ถอดความคิดและบทเรียนจาก “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต”บันทึกชีวิตผ่านตัวหนังสือของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในรอบ 7 ปีนักษัตร
ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน ที่ผ่านมา หนังสือที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเล่มหนึ่งคือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” ซึ่งเขียนโดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานกรรมการของบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
“ชีวิตนี้ชะตาลิขิต เป็นบันทึกช่วงชีวิตตลอด 7 รอบนักษัตร หรือ 84 ปีของ ดร.สุเมธ ตั้งแต่วัยเยาว์ถึงปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละช่วงวัยท่านได้ผ่านประสบการณ์หลากหลาย รวมถึงเหตุการณ์ในช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการได้รับโอกาสในการถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ชีวิตนี้ชะตาลิขิต แบ่งเนื้อหา ตาม 7 รอบนักษัตร ตั้งแต่พุทธศักราช 2482 – ปัจจุบัน ซึ่งเปรียบได้กับการเดินทาง และโอกาสนี้ National Geographic ภาษาไทย ได้รับความกรุณาให้เข้าร่วมสนทนาถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของชีวิต และการสรุปบทเรียนผ่านประสบการณ์ของ ดร.สุเมธ ในการแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ณ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
จุดเริ่มต้นหนังสือของการเขียนหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ผมตอนแรกผมไม่คิดเลยแม้แต่น้อย ไม่คิดว่าจะมีเรื่องราวให้ใครฟัง จนวันหนึ่งคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานรุ่น ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย. มาบอกผมว่า ผมควรจะมีหนังสือเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตลอด 84 ปีของผม
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำหลักสูตรการอบรมนี้ขึ้น เมื่อปี 2559 เพื่อสร้างผู้นำคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อันจะนำสังคมไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนต่อไป แต่หลักสูตรนี้ไม่เหมือนกับหลักสูตรทั่วไป แต่เราเอาแบบจำลองของสังคมไทยมา ส่วนแรกคือเราเอาคนที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ การค้าขาย หรืออธิบายง่ายๆว่า เป็นกลุ่มเศรษฐีขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ อีกกลุ่มเราก็เอาชาวไร่ ชาวนา ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นรากแก้วที่สำคัญของประเทศ จากนั้นเราก็แทรกกลางด้วยบรรดาครูบาอาจารย์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนมากมีการศึกษาสูง ร่ำเรียนตำรับตำราของต่างประเทศ แต่อาจไม่มีประสบการณ์ เราเอา 3 ส่วนนี้มาอยู่ในห้องเดียวกัน ซึ่งก็ถือเป็นส่วนผสมที่แปลก เป็นกลุ่มสังคมที่เชื่อมโยงต่อกัน เราเอาคำของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นปรัชญา คือเริ่มจากเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ให้แต่ละคนเข้าใจบทบาทของแต่ละคน รู้จักโลก รู้จักภูมิภาค รู้จักบทบาทของเรา ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก เชิญวิทยากรในระดับนานาชาติ มาคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน มาแลกเปลี่ยนกัน ก็รู้ถึงปัญหาบ้านเมือง
ในชั้นเรียน ที่เห็นเลยคือมันมีเรื่องดีที่ทำให้คนเป็นผู้นำเศรษฐกิจมารู้ถึงปัญหาระดับล่าง เกิดเป็นแนวทางต่างๆ เช่นการมีตลาดชุมชน การเกิดช่องทางการติดต่อระหว่างเจ้าสัวกับคนรากหญ้า พอมีปัญหาอะไร ครูบาอาจารย์เข้าไปซัพพอร์ต ซึ่งในรุ่นแรกนั้นคุณหนุ่ม (ฐาปน) เขาเป็นประธานรุ่น ผมก็ถูกยกให้เป็นครูใหญ่ ซึ่งพวกเขาเห็นว่าผมพอมีเรื่องราว ก็อยากให้ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดกับตัวเรานั้นเป็นหนังสือ อย่างกระนั้นก็ตามผมก็บอกคุณหนุ่มว่า ถ้าจะทำจริงๆ ก็ขออย่าให้มันดีเกิน เพราะผมอยู่มาถึงอายุ 80 กว่า ปมด้อยในใจมันไม่มีแล้ว และก็ยอมรับได้ว่าชีวิตเรามีทั้งดีและไม่ดี
ดังนั้นการถอดบทเรียนแต่ละช่วงเวลาจะมีทั้งดีและเลว ไม่ใช่จะมีแต่ด้านดีด้านเดียว อย่างน้อยประสบการณ์ของเราเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจให้ผ่านอุปสรรค และสำหรับตัวผมเองก็เป็นคนขี้เกียจ ไม่เคยบันทึกอะไรไว้เลย ถ้าหนังสือนี้จะมีคลาดเคลื่อนเรื่องเวลาบ้าง ตัวบุคคลบ้าง ก็ต้องขออภัย แต่หลักใจความสำคัญถูกต้องแน่นอน และโอกาสนี้ก็ต้องขอชมเชยและขอบคุณทีมงานช่วยทำงานจนสำเร็จ
ชะตาลิขิตที่ใช้เป็นชื่อหนังสือ กับ ดร.สุเมธ เชื่อมโยงกันอย่างไร?
สำหรับผมเองหนังสือเล่มนี้ถือเป็นการทบทวนชีวิตตัวเอง โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ unconventional (ไม่เป็นไปตามแบบแผน) ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ค่อยมีรูปแบบอะไรตายตัว ค่อนข้างแหวกแนว กล้าที่จะเปลี่ยน ซึ่งวันนี้มันถึงรู้ว่ามันก็มีข้อดี เป็นเป็นแบบอย่างในยุคสมัยที่มันมีคำว่า Disruption อยู่ โดยส่วนก็คิดว่าการเปลี่ยนแปลงมันสำคัญ และเราก็เป็นคนที่พร้อมเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว เรากล้าที่จะทำ
คำว่า ชะตาลิขิต มันเป็นอะไรที่ตรงกับตัวเรา มันเหมือนชะตาพามา อะไรที่วางแผนมักไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่เกินขึ้นเพราะชะตา ช่วงที่ทำงานแรกๆ ใฝ่ฝันจะเป็นนักการทูต อยากไปอยู่ต่างประเทศ กลับกลายว่าต้องสะพายปืนในสนามรบ 11 ปี
ช่วง 12 ปีแรกของการทำงาน ตั้งแต่ 2521-2524 ไม่มีใครรู้ว่าชีวิตผมเป็นอย่างไร มาเห็นอีกทีผมเดินตามเสด็จฯ แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ผมอยู่ในป่าตลอด วางแผนสู้กับผู้ก่อการร้าย สะพายปืน กินนอนกับทหาร แต่สนุก
ตอนจะคิดชื่อหนังสือ ตอนนั้นคิดอยู่นานและปรึกษาหารือกันควรจะใช้ชื่ออะไรดี ผมนั่งคิดดูชีวิตมันถูกกำหนดโดยผู้อื่น โดยฟ้า ดิน อะไรต่างๆ ความหวังของชีวิตและความปรารถนาส่วนตัวนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย ถ้าให้เล่าเกิดมาเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่ได้เข้าเรียนเพราะร่างกายอ่อนแอ เกิดภัยสงครามต้องหลบระเบิดไปเติบโตอยู่ จ.เพชรบุรี เรียนโฮมสคูลตั้งแต่คำนี้ยังไม่เกิด คุณแม่จ้างคุณครูมาสอนที่บ้าน ถึงเวลาสอบก็ไปสอบที่โรงเรียนแถวบ้าน แล้วสอบเทียบ ม.3 เข้าเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้ 3 ปีแล้วเตลิดเปิดเปิงไปเรียนต่อเมืองนอก ใครๆ เขาไปยุโรปอเมริกา แต่ต้องไปเรียนมัธยมที่ประเทศเวียดนาม 6 ปี รบหนักขึ้นย้ายมาจบที่ สปป.ลาว อยู่หัวเดียวกระเทียมลีบแล้วไปเรียนต่อฝรั่งเศส จบรัฐศาสตร์การทูตหวังจะเป็นทูต แต่ฟ้าลิขิตต้องไปรับราชการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพทั้ง 4 ภาค และจุดเริ่มต้นชีวิตกลางสนามรบเป็นชีวิตการทำงานที่ต้องวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบจริง
เคยมีอยู่ช่วงหนึ่ง อยากลาออกจากราชการไปเป็น ตำรวจตระเวนชาย ตชด ไอ้ตอนนั้นเราก็ชอบบู๊ แล้วเพื่อนเราบอกว่า ตชด ไม่เหมือนตำรวจทั่วไป แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ย้าย คิดจะย้ายงานหลายที่นะ แต่พอผ่านมาเราก็สรุปบทเรียนว่า จะย้ายงานก็อดทนไว้ มันอาจจะช้า อาจจะไม่ได้ แต่พอฟ้าเปิดก็มา สิ่งที่ได้จากการทำหนังสือทำให้เราทบทวนให้กับอดีตที่ผ่านมา ทุกคนก็อยาก มีกิเลส อยากเติบใหญ่ แต่ชะตาชีวิตมันกำหนดไว้ สุดท้ายได้มาถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แต่งานก็คงเดิม เข้าไปช่วยชาวบ้าน ตอนอยู่ในป่า เราก็ไม่ได้ไปไล่ยิงชาวบ้าน แต่ทำยังไงให้เขาหลุดพ้นจากความยากจน จากปัจจัยที่ทำให้เป็นผู้ก่อการร้าย
ในหนังสือมีถ้อยคำที่เขียนไว้ว่า “ชะตาชีวิตผมถูกขีดมาอย่างนี้ บางช่วงทุกข์มาก มืดมนไปหมด ถึงเวลาก็สว่างของมันเอง บทเรียนง่ายๆ มีเท่านี้ ถึงเวลามันก็สว่าง ถึงเวลามันก็มืด ใจเรามันทุรนทุรายนึกว่ามืดไม่มีวันสว่าง จริงๆ ทุกอย่างมันเป็นเวลา จะไปเจอใคร จะเจออะไร เขาลิขิตมาหมดแล้ว” ผมเชื่อในชะตาลิขิตเพราะว่าเหตุการณ์อะไรหลายอย่างมันไม่น่าเป็นไปได้ แต่ว่าเราไม่ปล่อยตัว ยอมรับชะตาแต่ไม่ปล่อยตัว ไม่ว่าอยู่ตรงไหนเราก็ทำเต็มที่ของเรา เหตุการณ์หลายอย่างมันไม่น่าเป็นไปได้ เรายอมรับชะตา แต่เราไม่ปล่อยตัว ไม่ว่าอยู่ตรงไหนเราทำเต็มที่
หลายคนรู้จักอาจารย์ น่าจะเป็นช่วงที่มีโอกาสติดตาม และถวายงานด้านการพัฒนา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีช่วงไหนที่ประทับใจมากที่สุด?
ท่านทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโปรดเกล้าฯ ให้ผม เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงของการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมกับเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
เรื่องความประทับใจนี่มีเป็นระยะตลอด โดยตำแหน่งอาจจะมองได้ว่าผมถวายงานแด่พระองค์ท่าน แต่ในความเป็นจริงเราไม่มีอะไรถวายท่าน ท่านต่างหากที่สอนเรา เราไม่ได้เรียนด้านนี้มา เราเรียนจบรัฐศาสตร์ การทูต แต่การเรียนเขาก็ไม่ได้สอนเรื่องดิน เรื่องน้ำ ฟื้นฟูป่า เลยสารภาพตามตรงว่า ตอนแรกเราไม่มั่นใจในหน้าที่ตรงนี้เลย
แต่ท่านท่านก็เมตตาสอนให้ 36 ปีที่อยู่กับพระองค์ท่าน พระองค์ท่านเป็นครูที่สอนลูกศิษย์ที่ไม่รู้เรื่องแม้แต่น้อยในตอนแรก แม้ส่วนตัวจะเรียนในหลายประเทศ และเคยฝึกงานในหลายๆทวีป แต่ไม่มีโรงเรียนไหนสอนได้เท่ากับท่าน นี่เป็นหลักสูตรยาวในการเดินตามท่าน 36 ปี มันเป็นสรรพสิ่งที่วิชาการไม่ได้สอน
สำหรับตัวผม ท่านสอนชีวิต สอนปัจจัยแห่งชีวิต มอบความรู้รอบตัวที่มหาศาล จากคนไม่รู้ เมื่อผ่านไป 30 กว่าปี เวลางานใดๆที่เชิญเราไปบรรยาย เราก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านสามารถทำให้คนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ให้รู้ได้ ท่านสอนด้วยการทำให้ดู และสอนสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ โดยมีหัวใจว่าเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม สำหรับตัวผมเองโอกาสและการงานที่ดีเปรียบเสมือนสภาพแวดล้อมที่ดีทำให้คนดื้ออย่างเราเป็นคนดีได้
ในฐานะผู้มีประสบการณ์ ผ่านการเรียน การทำงานมามากมาย มีความรู้ใดที่อยากสื่อสารไปถึงคนรุ่นใหม่?
อยากให้มองถึงสิ่งที่เรากำลังยืนอยู่ ในยุคนี้หลายคนมองความสุขแบบที่เป็น Visual (เฉพาะที่มองเห็นได้) ให้ความสำคัญกับเรื่องเงิน ความสุขเฉพาะหน้า แต่ลืมไปว่าเบื้องหลังเรามีสิ่งที่สำคัญอยู่นั้นคือแผ่นดิน อาหารทุกมื้อ น้ำทุกแก้ว มาจากแผ่นดินของเราทั้งนั้น แม้การมีเทคโนโลยีทำให้เราสนุกขึ้น ง่ายขึ้น เท่านั้น แต่มันไม่ได้ทำให้เราอิ่มได้ กินได้
แน่ละว่าเราไม่ได้ปฏิเสธเงิน เงินทองสำคัญเราไม่มองข้ามหรอก แต่เราต้องรู้ว่าข้าวของในจานที่เราจะใช้เงินซื้อมานั้นมาจากไหน และมันก็มาจากแผ่นดินทั้งนั้น ทำไมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงใช้เวลาทั้งหมดปีละประมาณ 8 เดือน ตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อรักษาดิน น้ำ ลม ไฟ ให้เราได้มีข้าว มีปลา มีผัก แต่การพัฒนาที่มองเพียงเงินจะทำลายสิ่งเหล่านี้ไป เราอาจจะคิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่ ยกตัวอย่างว่า วันนี้แม้เรามีเงิน แต่ก็ไม่สามารถที่จะสูดอากาศบริสุทธิ์ได้ ถ้ายังมี PM 2.5 ได้ หรือการมีโทรศัพท์ล่าสุดก็ไม่สามารถจะหาแหล่งน้ำสะอาดได้
เคยมีคนบอกว่า ยิ่งเจริญยิ่งทุกข์ ยิ่งเสี่ยงต่อการทำลาย มันมีบางส่วนที่กลับไปคิด ถ้าจะสื่อสารกับเด็ก หรือเวลาผมมีโอกาสสอนเด็ก ผมจะใช้อีกภาษา ผมบอกพวกเขาว่า “พวกเอ็งดูที่เท้าพวกเอ็งหน่อยสิ ว่าเห็นอะไร ใต้เท้าพวกเอ็งเหยียบอะไร ถ้าไม่มีแผ่นดินไทยเอ็งจะไปยืนที่ไหน ไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ บางที่ถึงเวลาเขาก็มีสิทธิ์ไล่เราออก คงไม่มีที่ไหนที่จะให้เอ็งอยู่ได้เหมือนแผ่นดินไทย ดังนั้นช่วยกันรักษาไว้”
ในมุมมองของผม ผมไม่ได้รักแผ่นดินไทยในความหมายของนามธรรม แต่ผมมองในสิ่งที่มีอยู่จริง เรามองถึงอากาศ น้ำ อาหารที่มาจากแผ่นดิน สิ่งนี้ให้คุณค่ากับเรา และเราก็ต้องรักษาแผ่นดิน น้ำ ลมไฟ เพื่อให้คนไทยกลับมาใช้ประโยชน์ เพราะเราจะอยู่ไม่ได้ ถ้าประเทศนี้ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ลม ไฟ และทุกอย่างมันสูญสลายไปหมด
อะไรคือคีย์เวิร์ดสำคัญที่จะมอบให้แก่ผู้อ่านในหนังสือเล่มนี้?
มันก็เป็นประสบการณ์และแนวคิดของคนแก่คนหนึ่ง มันก็อาจจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ผมยึดหลักในชีวิตง่ายๆว่า สิ่งที่เราทำ อย่าทำให้ใครเดือดร้อน และในฐานะผู้สูงวัยคือ อย่าหยุดทำ แม้จะอายุ 84 ปีแล้ว แต่ก็ไม่คิดจะนั่งเฉยๆ หยุดยาวทีไรสักวันที่ 2-3 ผมก็เริ่มครั่นเนื้อครั่นตัวแล้ว
สำหรับหนังสือเล่มนี้ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ และก็ได้ถวายลิขสิทธิ์ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้จะเข้ามูลนิธิชัยพัฒนาทั้งหมด ถ้าใครที่จะซื้อหนังสือ ให้คิดเสียว่ามาสมทบให้กับมูลนิธิ มาช่วยกันทำงาน และเรามีของชำร่วยคือหนังสือมอบให้
หมายเหตุ : หนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” สนับสนุนการจัดทำโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ราคาเล่มละ 999 บาท รายได้จากการจำหน่ายหนังสือทั้งหมดสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา