สุนัขหรือแมว ใครกันแน่ที่ฉลาดกว่ากัน?
ในที่สุดคำถามที่ค้างคาใจมานานก็ได้รับคำตอบ
และสุนัขเป็นผู้ชนะ ด้วยจำนวนของเซลล์ประสาทภายในเปลือกสมองที่มีมากกว่าแมวถึง 2 เท่า นั่นทำให้เกิดสมมุติฐานตามมาว่า สติปัญญาของมันก็น่าจะมีมากกว่าแมวเป็น 2 เท่าด้วยเช่นกัน
ผลการวิจัยนี้เพิ่งจะได้รับการยอมรับ และจะถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Frontiers in Neuroanatomy ด้วยความร่วมมือของนักวิจัยจาก 6 มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา, บราซิล, เดนมาร์ก และแอฟริกาใต้
หนึ่งในผู้ร่วมการวิจัย ได้แก่ Suzana Herculano-Houzel นักประสาทวิทยาผู้คร่ำหวอดในวงการมานานหลายสิบปี และขณะนี้กำลังศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของสมองในมนุษย์และสัตว์ เพื่อให้ผลการวิจัยนี้แม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เธอเลือกใช้วิธีการนับจำนวนเซลล์ประสาท ซึ่งเป็นเซลล์พิเศษที่พบในสมอง และถูกใช้เป็นเครื่องมือรับส่งคำสั่งจากสมองไปสู่ร่างกาย
ทำไมต้องเป็นเซลล์ประสาท?
“เซลล์ประสาทเป็นหน่วยประมวลข้อมูลขั้นพื้นฐานที่สุด” Herculano-Houzel กล่าว “ยิ่งคุณพบจำนวนเซลล์ในสมองมากเท่าไหร่ กระบวนการเรียนรู้ในสัตว์นั้นๆ ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น”
ในการวิจัย ทีมนักวิจัยเลือกใช้เปลือกสมอง บริเวณดังกล่าวคือชั้นนอกสุดของสมองที่มีบทบาทสำคัญในระบบความจำความคิด และการรับรู้ พวกเขาเลือกใช้สมองสามสมองด้วยกันคือ สมองจากแมว, สมองจากสุนัขสายพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ และสมองจากสุนัขพันธู์ผสมขนาดเล็ก ที่ต้องใช้สมองของสุนัข 2 สมองก็เพื่อศึกษาว่าขนาดที่แตกต่างนั้นจะมีผลหรือไม่
ผลการศึกษาสมองของสุนัขทั้งสองอัน แม้ว่าจะมีขนาดที่ต่างกัน แต่ก็มีเซลล์ประสาทในจำนวนพอๆ กันคือ 500 ล้านเซลล์ประสาทมากกว่าในสมองของแมวซึ่งอยู่ที่ 250 ล้านเซลล์
ด้วยจำนวนของเซลล์ประสาท ทีมนักวิจัยสันนิษฐานไว้ว่าสุนัขน่าจะมีความฉลาดในระดับที่เท่าๆ กันกับแรคคูนและสิงโตในขณะที่แมวบ้านมีความฉลาดเทียบเท่ากับหมี
แต่หากเทียบกับมนุษย์จำนวนของเรามีมากกว่านั้น เฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะมีจำนวนเซลล์ประสาทราว 16,000 ล้านเซลล์ ส่วนในญาติสายพันธุ์ใกล้ชิดของเราเช่นอุรังอุตังและกอริลลามีประมาณ 8 – 9 พันล้านเซลล์ประสาท และในชิมแปนซีมีประมาณ 6 – 7 พันล้านเซลล์
สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ไพรเมต แต่มีความเฉลียวฉลาดที่สุดคือช้าง ด้วยจำนวนเซลล์ประสาท 5.6 พันล้านเซลล์อย่างไรก็ตาม Herculano-Houzel กล่าวเสริมว่าจำนวนของเซลล์ประสาทที่มากอาจเป็นผลมาจากขนาดของร่างกายที่ใหญ่โตจึงต้องการการควบคุมที่มากและมีประสิทธิภาพตาม
วัดกันที่ความฉลาด
ในขณะที่ทีมนักวิจัยนับจำนวนเซลล์ประสาท เกิดคำถามใหญ่ตามมาว่าการวิจัยเชิงปริมาณนี้สามารถวัดค่าความฉลาดได้จริงหรือ
ก่อนหน้านี้หากจะวัดความเฉลียวฉลาด บางครั้งการเปรียบเทียบขนาดของสมองหรือความซับซ้อนของโครงสร้างก็ก่อให้เกิดการโต้เถียงกันมาแล้ว Sarah Benson-Amram นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยไวโอมิงกล่าวว่า เธอและทีมวิจัยพบหลักฐานบางอย่างที่สนับสนุนทฤษฎีที่ว่า ขนาดของสมองในสัตว์บกกินเนื้อที่ใหญ่ขึ้น มีส่วนช่วยให้การแก้ไขปัญหาดีขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังคงมีหลักฐานสนับสนุนน้อย สมองที่ใหญ่กว่าไม่ได้แปลว่าต้องฉลาดกว่าเสมอไป
“แน่นอนว่าเราต้องการงานวิจัยมากกว่านี้ เพื่อที่จะพิจารณาได้ว่าขนาดของสมองเป็นตัววัดความฉลาดของสัตว์ต่างๆ” เธอกล่าว ทั้งนี้ Herculano-Houzel กล่าวเสริมว่าการนับจำนวนของเซลล์ประสาทเป็นเพียงวิธีหนึ่งในการหาคำตอบเบื้องต้นเท่านั้น “ใช่ว่าร่างกายที่มีขนาดใหญ่จะบ่งบอกถึงจำนวนเซลล์ประสาทที่คุณมี” เธอกล่าว “มีสมองขนาดเท่ากันของสัตว์ต่างชนิดแต่ภายในมีจำนวนเซลล์ประสาทแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว”
การวิจัยยังคงดำเนินต่อไป เพื่อหาคำตอบของปริศนาสมองในสัตว์ ทั้งนี้พวกเขาคาดหวังว่าในวันหนึ่งจะมีโอกาสได้ศึกษาสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำดูบ้าง
เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์