World Update: กัญชาแมว ต่างจากกัญชาคนอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่

World Update: กัญชาแมว ต่างจากกัญชาคนอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่

กัญชาแมว นอกจากช่วยไล่ยุงและแมลงได้แล้ว มันปลอดภัยกับแมวจริงหรือไม่? และแตกต่างอย่างไรกับกัญชาคน

งานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยอิวาเตะ (Iwate University) ประเทศญี่ปุ่นระบุพืชที่มีชื่อเล่นว่า ‘ กัญชาแมว ’ หรือ Catnip นอกจากจะทำให้แมวพึงพอใจแล้ว สารเคมีในใบของมันยังช่วยขับไล่ยุงและแมลงตามธรรมชาติได้อย่างดีเยี่ยม ช่วยให้แมวหลีกเลี่ยงโรคที่มากับพาหะเหล่านี้ได้ 

ทีมวิจัยได้ทดสอบกับแมว 16 ตัว โดยตอนแรกได้วางใบของพืชชนิดนี้ที่ยังไม่เสียหายบนจานแล้วปล่อยให้แมวมีปฏิสัมพันธ์ตามสบาย พวกเขาพบว่าแมวหลายตัวมีพฤติกรรมกัดและฉีก รวมทั้งเคี้ยวใบเหล่านั้น ซึ่งเมื่อตรวจปริมาณสาร ‘เนเพตาแลคโตน (nepetalactone)’ แล้วพบว่ามันมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับใบที่ยังไม่ถูกฉีก

“เราพบว่าการเสียหายทางกายภาพ (ใบถูกฉีกขาด) ที่กระทำโดยแมวได้ช่วยปลดปล่อยสารเคมีทั้งหมดทันที ซึ่งสูงกว่าใบที่ไม่ได้รับความเสียหายถึง 10 เท่า” มาซาโอะ มิยาซากิ (Masao Miyazaki) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวพร้อมเสริมว่า “หมายความว่าการเลียและการเคี้ยวเป็นพฤติกรรมจากสัญชาตญาณ” ขณะที่ นาเดีย เมโล (Nadia Melo) นักนิเวศวิทยาเคมีที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษานี้เสริมว่า “แมวอาจพัฒนาพฤติกรรมนี้โดยธรรมชาติเพื่อป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อที่มียุงและแมลงเป็นพาหะ”

โดยสารนี้สามารถไล่ยุงได้และยังเป็นสารไล่แมลงในธรรมชาติ และแสดงให้เห็นว่าที่แมวมีพฤติกรรม ‘ดูเหมือนรุนแรง’ เมื่อสัมผัสกับกัญชาแมวนั้นมีสาเหตุคือเพื่อเพิ่มสารไล่ยุงและแมลงบนตัวของมันเอง 

แล้วมันมีความปลอดภัยจริงหรือไม่?

จากงานวิจัยหลายชิ้นที่ผ่านมาไม่พบความเสียหายใด ๆ ต่อสุขภาพร่างกายรวมทั้งระบบประสาทของแมว ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้แมวพึงพอใจเพียงประมาณ 5 – 15 นาที

อีกทั้งพืชชนิดนี้ยังไม่ได้ทำให้เกิดพฤติกรรมการเสพติด ทำให้แมวไม่มีอาการ ‘ลงแดง’ หรือหงุดหงิดไม่พอใจเมื่อไม่ได้สัมผัสกับกัญชาแมวเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม แมวบางตัวอาจไม่สนใจพืชนี้ได้เช่นกันซึ่งมีราว 1 ใน 3 ของแมว 

กัญชาแมวแตกต่างอย่างไรกับกัญชาคน? กัญชาแมวนั้นคือพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า nepeta cataria ซึ่งเป็นคนละชนิดกับกัญชาคนที่มีชื่อว่า cannabis indica และทั้งสองยังมีสารเคมีที่แตกต่างกัน แต่ที่ได้ชื่อว่ากัญชาแมวนั้นเป็นเพราะว่าออกฤทธิ์ให้มีแมวมีพฤติกรรมคล้ายมนุษย์ที่ใช้ cannabis indica โดยเราจะสังเกตเห็นถึงความพึงพอใจของแมวได้

อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าไม่ควรให้ ‘กัญชาคน’ กับแมวเนื่องจากอาจมีความเป็นพิษต่อร่างกายเมื่อเทียบกับปริมาณที่ใช้ในมนุษย์ สำหรับการใช้กัญชาแมวให้เหมาะสมนั้นทางองค์กรพิทักษ์สัตว์หรือ PETA ระบุไว้ว่าไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และให้แมวอยู่แต่ในบ้านเพื่อความปลอดภัย

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photograph by CatCrazy via pixabay

 

ที่มา

https://www.smithsonianmag.com/science-nature/when-cats-chew-catnip-they-make-it-a-better-bug-spray-180980261/

https://www.sciencealert.com/your-cat-s-drug-taking-habits-evolved-to-save-its-skin-from-getting-nipped

https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/604/cookiespermission/service-knowledge-article.php#:~:text=%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A7%20%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD,%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A7


อ่านเพิ่มเติม กัญชาเสรี : เมื่อ “กัญชา” ไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย

Recommend