ดลิ่นรักษาความไม่สมดุลต่างๆในร่างกายอย่างได้ผล

ตราบใดที่ผู้คนนับล้านยังหันมาหาการแพทย์แผนโบราณเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย และตัวเลขดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับการแพทย์แผนจีนโบราณในฐานะส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ กิฟเวนกล่าวว่า การให้ความรู้เกี่ยวกับยาทางเลือกแก่ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและผู้ป่วยจะเป็นวิธีสำคัญในการป้องกันลิ่นจากการสูญพันธุ์

เรื่อง เรเชล เบล

ภาพถ่าย เบรนต์ สเตอร์ตัน

*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนมิถุนายน 2562 


อ่านเพิ่มเติม

เหล่าดอกไม้เหล็กผู้ปกป้องสัตว์ป่าในซิมบับเว

Recommend