วาฬเพชฌฆาต ออกล่าวาฬสีน้ำเงินอีกครั้ง ถือเป็นข่าวดีของธรรมชาติได้อย่างไร

วาฬเพชฌฆาต ออกล่าวาฬสีน้ำเงินอีกครั้ง ถือเป็นข่าวดีของธรรมชาติได้อย่างไร

วาฬเพชฌฆาต ออกล่าวาฬสีน้ำเงินอีกครั้ง และทำสำเร็จเป็นครั้งแรก การล่าในครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับวาฬทั้งสองสายพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

บทความวิจัยเผยแพร่ถึงการบันทึกการล่าและฆ่าวาฬสีน้ำเงินของ วาฬเพชฌฆาต ได้อย่างสำเร็จเป็นครั้งแรก ในวิจัยเล่าถึงเหตุการณ์การไล่ล่าวาฬสีน้ำเงินของวาฬเพชฌฆาตกว่าสิบๆ ตัว ณ นอกชายฝั่งเมืองเบรเมอร์ เบย์ (Bremer Bay) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ความเหนื่อยล้าจากการหนีทำให้วาฬสีน้ำเงินเริ่มชะลอตัวลงและเป็นจังหวะนั้นเองที่เหล่าวาฬเพชฌฆาตเข้าพิชิตเหยื่อของพวกมัน เพียงไม่กี่นาทีเจ้าวาฬสีน้ำเงินถูกคมเขี้ยวกว่าสิบๆ ชุดดึงมันลงใต้ท้องทะเล ไร้วี่แววของการกลับขึ้นมา

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านวิจัยในวารสาร Marine Mammal Science เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การล่าครั้งนี้ไม่ใช่การล่าเหยื่อแบบธรรมดาแต่เป็น “อภิมหาการล่าเหยื่อ ระหว่างสุดยอดนักล่า (apex predator) ที่ขนาดใหญ่ที่สุดกับเหยื่อที่เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุด” คุณ Robert Pitman นักระบบนิเวศวิทยาทางทะเลของศูนย์วิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต ผู้ร่วมวิจัยกล่าว ซึ่งเหตุการณ์นี้ยังเป็นการบันทึกครั้งแรกที่ วาฬเพชฌฆาต สามารถฆ่าและกินวาฬสีน้ำเงินโตเต็มวัยได้สำเร็จ

วาฬเพชฌฆาต,
วาฬเพชฌฆาต (Orcas) ใช้ชีวิตเป็นกลุ่มกับครอบครับเพื่อออกล่าเหยื่อด้วยกัน รูปโดย BRIAN SKERRY, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ทะเลนอกชายฝั่งเมืองเบรเมอร์ เบย์เป็นพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงซึ่ง มีสิ่งมีชีวิตรวมถึงฉลามและวาฬหลากหลายสายพันธุ์ “อะไรก็ตามที่มันผ่านมาแถวนี้อาจถูกวาฬเพชฌฆาตกินได้หมด” คุณ David Donnelly นักวิจัยของศูนย์วิจัยโลมาประเทศออสเตรเลียกล่าว ซึ่งจากการบันทึกทั่วโลกมีการพบเห็นวาฬเพชฌฆาตล่าลูกวาฬสายพันธุ์อื่นๆ อยู่เสมอ การบันทึกหนึ่งเป็นวีดิโอจากโดรนซึ่งบันทึกวาฬเพชฌฆาตเข้าจู่โจมวาฬสีน้ำเงินนอกชายฝั่งเมืองมอนเทเรย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่เหล่าวาฬเพชฌฆาตไม่สามารถฆ่าเหยื่อของพวกมันได้ในครั้งนั้น

(ชมวิดีโอ วาฬเพชฌฆาตโจมตีวาฬสีน้ำเงิน โดยเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ที่นี่)

การล้มวาฬสีน้ำเงิน

ในงานวิจัยกล่าวถึงบันทึกการล่าและกินวาฬสีน้ำเงินของ วาฬเพชฌฆาต สามครั้ง แต่เหยื่อในสองเหตุการณ์แรกเป็นลูกวาฬและวาฬอ่อนวัยอายุราวหนึ่งปีเท่านั้น ครั้งที่สามซึ่งคือเหตุการณ์ที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นการล่าและกินวาฬสีน้ำเงินโตเต็มวัย ความยาวตัวราว 18 ถึง 21 เมตรได้สำเร็จ

แม้ผู้เก็บข้อมูลไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบวาฬที่ถูกล่า แต่จากการคาดคะเนโดยคำนวณพื้นที่ ช่วงเวลาในปีและทิศทางการเคลื่อนไหวของวาฬทำให้เดาได้ว่าวาฬดังกล่าวเป็นวาฬสีน้ำเงินเล็ก (pygmy blue whale) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ขนาดเล็กกว่าปกติแต่ก็ยังมีความยาวตัวได้ถึง 24 เมตร โดยวาฬเพชฌฆาตขนาดใหญ่ที่สุดมีขนาดเพียงแค่ราว 10 เมตร

เมื่อเทียบขนาดตัวกันแล้ว อาจดูเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่วาฬเพชฌฆาตจะสามารถล้มสัตว์ขนาดตัวกว่าสองเท่าของมันได้ อย่างไรก็ตาม เคล็ดลับในการล่าของวาฬเพชฌการคือการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวของพวกมัน ฝูงวาฬเพชฌฆาตจะมีวาฬเพศเมียซึ่งอาจเป็น “ยาย” “แม่” หรือ “ป้า” วาฬเป็นผู้นำฝูง คุณ Pitman กล่าวว่า “วาฬเพชฌฆาตเหล่านี้มีอายุไขพอๆ กับมนุษย์ พวกมันจึงใช้เวลาร่วมกันล่าเหยื่อได้เป็นสิบๆ ปี การฝึกล่ากันเป็นทีมช่วยให้พวกมันเรียนรู้อะไรจากกันได้มากมาย”

วาฬเพชฌฆาต
วาฬเพชฌฆาต (คาดว่าเป็น) เพศเมียกำลังกัดลิ้นลูกวาฬสีน้ำเงิน ลิ้นวาฬเป็นอาหารโปรดอย่างหนึ่งของวาฬเพชฌฆาต รูปโดย JOHN DAW, AUSTRALIAN WILDLIFE JOURNEYS

วาฬล่าวาฬเป็นอาจเป็นเรื่องดีอย่างไร

สำหรับคุณ Pitman นี่อาจเป็นสัญญาณบวกเรื่องภาพรวมของประชากรวาฬทั้งสองสายพันธุ์ ซึ่งประชากรวาฬเพชฌฆาตที่สามารถพบในมหาสมุทรทั่วโลกนั้นยังมีตัวเลขที่ไม่แน่ชัด ในส่วนของวาฬสีน้ำเงินองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature / IUCN) ขึ้นสถานะเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ สาเหตุจากการล่าวาฬในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่การปกป้องวาฬสายพันธุ์นี้ทั่วโลกทำให้จำนวนวาฬสีน้ำเงินค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1960 การประมาณการคาดว่าวาฬสีน้ำเงินมีจำนวนอยู่ราว 5,000 ถึง 15,000 ตัวทั่วโลกในปัจจุบัน

คุณ Pitman ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่วิจัยอธิบายว่ามีความเป็นไปได้ที่วาฬเพชฌฆาตจะล่าวาฬสีน้ำเงินเป็นอาหารโดยปกติมานานแล้ว แต่ในช่วงยุคล่าวาฬทำให้ประชากรของวาฬสีน้ำเงินลดฮวบลงไปอย่างมากจนวาฬเพชฌฆาตต้องหันไปล่าเหยื่อชนิดอื่นแทน การที่วาฬเพชฌฆาตกลับมาล่าวาฬสีน้ำเงินอีกจึงอาจเป็นสัญญาณว่าประชากรของวาฬทั้งสองชนิดกำลังฟื้นตัวได้ดีและอาจจะมีการพบเห็นวาฬสีน้ำเงินถูกล่าแบบนี้บ่อยขึ้นตามจำนวนวาฬทั้งสองสายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณ Pitman เพิ่มเติมว่าเขาสนใจความเปลี่ยนแปลงแก่ระบบนิเวศทางทะเลที่อาจขึ้นจากการล่าเหล่านี้ ซึ่งยกตัวอย่างได้จากการที่วาฬหลังค่อม (humpback whale) และวาฬหัวคันศร (bowhead whale) หลบเลี่ยงเส้นทางการย้ายถิ่นบางจุดเพื่อหลบวาฬเพชฌฆาต

เรื่องโดย CLAUDIA GEIB

แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

วิจัยอ้างอิงในบทความ
Totterdell, J. A., Wellard, R., Reeves, I. M., Elsdon, B., Markovic, P., Yoshida, M., Fairchild, A., Sharp, G., & Pitman, R. L. (2022). The first three records of killer whales (Orcinus orca) killing and eating blue whales (Balaenoptera musculus). Marine Mammal Science, 1– 16. https://doi.org/10.1111/mms.12906


อ่านเพิ่มเติม ความลับของเหล่า วาฬ: พวกมันเหมือนมนุษย์มากกว่าที่คิด

วาฬ, ความลับของวาฬ

Recommend