“SPACE JOURNEY BANGKOK” นิทรรศการด้านอวกาศ เตรียมจัดในไทย 16 ธ.ค. 67 – 16 เม.ย. 68 ที่ไบเทคบางนา
อวกาศหน้าตาเป็นแบบไหน ถ้าใครนึกไม่ออก วันที่ 16 ธันวาคม 2567 -16 เมษายน 2568 ที่ไบเทคบางนา เตรียมตัวออกผจญภัยไปกับนิทรรศการอวกาศระดับโลก SPACE JOURNEY BANGKOK ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Index Creative Village และภิรัชบุรี กรุ๊ป โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเปิดโลกการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีอวกาศ



นิทรรศการ SPACE JOURNEY BANGKOK จะจัดแสดงพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร พร้อมห้องนิทรรศการ 10 ห้องเสมือนจริง ที่พาคุณย้อนเวลากลับไปสำรวจอดีตของการเดินทางสู่อวกาศ และทำนายอนาคตด้วยเทคโนโลยีล่าสุด รวบรวมชิ้นส่วนยานอวกาศที่ผ่านการใช้จริงและแบบจำลองที่หาชมยากกว่า 600 ชิ้น ทั้งที่เป็นของจริง(original objects), รุ่นพัฒนา (prototypes), ของเสมือนจริง (replica) และ แบบจำลอง (model) รวมถึงเอกสารต้นฉบับต่างๆ อีกมากมาย จากสหรัฐอเมริกา โซเวียตและอื่นๆ มาจัดแสดงในรูปแบบของห้องจัดแสดง การฉายวิดีทัศน์ในโรงหนัง รวมถึงการนำเสนอผ่านเทคนิคโปรเจคชั่นแมปปิ้ง จัดแสดง 10 ห้องนิทรรศการ รวมถึงประสบการณ์ชมภาพยนตร์ 3 มิติ, โซนโลกจักรวาลแบบ Interactive รวมถึงไจโรสโคป พัฒนาการของการสำรวจอวกาศตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน และแผนการในอนาคต โดยเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการสำรวจด้านอวกาศ

จัดแสดง 5 ประเทศ ยอดผู้ชมงานกว่า 1 ล้านคน
นิทรรศการอวกาศระดับโลกนี้ มีการจัดแสดงไปแล้ว 5 ประเทศในยุโรป ภายใต้ชื่อ Cosmos Discovery Space Exhibition ซึ่งมีผู้เข้าชมงานรวมกว่า 1 ล้านคน และสำหรับการจัดงานที่ประเทศไทย มีเป้าหมายในการดึงดูดผู้เข้าชมกว่า 200,000 คนในระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งจะเป็นโอกาสที่คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์ท่องอวกาศอย่างใกล้ชิด
นิทรรศการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมเปิดมุมมองพร้อมสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของไทยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ดร. ปกรณ์ อาภาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พร้อมด้วย คุณดำรง ลี้ไวโรจน์ บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด ในเครือ อมรินทร์ กรุ๊ป และคุณกรทอง วิริยะเศวตกุล แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ


ไฮไลต์ประสบการณ์ในอวกาศ
ภายในงานจะมีการจัดแสดงตั้งแต่ต้นกำเนิดของการสำรวจอวกาศไปจนถึงปัจจุบัน และอนาคต ประกอบด้วยวัตถุจริงและวัตถุที่หาชมยากกว่า 600 ชิ้น ซึ่งไฮไลต์ที่น่าสนใจสำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ ผู้เข้าชมจะได้พบกับ
- ชิ้นส่วนประกอบดั้งเดิมของเครื่องยนต์ F1 ของกระสวยอวกาศ แซทเทิร์น V (Saturn V) ที่กอบกู้มาจากก้นมหาสมุทรแปซิฟิก โดย Jeff Besos เจ้าของ Amazon ซึ่งเป็นวัตถุที่มีคุณภาพสูง จะเห็นได้ว่าตัววัตถุนี้เองยังสามารถคงรูปร่างได้ดี แม้จะอยู่ในที่ที่อุณหภูมิต่ำในมหาสมุทร หรือผ่านจุดที่อุณหภูมิสูงใกล้จุดหลอมเหลวมาแล้วก็ตาม
- แผงควบคุมต้นฉบับจากศูนย์บัญชาการภารกิจฮูสตัน ที่วิศวกรได้ใช้สื่อสารกับนักบินอวกาศในภารกิจ Apollo และกระสวยอวกาศชุดแรกๆ และที่น่าสนใจคือกระดาษที่มีการคำนวณเส้นทางการบินต่างๆ ที่เหล่าวิศวกรได้คำนวนด้วยมือ วางไว้อยู่ด้านข้าง
- แบบจำลอง 1:1 ของโมดูลควบคุมยาน Apollo โมเดลนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมตามยุคสมัยตลอดระยะเวลาการบิน ซึ่งนักบินอวกาศต้องอยู่ในพื้นที่แคบที่ต้องแบ่งปันพื้นที่กับวัสดุที่เก็บมาด้วย เช่น ชิ้นส่วนหินจากดวงจันทร์
- แบบจำลองรถสำรวจดาวอังคาร หุ่นยนต์ที่ทำงานหนักที่สุดนอกโลกจากเดิมมีแผนทำงาน 90 วัน แต่สุดท้ายทำงานถึง 5,498 วัน
- แบบจำลองของยานสำรวจดวงจันทร์ ช่วยนักบินอวกาศไม่ต้องเดินเท้าในภารกิจ Apollo 15, 16 และ 17
- รถสำรวจดวงจันทร์ Lunokhod ของรัสเซีย ส่งขึ้นไปแทนมนุษย์บนยาน Luna ผ่านการควบคุมจากศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินคอลเลกชันอุกกาบาตและหินจากดาวอังคาร ที่มีมูลค่าสูงกว่าทองคำต่อกรัม
แบบจำลองจรวดแซตเทิร์น 5 ขนาด 1:10) จรวดแซตเทิร์น 5 ได้ถูกปล่อยออกไปทั้งหมด 13 ครั้ง โดยในช่วงระหว่างวันที่ 9 พ.ย. 1967 ถึง 14 พ.ค. 1973 มีจรวดที่ปล่อยออกไปแล้วประสบความสำเร็จถึง 11 ครั้ง และด้วยความสูงกว่า 110 เมตร ทั้งยังสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ถึง 140 ตันในวงโคจรชั้นต่ำ ตัวจรวดมีน้ำหนักเกือบ 3,000 ตัน จึงนับได้ว่าเป็นจรวดที่ดีที่สุดบนโลกในช่วงเวลานั้น

อ่านเพิ่มเติมที่ : “กรยณัฐน์ โฮะซึมิ” เล่าชีวิตนักวิจัยที่ NASA กับการศึกษาวิทยุความถี่สูงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอวกาศ