ทางออกเรื่องขยะพลาสติก: เราจะหยุดยั้งคลื่นขยะได้อย่างไร?
ในโลกซึ่งอาจดูเหมือนท่วมท้นไปด้วยขยะพลาสติกที่ราวกับอยู่ไปชั่วนิรันดร์ พลาสติกที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้คือทางออกใช่หรือไม่ อาจจะไม่ใช่ แม้แต่อุตสาหกรรมพลาสติกเองยังถกเถียงกันว่า คำว่า “เสื่อมทางชีวภาพ” (biodegradable) หรือย่อยสลายทางชีวภาพ แปลว่าอะไรกันแน่ และพลาสติกบางชนิดที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถย่อยสลายทางชีวภาพ แต่พลาสติกที่ทำจากพืช หรือ “พลาสติกชีวภาพ” (bioplastic) บางชนิดกลับไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้
พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพมีใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 และมีการทำตลาดในช่วงแรกโดยบอกเป็นนัยว่า ขยะเหล่านี้จะหายไปได้เองเมื่อนำไปทิ้ง ไม่ต่างจากใบไม้บนพื้นป่าที่ถูกเห็ดราและจุลชีพในดินย่อยสลาย ทว่าในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพไม่อาจทำได้ตามคำสัญญา เช่น ภายใต้สภาพแวดล้อมไร้ออกซิเจนและมืดมิดของบ่อขยะ หรือในน่านน้ำเย็นเฉียบของมหาสมุทร และคุณไม่สามารถโยนทิ้งให้กลายเป็นปุ๋ยในสวนหลังบ้านได้ การย่อยสลายพลาสติกต้องใช้ความร้อน 55 องศาเซลเซียสของเครื่องหมักเชิงอุตสาหกรรม และบริษัทปุ๋ยอินทรีย์หลายรายเจาะจงรับเฉพาะพลาสติกที่ได้มาตรฐานบางประเภทเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเศษชิ้นส่วนใดๆหลงเหลืออยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของคนได้ แล้วถ้าคุณโยนขยะย่อยสลายทางชีวภาพได้รวมไปกับขยะรีไซเคิล ก็อาจทำให้ขยะอย่างหลังใช้งานไม่ได้อีก เพราะทำให้เกิดส่วนผสมที่นำไปผลิตพลาสติกคงทนใหม่ไม่ได้อีกนั่นเอง
เมื่อปี 2015 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) จัดให้ขยะย่อยสลายทางชีวภาพเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะไม่ช่วยลดปริมาณขยะที่ไหลทะลักออกสู่ท้องทะเล หรือป้องกันโอกาสในการเกิดสารเคมีรั่วไหลหรือภัยคุกคามทางกายภาพต่อสรรพชีวิตในมหาสมุทร
วิศวกรบางคนกำลังมองหาวิธีรับมือกับปัญหาต่างๆเหล่านี้ เจนนา แจมเบ็ก และคณะที่สถาบันวัสดุใหม่ มหาวิทยาลัยจอร์เจีย กำลังใช้พอลิเมอร์ที่สังเคราะห์จากจุลชีพมาทำบรรจุภัณฑ์ที่พวกเขาหวังว่าจะย่อยสลายทางชีวภาพได้เร็วในมหาสมุทร
บริษัทพอลิแมตทีเรีย (Polymateria) ในอังกฤษกำลังทดลองวิธีที่แตกต่างออกไป โดยพัฒนาสารเติมแต่งที่จะย่อยสลายพลาสติก ไม่ว่าจะแบบชีวภาพหรือสังเคราะห์ ได้เร็วขึ้น นีลล์ ดันน์ ซีอีโอของบริษัท กล่าวว่า พวกเขาตั้งเป้าในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ “ทำให้พลาสติกลายเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อม”
ฟังดูเป็นเป้าหมายที่อาจหาญไม่น้อย เพราะแม้แต่ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายทางชีวภาพที่ดีที่สุดก็จะไม่หายวับไปกับตาได้เอง กระถางต้นไม้ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ขั้นทดลองของพอลิแมตทีเรีย อาจใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึงสองปีถ้าหากโยนทิ้งลงคูคลอง นักวิจารณ์บางคนบอกว่า ขยะย่อยสลายทางชีวภาพหลงลืมปัญหาระดับพื้นฐานไป นั่นคือ วัฒนธรรมในการใช้แล้วทิ้งของเรา
“เรากำลังส่งเสริมเรื่องอะไรกันแน่” รามาณี นารายัน อาจารย์ด้านวิศวกรรมเคมี ตั้งคำถาม “โยนทิ้งแล้วขยะจะหายไปเองงั้นหรือ” เขากล่าวว่า แนวทางที่มีความรับผิดชอบมากกว่าคือ รูปแบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (circular economy) ซึ่งจะนำทุกอย่างมาใช้ซ้ำ (reuse) หรือนำไปรีไซเคิล และ “การรั่วไหล” สู่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะย่อยสลายทางชีวภาพหรือไม่ก็ตาม เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
นอร์เวย์แสดงให้เห็นว่า การรีไซเคิลขวดพลาสติกสามารถทำให้สัมฤทธิ์ผลได้แค่ไหน ปัจจุบัน นอร์เวย์นำขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้ถึงร้อยละ 97 โดยผู้ที่นำขวดพลาสติกมาหย่อนตู้หยอดเหรียญที่ติดตั้งไว้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตจะได้รับเงินคืน
ทว่าการรีไซเคิลก็ยังมีข้อจำกัด หลายเสียงบอกว่าทางออกหนึ่งคือ เราต้องใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งให้น้อยลงตั้งแต่เริ่มแรก ขบวนการเคลื่อนไหว “ขยะเป็นศูนย์” ที่เริ่มขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1990 กำลังได้รับความนิยมมมากขึ้นโดยมีชุมชนหลายร้อยแห่งทั่วโลกนำไปใช้
ในสหราชอาณาจักร เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยม เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดช่องสินค้าไร้พลาสติกขึ้นมา และยังกำลังพิจารณาว่าจะเก็บภาษีพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการรณรงค์เพื่อให้อังกฤษปลอดขยะพลาสติกภายใน 25 ปี
จีนกำลังเป็นแรงจูงใจให้ทำเช่นนั้น เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้วที่ประเทศนี้รับซื้อพลาสติกรีไซเคิลเป็นปริมาณราวครึ่งหนึ่งของทั้งโลก แต่ในปีนี้จีนระงับการนำเข้าขยะเกือบทั้งหมด ขยะรีไซเคิลจึงกองท่วมอยู่ในประเทศที่เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา “นั่นทำให้ปัญหาย้อนกลับไปที่ประเทศต้นตอ” แจมเบ็กบอกก่อนจะทิ้งท้ายว่า “เราหวังว่าสิ่งนี้จะผลักดันไปสู่การจัดการแบบหมุนเวียนมากขึ้น”
เรื่อง ลอว์รา ปาร์กเกอร์
อ่านเพิ่มเติม
ผลกระทบจากพลาสติก: เมื่อพลาสติกทำร้ายสัตว์ป่า