สำรวจ สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย จ.ตรัง ป่าดิบชื้นผืนใหญ่ อีกหนึ่งแหล่งโอโซนของภาคใต้

สำรวจ สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย จ.ตรัง ป่าดิบชื้นผืนใหญ่ อีกหนึ่งแหล่งโอโซนของภาคใต้

เดินสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย แหล่งนิเวศสองป่าแห่งเมืองตรัง สัมผัสธรรมชาติบริสุทธิ์ เดินสะพานศึกษาพรรณไม้ และสำรวจจุดที่พืชวงศ์ยางอุดมสมบูรณ์ที่สุด

สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย หรือ สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ ตั้งอยู่ตั้งอยู่ริมถนนตรัง-ปะเหลียน ในพื้นที่ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งค่าย พัฒนายกฐานะเป็นสวนพฤกษศาสตร์ในปี พ.ศ. 2536 โดยใช้ชื่อว่า สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) และเปลี่ยนชื่อเป็น สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย ในปี พ.ศ.2557

ทั้งนี้ สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย คือสถานที่อนุรักษ์พันธุ์ไม้ สัตว์ป่า และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดตรัง รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่สนใจศึกษาธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยา พืชและและพรรณไม้ต่างๆ โดยภายในสวนพฤกษศาสตร์มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สวนรุกขชาติ สวนสมุนไพร ห้องสมุดพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พืช และศูนย์ประชุมทางวิชาการ

สวนแห่งนี้มีพื้นที่กว้างขวางครอบคลุมเกือบ 2,600 ไร่ เดิมทีได้สร้างไว้ใช้ประโยชน์ศึกษาทรงพุ่มยอดไม้สำหรับนักวิจัย หลังจากนั้นได้ถูกพัฒนาปรับปรุงมาใช้ประโยชน์เชิงการท่องเที่ยว ระยะทางจากทางเข้าสวนพฤกษศาสตร์มาถึงสะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้ ความยาวประมาณ 700 เมตร

นอกจากนี้ สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่ายยังมีชื่อเสียงในเรื่องของการเป็นอีกแหล่งโอโซนสำคัญของภาคใต้ จากสภาพป่าโบราณที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีอากาศดี มีลมเย็นพัดตลอด ไม่ร้อน ช่วงเช้ามีหมอกอ่อนๆ ไร้มลพิษ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่ายจะอยู่ห่างจากตัวเมืองตรังเพียง 11 กิโลเมตรเท่านั้น ที่นี่จึงได้สมญานามว่า ป่าในเมือง หรือ ป่ากลางเมือง

เที่ยวสองป่าโบราณ ชมพรรณไม้หายาก

สำหรับสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย มีสองป่าอยู่ในจุดเดียวคือ ป่าดิบชื้น กับ ป่าพรุในพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่าดิบชื้นและเนินเขาเตี้ยๆ มีการแบ่งเป็นส่วนพื้นที่ของกลุ่มพันธุ์พืช เช่น สวนเฟิร์น (เฟิร์น เห็ด รา) พืชกินแมลง พืชวงศ์ปาล์ม พืชวงศ์ยาง และยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชทางภาคใต้อีกหลายชนิด ซึ่งบางต้นเก่าแก่ มีอายุเป็นร้อยปี

เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าทุ่งค่ายมีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเลือกให้เจ้าหน้าที่นำชมเป็นหมู่คณะหรือเดินชมเองก็ได้ โดยเจ้าหน้าที่ของสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย เปิดเผยว่า พรรณไม้โดดเด่นของที่นี่คือ พืชวงศ์ยางหายากหลายชนิด อาทิ เคี่ยม พะยอม กระบาก หูยาน รวมถึงยังมีต้นไม้ที่หลากหลายตั้งแต่ต้นใหญ่ไปจนถึงต้นเล็ก ทั้ง ต้นไทร ต้นเทียะ ต้นกาแดะ ต้นขมิ้น ต้นสะเตียว ไปจนถึง หม้อข้าวหม้อแกงลิง หว้าดิน และ กล้วยไม้ดิน

ขณะเดียวกันภายในยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศป่าดิบชื้น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านนิทรรศการ ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ตัวอย่างแมลง ผีเสื้อ พืชดอง สัตว์ดอง และไม้กลายเป็นหิน

สะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้แห่งแรกของประเทศไทย

สะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้  (Canopy Walk Way) คือจุดไฮไลต์ของสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย สร้างเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2547 มีความยาว 175 เมตร มีความสูง 10-18 เมตร มีจำนวน 6 หอคอย รองรับน้ำหนักได้ 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งถือเป็นสะพานศึกษาธรรมชาติแห่งแรกของไทย

อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการของนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ใช้บริการเดินสะพานได้ครั้งละไม่เกิน 3 คนต่อ 1 ช่วงสะพานเท่านั้น โดยวัตถุประสงค์ของการสร้างสะพานศึกษาธรรมชาติคือ เพื่อให้ผู้มาเยือนสามารถศึกษาพรรณไม้และสัตว์ที่อยู่ในระดับสูง ได้อย่างใกล้ชิด

อนึ่งเมื่อเดินบนสะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้ สามารถสัมผัสกับความสวยงามและความสดชื่นท่ามกลางยอดไม้เขียวทึบของป่าดิบชื้นรอบตัวได้ง่ายๆ รวมทั้งอาจมองเห็นสัตว์ป่าต่างๆ อย่าง นกแต้วแล้วธรรมดา นกแซงแซว นกกะเต็น กระรอก ลิง ค่าง และใครโชคดีอาจได้เห็น พญากระรอกดำ หรือ พะแมว สัตว์ป่าหายาก ในกลุ่มกระรอกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในไทย ซึ่งหากไม่จุใจที่นี่ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าพรุระยะทางประมาณ 1,200 เมตรให้เดินชมอีกด้วย

สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. โดยจะมีมัคคุเทศก์น้อยที่เป็นเยาวชนจากโรงเรียนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงมาช่วยเป็นไกด์ให้กับนักท่องเที่ยว สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่มีช่วงเวลาที่แนะนำคือเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมิถุนายน ส่วนช่วงที่เข้าชมได้แต่ลำบากหน่อยคือช่วงหน้าฝนของภาคใต้

หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร 075291456

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพถ่ายโดย วรางคณา จันทรัฐ

อ่านเพิ่มเติม : ขึ้นเขาตังกวน โอโซนใจกลางเมืองสงขลา ที่ตั้งเจดีย์พระธาตุศิลปะสมัยทวารวดี

Recommend