ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี วิชา “ความยั่งยืน” เรียนอะไร? และการศึกษาแบบไหนที่ไม่ทำลายอนาคต?

ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี วิชา “ความยั่งยืน” เรียนอะไร? และการศึกษาแบบไหนที่ไม่ทำลายอนาคต?

ความยั่งยืน (Sustainability) คืออะไร คงไม่ต้องอธิบายต่อ  ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นี่คือคีย์เวิร์ดแห่งยุค เป็นเทรนด์ในแวดวงธุรกิจทั่วโลก กระทั่งหลายองค์กรล้วนให้ความสำคัญไม่ต่างอะไรกับแผนธุรกิจหรือกลยุทธ์การตลาด

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภูมิทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รายงาน Future of Jobs 2023 ของ World Economic Forum ระบุตอนหนึ่งว่า นอกจากจะมีตำแหน่งที่ถูกลดอัตราการจ้างงานลงจากความเปลี่ยนแปลง ในเวลาเดียวกันนี้ ยังมีตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นรับแรงงานหน้าใหม่เช่นเดียวกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับ ความยั่งยืน หรือ ESG (Environmental -Social -Governance)

Sustainability Specialists น่าจะเป็นกลุ่มอาชีพที่กว้าง เพราะความรู้และทักษะด้านความยั่งยืนมิได้จำกัดแค่เพียงสาขาใดสาขาหนึ่ง หากแต่เป็นวิธีคิดที่แทรกในหลากหลายศาสตร์ ซึ่งโอกาสนี้ ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  และรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SDG Move) ได้อธิบายให้เราเห็นภาพถึงทิศทางในแวดวงการศึกษาที่มีความยั่งยืนเป็นส่วนประกอบ

ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี
ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SDG Move)

ความยั่งยืนกับการศึกษาเชื่อมโยงกันอย่างไร?

ความยั่งยืนในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนหมายถึงความสามารถในการรักษาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความสุขของชีวิตมนุษย์โดยไม่กระทบกับคนในอนาคตไปพร้อม ๆ กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งการศึกษามีบทบาทสำคัญมากในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและความท้าทายต่าง ๆ ช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา เพื่อสร้างนวัตกรรมและหาทางออกที่ยั่งยืนในหลากหลายด้าน รวมถึงการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

นอกจากนี้ การศึกษาจะทำให้เราเห็นว่าทุกทักษะ ทุกอาชีพ ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองคนเดียวได้ ทุกสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์, พัฒนศาสตร์, วิศวกรรม, สังคมศาสตร์, มนุษยศาสตร์, ศิลปกรรมศาสตร์, กฎหมาย, การสื่อสาร, สถาปัตยกรรมศาสตร์ และการแพทย์ มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ความร่วมมือของหลากหลายสาขาวิชาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาทางเลือกและนวัตกรรมในหลากหลายด้าน

ความยั่งยืนนั้นจะต้องประกอบด้วย 1. เศรษฐกิจ 2. สังคม และ 3. สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างความสมดุลให้ได้ และเราไม่สามารถจะเน้นไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง การทำให้เกิดความยั่งยืนนั้นจำเป็นที่จะต้องรักษาสมดุลขององค์ประกอบหลักสามประการนั่นก็คือ การพัฒนาสังคม การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างว่าถ้าเราไปเน้นที่เรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องการให้พื้นที่ในส่วนนี้มันเป็นป่า มันก็เป็นไปได้ว่าอาจจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างอื่น เช่น จนนำไปสู่การไล่ที่ที่เคยมีคนอาศัย ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินในพื้นที่นั่นอีกได้ ก็ถือว่าแนวทางพัฒนานั้นตอบโจทย์เพียงเรื่องสิ่งแวดล้อม  แต่ไปกระทบในเชิงสังคม อย่างน้อยคือชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้ ไม่มีที่อยู่ แล้วมันก็เป็นไปได้ว่าหากไม่มีทางเลือกก็จะนำไปสู่การรุกพื้นที่ป่าอีก กระทั่งการพัฒนาเมืองก็ดี เราพยายามทำให้เกิดพื้นที่สีเขียว พัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมเป็นคอมมูนิตี้ต่าง ๆ ซึ่งโอเคมันเป็นการพัฒนา แต่ในหลายพื้นที่ชุมชนเดิมกลับถูกไล่ย้ายออกไป กระบวนการนี้อาจดูเหมือนเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่จริงๆ แล้วมันอาจเป็นเพียงการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยหรือนักลงทุนเท่านั้น ชาวบ้านที่ถูกไล่ออกจากพื้นที่มีสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรและโอกาสน้อยลง

วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ในบางพื้นที่  แม้จะมีกฎหมายและความพยายามในการชดเชยทางเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบที่ตามมาก็อาจเกินกว่าที่เงินสามารถแก้ไขได้ ย้ายแล้วมันก็ไม่จบ เพราะมันห่างที่เรียน ที่ทำงาน และสังคมที่พวกเขาเคยเป็นส่วนหนึ่ง ประเด็นเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน ในบางพื้นที่ เมื่อพื้นที่ถูกพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้าหรือโครงการเศรษฐกิจอื่น ๆ มันไม่เพียงแต่เป็นการเอาเศรษฐกิจนำ แต่ยังเป็นการส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ คนที่ถูกย้ายออกไปอาจต้องเผชิญกับความยากลำบากในการหางานใหม่, การสร้างเครือข่ายทางสังคมใหม่, และการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมที่หายไปเหล่านี้ไม่สามารถวัดค่าได้ด้วยเงินและถูกมองข้ามในกระบวนการของการพัฒนา

รูปถ่ายอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บริเวณห้องโถงของวิทยาลัย

การศึกษาในหลายมิติจะทำให้เข้าใจความยั่งยืนได้?

มันควรจะเป็นแบบนั้น การศึกษาในหลายมิติเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าใจความยั่งยืนอย่างแท้จริง การพิจารณาทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม, นำมาซึ่งความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบของการตัดสินใจและการพัฒนาใด ๆ ทุกอย่างมีมูลค่า ยกตัวอย่างว่า มีการสร้างห้าง แน่ว่าจะได้คุณค่าทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน แต่ก็มีมูลค่าที่สูญเสียไปจากคนละแวกนั้น เขาอาจจะเดินทางกลับบ้านได้ช้าลงเพราะรถติด เมื่อรถติดก็ก่อให้เกิดมลพิษ เหล่านี้คือการสร้างความสมดุลว่าเราจะทำอย่างไรให้มันเดินไปได้ทั้ง 3 ขา ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

รถติดจากการสร้างห้าง มันก็มีมูลค่าจากรถติด แล้วก็มีเวลาที่รถติดบนถนน รวมถึงการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก ถ้าคุณมองเรื่องการพัฒนาแต่ไม่ได้มองเรื่องความยั่งยืน หรือจะโฟกัสเรื่องธุรกิจแต่ไม่ได้มองเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็คงไม่ได้ และในกรณีนี้มันคงไม่ได้จบแบบ Win-Win แบบที่ใครชอบพูดกัน เพราะความยั่งยืน การพยายามไม่ทำลายอนาคตในระยะยาว เป็นไปได้มากว่าจะมีคน Lose บ้าง แต่สำคัญคือเราจะมีมาตรการให้กับ Lose เหล่านั้น อยู่ต่อไปได้ในแบบที่เขาควรจะเป็น

อาจารย์สอนวิชาพื้นฐานด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัย วิชานี้สอนอะไร และช่วยเล่าหน่อยได้ไหมว่าบรรยากาศในการเรียนเป็นอย่างไร?

ผมสอนในวิชาที่ชื่อ “ชีวิตกับความยั่งยืน” เป็นวิชาพื้นฐานที่ทุกคนสามารถลงเรียนได้ เมื่อก่อนเป็นวิชาบังคับแต่ปัจจุบันถ้าใครสอบผ่าน เขาก็มีสิทธิ์ที่จะไปลงวิชาอื่นแทน บรรยากาศในการเรียนมันก็เป็นธรรมชาติที่นักศึกษาอาจจะไม่ได้รู้สึกอินในทีแรก เพราะสำหรับเขา ความยั่งยืนคงไม่ใช่ประเด็นที่เขาสนใจแต่แรก แต่ถ้าเป็นนักศึกษาที่ได้ลองไปฝึกงาน ลองเข้าไปทำงานแล้วเขาจะอยากรู้มากขึ้น เพราะองค์กรที่เขาไปฝึกงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่คนในแผนกต้องรู้ ต้องการความชำนาญ เหมือนกับหลักการตลาด หลักการบริหาร ที่จะมีบางหน้าที่ที่ต้องมีความชำนาญด้านนี้

ในรายวิชา เนื้อหาจะแบ่งเป็น 3 Module คือเศรษฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมและผังเมือง วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ ซึ่งในหมวดวิชานี้อาจจะมีคนสอนหลายท่านหรือท่านเดียวก็ได้ ในด้านเศรษฐศาสตร์ก็จะเป็นการให้ความรู้แก่นหลักของความยั่งยืน ว่าทำไมประชาคมโลกให้ความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับโลกอย่างไร และพอเราพูดถึงความยั่งยืน มันก็จะเชื่อมโยงกับเศรษฐศาสตร์ ว่าเชื่อมโยงได้อย่างไรบ้าง อะไรคือเทรนด์ทางธุรกิจของทั่วโลก และในอนาคตทำไมองค์กรชั้นนำในสหภาพยุโรปถึงมีมาตรการด้านความยั่งยืนให้กับสินค้า เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment: CBAM)

แม้กระทั่งการใช้มาตรฐการภาษีให้กับสินค้าแบบ Fair trade  (ระบบการค้าที่เป็นธรรม) โดยเฉพาะกับสินค้าทางเกษตรกรรม เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ที่จะมีมาตรฐานในการพิจารณา เช่น ด้านการพัฒนาสังคม การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสินค้าที่ได้การรับรอง จะมีการกำหนดราคาขั้นต่ำเพื่อช่วยผู้ผลิตให้สามารถครอบคลุมต้นทุนการผลิตรูปแบบยั่งยืนได้ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แรงงาน และชุมชนท้องถิ่น ด้านสุขภาพ การศึกษา สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ ส่วนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สินค้าจะต้องมีกระบวนการผลิตทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการลดใช้สารเคมี หรือใช้อย่างปลอดภัยถูกวิธี ตลอดจนการจัดการของเสียอย่างถูกต้องเพื่อบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและแหล่งน้ำ

ใน Module สถาปัตยกรรมและผังเมือง หนีไม่พ้นการพัฒนาเมืองในมิติที่ครอบคลุมที่ต้องพัฒนาเชื่อมกันกับพื้นที่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นชานเมืองและพื้นที่ชนบท ไม่มีการแบ่งเกรด  Module นี้มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจว่าเมืองที่ดีไม่ได้จำกัดเพียงแค่บ้านเรือน แต่ยังรวมถึงที่อยู่อาศัย โรงงาน, และแหล่งงานสำคัญที่ช่วยกระจายงานและสร้างความเจริญเศรษฐกิจในละแวกนั้น ๆ ในประเทศไทย เราจะพิจารณากรณีศึกษาที่แสดงถึงการกระจายของโรงงานและผลกระทบของมันต่อพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรในลักษณะที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

นักศึกษายังได้ศึกษารูปแบบการพื้นที่เมืองที่ซับซ้อน อาทิ ความแตกต่างระหว่างเทศบาลเมืองกับเทศบาลนคร และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เช่น การจัดการระบบน้ำและประปา และการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติต่าง ๆ และปัญหาของเมืองในด้านต่าง ๆ เช่น มีบ้านบางหลังในหมู่บ้านจัดสรรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ซึ่งแต่ละเทศบาลมีนโยบายและการจัดสรรทรัพยากรที่แตกต่างกัน การศึกษานี้ก็เพื่อทำความเข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ยังจะพิจารณาถึงแนวทางแก้ไขและการวางแผนที่ดีกว่าเพื่อให้การจัดการทรัพยากรให้เป็นไปอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน Module นี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการวางแผนระยะยาวที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเมืองอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

Module ด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ในรายวิชานี้จะเน้นไปที่การเรียนรู้องค์ประกอบทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน การคิดค่ารอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprints) การคิดค่าน้ำเสมือน (Virtual Water) และวิธีการจัดการทางเลือกในด้านอาหาร ที่รวมไปถึง การเพาะปลูก ปศุสัตว์ การประมง และการใช้อาหารอนาคต (Future Food) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อทะเล และเพิ่มความยั่งยืนด้านอาหาร โมดูลนี้ยังเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการที่ใช้กระบวนการธรรมชาติในการแก้ไขปัญหา (Nature-based Solutions) ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ป่าไม้ที่สามารถช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกและรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ

วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

Mindset ที่ว่าด้วยความยั่งยืน แทบจะอยู่ในทุกศาสตร์?

จะมองแบบนั้นก็ได้ แต่ในฐานะผู้สอน พยายามทำให้ประเด็นมันใกล้ตัวที่สุด แน่นอนว่าถ้าพูดให้มันกว้าง นักศึกษาก็อาจจะไม่อิน แต่ถ้าเราเริ่มว่า กาแฟที่เราดื่มนั้นผลิตมาจากเมล็ดที่ปลูกในประเทศรึเปล่า หรือเป็นกาแฟจากต่างประเทศ เช่น เอธิโอเปีย ที่เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการใช้แรงงานผิดกฎหมายอยู่ ? ถ้าเริ่มแบบนี้ มันก็จะใกล้ตัวมากขึ้น หรือถ้าตั้งคำถามว่ากาแฟพิเศษ ที่เรานำเข้ามา ดื่มอย่างเอร็ดอร่อยนั้น ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนเท่าใด? หรือ ไม่ก็กาแฟที่ดื่มประจำใช้ยาฆ่าแมลงรึเปล่า ซึ่งเมื่อถึงตรงนี้มันก็จะมีบริบทว่าการใช้ยาฆ่าแมลงไม่ใช่ไม่ดีเสมอไปใช่ไหม เพราะยาฆ่าแมลงบางประเภทก็ไม่ได้มาจากสารเคมีเสมอไป สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามมากมายที่จะทำให้ห้องเรียนด้านความยั่งยืนสนุกขึ้น

ถ้าอยากเรียนเฉพาะทางด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ เช่นในวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะทำให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้นใหม่ และโอกาสในการทำงานมากน้อยเพียงใด?

เอาเฉพาะหลักสูตรก่อน ที่นี่มีหลักสูตรปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (นวัตกรรมการพัฒนามนุษย์และสังคม) ที่ถูกออกแบบมา ให้บัณฑิตสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมในทุกระดับ มีจิตสำนึกรักความเป็นธรรม มีทักษะในการทำงาน สนใจเข้าร่วมในการพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์

ส่วนหลักสูตรปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การพัฒนาร่วมสมัยและปฏิบัติการพัฒนา) นั้นพัฒนามาจากรากฐานเดิมของวิทยาลัยก็คือหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต(บัณฑิตอาสาสมัคร) ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ บอ. ซึ่งหลักสูตรนี้ก็จะมีการเรียนแบบบริการสังคม (Service Learning)

ในตลาดงานปัจจุบัน นักศึกษาที่จบการศึกษามักจะเข้าสู่อาชีพในหลากหลายตามความสนใจของตนเอง เช่น การทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR), ฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) หรือการพัฒนาธุรกิจที่เน้นความเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) นักศึกษาที่จบการศึกษาปริญญาโทเองก็ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานระดับท้องถิ่น NGOs และบริษัทเอกชน ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นตัวเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้ที่มีความสนใจในสาขาสังคมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ความยั่งยืนและเทรนการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social, and Governance) ได้กลายเป็นประเด็นที่องค์กรธุรกิจให้ความสนใจอย่างจริงจัง โอกาสในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ความยั่งยืนไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม และการพัฒนากลยุทธ์การตลาดที่เน้นแบรนด์ที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก

ผมเชื่อว่า ในอนาคต แม้ว่าเราจะผ่านเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในปี 2030 ไปแล้ว แต่เทรนด์ของความยั่งยืนจะยังคงอยู่และไม่หายไป ในฐานะที่เป็นหลักการพื้นฐานของการบริหารและการพัฒนา โดยเฉพาะในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตทางสังคมเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญและแก้ไขอย่างต่อเนื่องในระดับโลก

หลักความยั่งยืน เป็นการศึกษาเหมือนกับหลักการตลาดและบริหาร ?

จะมองแบบนั้นก็ได้ส่วนหนึ่ง เพราะถ้าเทียบหลักความยั่งยืนกับหลักบริหาร มันก็ทำให้องค์กรเหล่านั้นช่วยประหยัดต้นทุนไปได้ เช่น ใน SDG ข้อหนึ่งพูดเรื่องการลดใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งถ้าเรายึดหลักนี้และเปลี่ยนจากพลังงานจากแหล่งไฟฟ้าปกติ เป็นไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ มันก็จะทำให้ดีขึ้นอยู่แล้ว ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายระยะยาว หรือคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่คุณจะได้รับ หรือในกรณีที่การทำโปรเจคแล้วคุณให้ความสำคัญกับการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ทำลายโลก มันก็ดีในแง่ราคา เช่นเดียวกับในกรณีที่ต้องสั่งอาหาร ที่เราจะเน้นวัตถุดิบจากในชุมชนพื้นที่ ซึ่งเมื่อตั้งหลักเช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาที่เราจะได้ของที่มีราคาถูก เพราะมันจะไม่มีค่าขนส่ง และเป็นของที่หาได้ตามท้องถิ่น ในฤดูกาล มันก็น่าจะดีกับบริษัท

หรือการทำกิจกรรมเพื่อสังคมยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่การปลูกป่า แต่เมื่อมองในภาพกว้างทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม นั่นหมายถึงคุณสามารถทำ กับคนในบริษัท คนในชุมชนก็ได้ เพราะถ้าคุณภาพชีวิตเขาดี เขาก้จะอยู่กับเราต่อไป เพราะถ้าชุมชนดี รักบริษัท ก็หมายถึงการมีแหล่งงานใกล้บ้าน ไม่ได้มีการต่อต้านอะไร

ความรู้หรือ Skill ไหนบ้างที่จำเป็นกับโลกที่กำลังพูดถึงความยั่งยืน?

ถ้าเจาะจงเป็นทักษะใดทักษะหนึ่งก็ตอบยากนะ ผมมองว่าทักษะใดก็สามารถมีส่วนร่วมได้ เคยมีองค์กรด้านศิลปะหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ก็เคยใช้ผลงานศิลปะมาเชื่อมโยงความยั่งยืน การจัดการสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบ และการกระทำที่ไม่คิดถึงแต่ตัวเอง

หลักนี่มันเกี่ยวข้องกับหลายทักษะ ถ้าเราแบ่งประเภทความยั่งยืนต้องการทั้งความรู้ในด้าน Hard Skill ที่เป็นวิศกรรมหรือวิทยาศาสตร์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง เช่น การทำรถไฟฟ้า การออกแบบแผงโซลาร์เซลล์ เหล่านี้ก็ช่วย ในส่วนหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่ง การคิดจะทำแบตเตอรี่รถไฟฟ้า มันก็ต้องมีส่วนเสียในการใช้แร่ลิเธียมเพื่อเป็นส่วนประกอบ นั่นก็มีส่วนต่อการทำลายทรัพยากร ซึ่งในกระบวนการนี้ก็ต้องมี Soft Skill ที่จะจัดการ และวางแผนให้เกิดการรีไซเคิลกลับคืนมาใช้ใหม่

หรือแม้กระทั่งการทำ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) การทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หรือ การวัดค่าที่เน้นการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการลงทุนหรือโครงการต่าง ๆ (SROI)  มันล้วนผ่านการคิดและร่วมลงกับคนหลายทักษะ และอย่างที่บอกไปว่าเวลาเราพูดถึงการพัฒนา หรือความเปลี่ยนแปลง เรามักจะพูดถึงคำว่า Win-Win ซึ่งความเห็นส่วนตัวสำหรับผม ไอ้การ Win-Win มันไม่น่าจะจริง เพราะในแต่ละการพัฒนามันจะมีผู้สูญเสีย แต่จะมีมาตรการอย่างไรที่จะยาเยียวยาผู้ที่สูญเสียเหล่านั้นให้ดีที่สุด

อาชีพที่มากับความยั่งยืน ฟังดูมันมันเหมือนง่ายนะ แต่เราต้องการความรู้เฉพาะทาง หรือคนที่จะวางแผนว่า ความสูญเสียมันถูกคิดในทุกมิติจริงๆ เช่น การคิดค่าสูญเสียในการทำโครงการต่างๆ รวมถึงการจ้างงานให้กับกลุ่มที่ถูกละทิ้ง สิ่งนี้สร้างมูลค่าอะไรบ้าง ทั้งในมุมของ Social Return และผลตอบแทนที่เป็นมูลค่าเงินจริงๆ

ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล, ภูเบศ บุญเขียว

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

อ่านเพิ่มเติม : รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม ถอดรหัส Liquid Crystal โปรเจคของเหลวในหน้าจอโทรศัพท์ ที่ NASA วิจัยร่วมกับคนไทยส่งไปอวกาศ

รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม

 

Recommend