งานวิจัยใหม่เผย ‘ทาสแมวตัวจริง’ อาจกำลังมอบความรักที่แมวไม่ต้องการ

งานวิจัยใหม่เผย ‘ทาสแมวตัวจริง’ อาจกำลังมอบความรักที่แมวไม่ต้องการ

งานวิจัยใหม่เผย ‘ทาสแมวตัวจริง’ อาจกำลังมอบความรักที่ไม่ต้องการให้กับแมวของพวกเขา

การศึกษาใหม่จาก ดร.ลอเรน ฟินกา (Lauren Finka) นักวิจัยด้านพฤติกรรมสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมเทรนต์ (Nottingham Trent) ในสหราชอาณาจักรได้เปิดเผยว่าคนที่คิดว่าตนเองเป็นพ่อแม่แมวที่มีความรู้และประสบการณ์โชกโชนจริง ๆ แล้วอาจให้ความรักกับแมวมากเกินไปหรืออย่างน้อยก็ไม่ได้แสดงความรักต่อแมวอย่างดีที่สุด 

พวกเขาทำการศึกษาโดยมีอาสาสมัครประมาณ 120 คน ซึ่งแต่ละคนจะได้กรอกแบบสำรวจเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขากับแมวและประเมินบุคลิกภาพของตนเองโดยแบ่งเป็น 5 ประเภทได้แก่ ความยินยอมเห็นใจ (Agreeeableness) ความพิถีพิถัน (Consientiousness) ความสนใจต่อสิ่งภายนอก(Extraversion) ความไม่เสถียรทางอารมณ์ (Neuroticism) และความเปิดรับประสบการณ์(Openness) จากนั้นจะได้รับแมว 3 ตัวที่พวกเขาไม่เคยพบหรือรู้จักมาก่อนเพื่อสังเกตปฏิสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่เกิดขึ้น 

ทีมวิจัยพบกว่าคนที่ให้คะแนนตนเองว่ามีประสบการณ์และเข้าใจแมวมากกว่าผู้อื่นนั้นมักจะสัมผัสแมวที่โคนหาง ขา หลัง และท้อง ซึ่งเป็นบริเวณที่แมวมักไมชอบจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาพบกว่าอาสาสมัครที่ระบุว่าตนเองมีเลี้ยงแมวจำนวนมากที่บ้านเป็นเวลานานนั้น แม้จะไม่ค่อยควบคุมแมวแต่พวกเขาก็มักให้อิสระกับแมวในการทดลองน้อยเช่นกัน และเมื่อพูดถึงประเภทบุคลิกภาพของอาสาสมัคร ทีมวิจัยพบว่าผู้ที่มีบุคลิกประเภทความไม่เสถียรทางอารมณ์ หรือ Neuroticism นั้นมีแนวโน้มที่จะจับและควบคุมแมวมากขึ้น

“ผลการวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่าเราอาจสันนิษฐานได้ว่าลักษณะบางอย่างนั้นทำให้บางคนมีปฏิสัมพันธ์กับแมวได้ดี ความรู้ที่พวกเขาพูด ประสบการณ์การเลี้ยงแมวที่พวกเขาระบุ ไม่ควรถือเป็นตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ถึงความเหมาะสมในการรับเลี้ยงแมวบางตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความต้องการด้านการจัดการหรือพฤติกรรมเฉพาะ” ดร.ฟินกากล่าว

พร้อมเสริมว่า “แน่นอนว่าแมวทุกตัวเป็นปักเจกแตกต่างกันไป และหลาย ๆ ตัวจะมีความชอบเฉพาะเจาะจงสำหรับวิธีที่พวกมันชอบที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักการทั่วไปที่ดีบางประการที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้แน่ใจว่าแมวทุกตัวมีความสะดวกสบายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของพวกแมว”

ในทางกลับกันคนที่มีคะแนนสูงกว่าในด้านความยินยอมเห็นใจ (Agreeableness) มักไม่ค่อยสัมผัสส่วนที่อ่อนไหวของแมว นอกจากนี้ผู้ที่รายงานว่ามีประสบการณ์กับแมวในระดับปกติทั่วไปได้แสดงให้เห็นว่ามีความ ‘เป็นมิตรกับแมว’ อย่างไรก็ดี ความคิดเบื้องหลังการศึกษานี้ไม่ได้ต้องการที่จะกล่าวหาใครหรือต้องการให้ใครอับอาย แต่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อแมว อีกทั้งยังมีความหมายในการหาบ้านใหม่ของแมว 

หรือก็คือคนที่ยังใหม่ต่อการผูกมิตรกับแมวสามารถเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ดูแลที่ดีได้พอ ๆ กับผู้ที่มีประสบการณ์หลายปี “สิ่งสำคัญคือ ภายในศูนย์พักพิงสัตว์นั้นเราควรหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีแนวโน้มจะรับเลี้ยงแมวโดยที่ไม่เคยมีประสบการณ์การเป็นเจ้าของแมวมาก่อน เพราะหากใครก็ตามที่ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม พวกเขาอาจกลายเป็น ‘ทาสแมวตัวจริงที่ยอดเยี่ยม’ ก็เป็นไปได้” ดร.ฟินการะบุ

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photo by Mikhail Vasilyev on Unsplash

Recommend