อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งยอมเป็น ผีน้อย หรือแรงงานผิดกฎหมายเพื่อไปขายแรงงานแบบหลบๆ ซ่อนๆ แม้จะมีเสียงตำหนิก่นด่าจากเพื่อนร่วมชาติไว้เบื้องหลัง สำหรับในประเทศไทย ค่านิยมการออกไปค้าแรงงานในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกแรงงานไปต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบตะวันออกกลาง หลังจากนั้น ค่านิยมการไปขายแรงงานในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง เอเชีย แม้กระทั่งยุโรปหรืออเมริกา ก็เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยที่ต้องการค่าตอบแทนที่มากกว่าการทำงานในประเทศของตัวเองเรื่อยมา แม้จะต้องแลกกับชีวิตที่ต้องห่างไกลบ้านและต้องปรับตัววิถีชีวิตที่แตกต่างกับบ้านเกิดอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังเริ่มปรากฏปัญหาของแรงงานไทยที่ผิดกฎหมายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศเกาหลีใต้ที่กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ออกมาให้ข้อมูลในปี 2018 ว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ 188,206 คน และกว่าร้อยละ 65 หรือประมาณ 120,000 เป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้เกินอายุวีซ่า นอกจากการได้ค่าตอบแทนที่สูงแล้ว ปัจจัยใดที่ทำให้คนไทยนับแสนต้องยอมเสี่ยงละเมิดกฎหมาย การไปทำงานแบบถูกกฎหมายที่ยังมีอุปสรรคสำคัญ เป็นที่ทราบกันดีว่า ค่าตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการค้าแรงงานในประเทศ คือแรงจูงใจหลักที่ทำให้คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานภาคเกษตรกรรมที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งต้องพบเจอปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และปัญหารายได้ในการทำเกษตรกรรมที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย สนใจเข้ามาค้าแรงงานในเกาหลีใต้ และยังมีแรงงานในหัวเมืองใหญ่ที่พบว่าค่าตอบแทนที่ได้รับไม่เพียงพอในการตั้งตัวและมีชีวิตที่ดีกว่าได้ จึงเริ่มต้นกระบวนการหางานในต่างประเทศ โดยเกาหลีใต้คือหนึ่งในนั้น โดยงานที่คนไทยนิยมมักเป็นงานภาคการผลิตที่อยู่ในโรงงาน งานก่อสร้าง แรงงานภาคเกษตร งานนวดแผนไทย เป็นต้น ซึ่งจะมีการส่งแรงงานถูกกฎหมายจากประเทศไทยไปทำงานอยู่เป็นระยะๆ กระบวนการจัดส่งแรงงานไปประเทศเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายโดยคร่าวๆ ต้องเริ่มจากการเข้าระบบ EPS ที่ย่อมาจาก […]