ตามช่างภาพไปดูการ ตัดไม้ “เจ้ายักษ์” ชื่อที่เขาเรียกแทนไม้ใหญ่ในเขตสัมปทานป่าไม้มาเลเซีย
ตามช่างภาพไปดูการ ตัดไม้ “เจ้ายักษ์” ชื่อที่เขาเรียกแทนไม้ใหญ่ในเขตสัมปทานป่าไม้มาเลเซีย ประเทศที่ทำอุตสาหกรรมป่าไม้มากว่าร้อยปี เจ้าของสัมปทานยืนยัน การตัดและปลูกทดแทน คือการอนุรักษ์ป่าที่ดีกว่าการปล่อยให้ไม้ใหญ่ยืนต้นตายไปตามธรรมชาติเฉยๆ
นึกย้อนถึงวันแรกที่เจอกับผู้ว่าจ้างให้มาถ่ายภาพการตัดไม้ในรัฐกลันตัน ฝั่งมาเลเซีย พรมแดนติดกับอำเภอสุไหงโกลก นราธิวาส พ่อค้าไม้แปรรูปฝั่งไทย ผู้รับซื้อสินค้าต้นทางฝั่งมาเลย์
บรีฟที่ได้รับคือ “ถ่ายให้สมจริงที่สุด ให้คนดูรูปรู้สึกเหมือนกำลังยืนดูสดๆ อยู่ตรงนั้นด้วยตาตัวเอง
ผมทักด้วยความเป็นห่วง เพราะจินตนาการไปเห็นแต่ภาพลบของกิจกรรมอันป่าเถื่อนโหดร้ายของมนุษย์ที่กำลังประหัตประหารเจ้ายักษ์ใหญ่อายุยืนผู้ไม่มีทางขัดขืน ไม่น่าจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์องค์กร
เราใช้เวลาทำความเข้าใจกันร่วม 5 ชั่วโมง สรุปความได้ว่า การตัดไม้โดยตัวมันเองไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องติดลบเสมอไปตามชุดความคิดที่คนฝั่งเราเชื่อฝังหัวกันมา
มาเลเซียทำอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นล่ำเป็นสันมากว่าร้อยปี วางรากฐานโดยรัฐบาลอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคม สถาปนากรมป่าไม้มาเลเซียขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1901 ถือเป็นหมุดหมายเริ่มต้นของการทำอุตสาหกรรมป่าไม้อย่างเป็นระบบ มีเอกสารชัดเจน ตรวจสอบได้ตลอดเวลา ทุกขั้นตอน กฎหมายละเอียดถี่ถ้วน บังคับใช้จริงจังอย่างเสมอหน้ากัน บริหารจัดการอย่างรัดกุม ครบวงจรตั้งแต่นั้นมา
ตัดต้นไม้เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้
การตัดและปลูกทดแทนคือการอนุรักษ์ป่าที่ดีกว่าการปล่อยให้ไม้ใหญ่ยืนต้นตายไปตามธรรมชาติเฉยๆ
อันดับแรกคือมนุษย์ได้ไม้มาเป็นวัสดุในการก่อสร้าง ผลิตเครื่องใช้สำหรับชีวิตประจำวัน ไม้คือวัสดุที่ยั่งยืนที่สุด ก่อมลพิษน้อยที่สุด และแทบไม่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงใดๆ ในการผลิต เมื่อเทียบกับวัสดุอื่น อาทิ เหล็ก หรือปูนซีเมนต์ ฯลฯ ไม้คือวัสดุทดแทนได้ด้วยการสร้างตัวเองโดยธรรมชาติ
ไม้ใหญ่กักเก็บคาร์บอนและปล่อยอ็อกซิเจนสู่โลก จนกระทั่งถึงช่วงอายุหนึ่งจะหยุดดูดซับคาร์บอนจากบรรยากาศ เมื่อล้มลงกลายเป็นซากเน่าเปื่อยก็จะคายคาร์บอนกลับสู่โลกอีกครั้ง การตัดเมื่อถึงอายุที่พอเหมาะย่อมก่อให้เกิดวงจรอันเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับต้นไม้หนึ่งต้น
การปลูกป่าทดแทนให้เพียงพอ เป็นไปโดยทั้งถูกบังคับด้วยข้อกฏหมาย และทั้งการเล็งผลประโยชน์ระยะยาวของตัวผู้ประกอบการเอง เพราะมันคือทรัพยากรล้ำค่าที่จะคืนกำไรมหาศาลในวันข้างหน้า ไม้ใหญ่ที่หมดอายุขัย เมื่อถูกตัดไปจะทำให้ไม้เล็ก ๆ ที่อยู่เบื้องล่างมีโอกาสเติบโตได้เร็วขึ้น ทำให้ผืนป่าหมุนเวียนเป็นวงจรได้สมบูรณ์ขึ้น ฯลฯ
“ตัดต้นไม้เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้” ฟังไม่คุ้นหูเอาซะเลย ผมถามย้ำแล้วย้ำอีก สิ่งที่เพิ่งได้ฟัง มันช่างผิดแผกจากชุดความเชื่อเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ได้ยินมาตั้งแต่จำความได้
“เดี๋ยวเห็นกับตาตัวเองแล้วจะเข้าใจ” ผู้จ้างยืนยันกับผมอย่างนั้น
ลุยป่าดงดิบ ฟังเสียง “เจ้ายักษ์” ล้ม
รถกระบะโฟร์วีล 2 คัน พวกเราค่อย ๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านป่ายาง ป่าที่เพิ่งถูกตัด ป่าปลูกทดแทน เข้าสู่เขตป่าดงดิบ เขียวขจีมาตลอดทางตั้งแต่ข้ามด่านชายแดนเข้ามาเมื่อวาน ไม่มีที่ว่างเข้าหัวโล้นให้เห็นแม้แต่หย่อมเดียว นั่งรถโขยกโยกเยกอยู่นานพอสมควร พวกเรามาถึงลานเล็กๆ ที่เหมือนเป็นจุดรวมพล ก่อนหักหัวเชิดขึ้นไปอีกสู่ที่หมาย
คลานช้า ๆ ไต่ระดับความชัน ผ่าเข้าสู่ใจกลางป่าดิบฝนขนานแท้ ไม้ยักษ์ใหญ่สูงเสียดฟ้าจำนวนมหาศาล ยืนตระหง่านเหนือกลุ่มพุ่มไม้รกทึบนานาพรรณปกคลุมพื้นที่อยู่เบื้องล่าง
ขบวนรถหยุดอีกครั้ง “เจ็กไช้” เจ้าของสัมปทานพื้นที่ตัดไม้เอาแผนที่มากาง ปรึกษากับลูกน้องเป็นภาษาท้องถิ่น ก่อนจะโบกไม้โบกมือ ส่งสัญญาณให้พวกเรากลับขึ้นรถเพื่อไต่ระดับขึ้นไปต่อ
ผมถามกิต โชเฟอร์หนุ่มน้อยซึ่งเป็นคนพื้นที่คนเดียวที่พูดภาษาไทยได้ ว่าเกิดอะไรขึ้น กิตบอกว่าเจ้ายักษ์ต้นที่ทางทีมงานล็อคเอาไว้ว่าจะตัดโชว์ให้พวกเราถ่ายทำ เมื่อตรวจเช็คจากแผนที่อีกครั้ง พบว่าอายุ และขนาดยังไม่ถึงเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะตัดได้ นั่นน่าจะยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายป่าไม้ที่นี่ได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง
หลังจากได้แผนที่ที่ลงรายละเอียดชัดเจน เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะคอยควบคุมผู้รับสัมปทานให้ปฏิบัติตามกฎอย่างใกล้ชิดระหว่างการตัด ต้องล้มไม้ให้ถูกทิศทาง สร้างความเสียหายให้น้อยที่สุดต่อพืชพรรณที่อยู่ด้านล่าง การตัดถนนในป่า ทางลากจูงไม้ และลานพักไม้ต้องเหมาะสม ต้องเว้นพื้นที่ฉนวนให้เพียงพอตามแนวแม่น้ำ เพื่อป้องกันดินเสื่อม
หลังตัด เจ้าของสัมปทานต้องปลูกป่าทดแทนอย่างเพียงพอตามกำหนด ซุงจะถูกนำไปจุดตรวจของกรมป่าไม้ เพื่อตีทะเบียนและชำระภาษี ออกใบอนุญาตเคลื่อนย้าย เก็บข้อมูลผลกระทบการทำป่าไม้จากชุมชนรอบๆ พื้นที่
คนตัดไม้ถือเลื่อยไฟฟ้ายืนรอท่าอยู่ก่อนแล้วเมื่อเราถึงที่หมาย เจ้ายักษ์ยืนตระหง่านทะลุพงไม้เบื้องล่างขึ้นไปจนมองไม่เห็นยอด มือเลื่อยเดินสำรวจรอบ ๆ โคนต้น ก่อนจะเข้าไปลูบๆ คลำๆ แหงนหน้า เพ่งมองไปเบื้องบนอย่างใช้ความคิด ผมถามเขาเป็นภาษาอังกฤษผสมภาษามือว่าเจ้ายักษ์จะล้มไปทางไหน? เขาตอบเป็นภาษาไทยเสียงดังฟังชัดโดยไม่ละสายตาจากยอดไม้ “ไม่รู้!”
“มีตายกันทุกปีแหละ โดนต้นไม้ล้มทับ” เจ็กไช้เล่าให้ฟังเมื่อคืน ผมกับผู้ช่วยเตรียมหาทางหนีทีไล่ ตัวใครตัวมัน
มือเลื่อยเริ่มลงดาบแรก ใบเลื่อยกรีดเข้าไปอย่างง่ายดาย บากเนื้อไม้ออกมาเป็นชิ้นรูปทรงเหมือนเนยแข็ง หรือไม่ก็แตงโมผ่าซีก เขาอ้อมไปด้านตรงข้าม โบกไม้โบกมือให้พวกเราอ้อมไปอยู่ข้างหลัง ถึงตอนนี้เราพอเดาได้แล้วว่าเจ้ายักษ์จะล้มไปทางไหน
เขาผ่าตรงๆ เป็นแนวนอน จนกินเนื้อไม้เข้าไปใกล้ร่องเนยแข็งที่บากรอไว้ หยุดประเมินสถานการณ์ แหงนหน้ามองไปบนยอด แล้วกรีดซ้ำลึกเข้าไปอีกนิดก่อนจะชักใบเลื่อยออก เพียงชั่วอึดใจ พวกเราได้ยินเสียง แกร๊ก! เหมือนตอนเราหักกิ่งไม้เล็กๆ ด้วยมือ เพียงแต่ครั้งนี้ดังกว่านั้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า เสียงแกร๊ก! ดังสนั่นรัวๆ ขณะเจ้ายักษ์แหวกอากาศลงสู่พื้นโดยแรงโน้มถ่วงของโลก ตามด้วยเสียง ซวบๆๆ แหวกพงไม้ทึบลงสู่เบื้องล่าง จบลงด้วยเสียง ตึ้มมมมมมม!!!!! ดังสนั่นหวั่นไหวเมื่อเจ้ายักษ์กระทบพื้นดิน แรงสั่นสะเทือนหลายริกเตอร์รู้สึกได้ชัดเจนที่ใต้สองฝ่าเท้าของผม เศษกิ่งไม้ ใบไม้ ละอองฝุ่นดิน ปลิวว่อนคละคลุ้ง ตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ
หลังทุกอย่างสงบลง มือเลื่อยพยักหน้าส่งสัญญาณให้พวกผมตามลึกเข้าไปด้านในทางฝั่งยอดไม้ เขาตัดส่วนปลายสุดที่มีกิ่งก้านเกะกะออก เพื่อง่ายต่อการชักลากออกจากป่า พ่อหนุ่มเสื้อแดงมือคล้องบ่วงทำหน้าที่อย่างทะมัดทะแมง รถตักที่รอท่าอยู่ด้านบนลากร่างเจ้ายักษ์ขึ้นไปบนถนนดินนุ่มได้ไม่ยากเย็นนัก
ที่ลานโล่งกว้างตรงกลางทางขาลง ขบวนรถบรรทุกไม้จากสมัยสงครามโลกพากันมาโหลดไม้ซุงขนาดมหึมาที่ขนออกมาจากป่า แน่นขนัดจนกระบะแทบปริ
ผมขออนุญาตคนขับรถบรรทุกปีนขึ้นไปบนหลังคาเพื่อเก็บภาพโคลสอัพแอคชั่นของรถตักกำลังคีบท่อนซุงยักษ์ลงจากท้ายกระบะ แรงกระแทกมหาศาลที่ดูทีแรกเหมือนจะไม่เท่าไหร่นักเมื่อตอนที่มองจากข้างล่าง แขนซ้ายต้องคอยคล้องกับราวเหล็กอะไรก็ตามทีที่คว้าได้ไว้ให้มั่น ขณะที่มือขวาคอย snap ภาพไปเรื่อยๆ
การวัดขนาดกว้างยาวของซุงแต่ละท่อนเป็นไปอย่างละเอียด รอให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาตรวจเช็คความถูกต้องอีกรอบ ก่อนลูกค้าโรงเลื่อยทั้งหลายจะมาเลือกซื้อตามใจชอบจากลานโล่งตรงนี้
ไม้ซุงจะถูกแปรรูปในโรงเลื่อยฝั่งมาเลย์ ก่อนลำเลียงเข้าสุไหงโกลก เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้จำหน่ายซุงเป็นท่อนๆ ข้ามเขตแดนได้
รักษาสมดุลพื้นที่สีเขียว ด้วยเขตปลูกป่าเพื่อการทำไม้
ไม้เป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด แต่เสื่อมความนิยมไปเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องต้น 20 สาเหตุเพราะเกิดเพลิงไหม้บ่อย ผู้รับเหมาหันไปใช้เหล็กและปูนซีเมนต์สำหรับอาคารสูงทั่วโลก
สภาวะโลกร้อน และการรักษาสภาพภูมิอากาศทำให้การก่อสร้างด้วยไม้กลับมาตื่นตัวอีกครั้ง เพราะไม้เป็นวัสดุที่ renewable ผลิตซ้ำได้ใหม่ตามธรรมชาติ ไม่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิต ไม่เพิ่มมลภาวะแก่โลก ส่งผลให้ Mass Timber หรือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก กำลังเป็นกระแสนิยมที่โตวันโตคืนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯ
ด้วยเทคโนโลยีก่อสร้างปัจจุบัน สามารถสร้างตึกด้วยโครงสร้างไม้ได้สูงเกิน 80 เมตร ใช้ไม้สร้างสนามบิน สถานีรถไฟ สะพาน ที่อังกฤษกำลังจะสร้างสเตเดียมสนามกีฬาทั้งหลังด้วยไม้ ขณะที่ญี่ปุ่นเสนอโครงการตึก 70 ชั้น สร้างจากไม้ 90% สูง 350 เมตร มูลค่าก่อสร้าง 4.2 พันล้านบาท
สิ่งปลูกสร้างบนโลกมีส่วนรับผิดชอบราว 40% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ การใช้ไม้ในการก่อสร้างจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 60% คาร์บอนจะถูกเก็บสะสมไว้ในตึกที่สร้างด้วยไม้ได้มากกว่าอาคารคอนกรีตถึง 400%
เป็นความจริงที่ว่าการทำลายพื้นที่ป่าคือการลดพื้นที่ดูดซับคาร์บอน แต่หากมีการควบคุมดูแลปลูกป่าเพื่อการค้าไม้อย่างถูกต้อง แบ่งแยกสัดส่วนพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรมออกจากกัน จะสามารถบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวได้อย่างยั่งยืน เป็นนโยบายที่ประเทศนั้นๆ ต้องหาจุดสมดุล ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศ และต่อโลกโดยรวมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
มาเลเซียเป็น 1 ใน 17 ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางพันธุกรรม และป่าไม้นานาพันธุ์ ป่ามาเลย์แบ่งเป็น 3 ประเภท
- ป่าธรรมชาติ :รัฐเป็นเจ้าของ ส่วนใหญ่เป็นป่าอนุรักษ์ถาวร Permanent Reserved Forests (PRF) ครอบคลุมพื้นที่ป่าเพื่อการทำไม้ ป่าอนุรักษ์ และป่าชุมชน กินพื้นที่ทั้งหมดราว 83 ล้านไร่
- เขตปลูกป่าเพื่อการทำไม้ :อยู่ในพื้นที่เดียวกับ PRF จัดการโดยระบบสัมปทาน กินพื้นที่ราว 4.5 ล้านไร่ จากพื้นที่อนุญาตปลูกป่าทั้งหมด 15 ล้านไร่ การทำไม้ไม่เป็นที่นิยมบนพื้นที่ของเอกชน เพราะเห็นว่าพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นปาล์ม และยางพาราสร้างรายได้ดีกว่า รวดเร็วกว่า
- เขตพื้นที่เกษตรกรรม :ไม้ที่ได้จากการโค่นต้นยางเมื่อหมดอายุราว 25 ปี เพื่อเอาเนื้อไม้ไปใช้ มาเลย์มีพื้นที่สวนยางราว 6.75 ล้านไร่
มาเลเซียมีป่าปกคลุมราว 55% ของพื้นที่ ที่การประชุม Earth Summit เมื่อปี 1992 รัฐบาลมาเลเซียประกาศเจตนารมณ์จะคงปริมาณพื้นที่ป่าไว้ให้ได้มากเกินกว่า 50% เสมอ
สำหรับการรักษาสัดส่วนพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ มาเลเซียใช้ Sustainable Forest Management (SFM) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรมป่าไม้เมื่อปี 1901 แต่ละรัฐจะกำหนดโควต้าประจำปีสำหรับสัมปทานป่าไม้ ควบคุมดูแลทุกกระบวนการตั้งแต่ก่อนตัด ระหว่างตัด และหลังตัด
ปี 2021 การส่งออกไม้แปรรูปของมาเลเซียเติบโตขึ้น 3.1% สวนกระแสการระบาดของไวรัส Covid-19 สร้างรายได้ทั้งสิ้น 181 พันล้านบาท
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การห้ามแตะต้อง ไม่ให้ใช้ทรัพยากร ประเด็นคือจะใช้อย่างไร มนุษย์และธรรมชาติจึงจะได้ประโยชน์สูงสุดควบคู่ไปด้วยกัน นั่นน่าจะเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง
บางที การปลูกป่าอย่างผิดวิธี อาจส่งผลเสียร้ายแรงกว่าการตัดป่าอย่างถูกวิธีก็เป็นได้
เรื่องและภาพ UNDERDOG.bkk