[ PAID CONTENT FOR BANPU ]
ถนนดูบางตาในช่วงเช้าตรู่แบบวันนี้ที่เราเตรียมตัวเดินทางไปเกาะสีชังจังหวัดชลบุรีเรียกได้ว่าเป็นการเดินทางครั้งแรกหลังจากห่างหายไปกับช่วงโควิดครั้งนี้เรามีนัดกับน้องๆเยาวชนอีกหลายสิบชีวิตที่กำลังเข้าค่ายพิทักษ์โลกกันอยู่ที่นั่นนั่งรถตู้ออกจากกรุงเทพฯเดินทางไม่นานมากนักเราก็ไปถึงท่าเรือเกาะลอยเพื่อต่อเรือโดยสารไปอีกเกือบชั่วโมงในที่สุดเราก็มาถึงเกาะสีชังแต่จะต้องนั่งรถสองแถวยานพาหนะชาวเกาะไปกันอีกหน่อยนะ
ระหว่างนั่งรถสองแถวมองไปแล้วก็สังเกตได้ว่าเราไม่ค่อยเห็นขยะข้างทางเท่าไรนักเราต่างรู้กันดีว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขยะอย่างสาหัสทั้งขยะเศษอาหารขยะในแม่น้ำลำคลองขยะในทะเลก็ไม่น้อยหน้าโดยเฉพาะขยะพลาสติกและกล่องบรรจุอาหารประเภทต่างๆที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงโควิด
จากภาพจำแบบนั้น เมื่อเห็นถนนหนทางบ้านเรือนของคนในชุมชนสะอาดแบบนี้ เราก็รู้สึกประทับใจและอยากเที่ยวมากขึ้นอีกโข แต่ช้าก่อน ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาเที่ยวเล่น เพราะนัดสำคัญของเราคือการไปเจอน้อง ๆ มัธยมปลายทั้ง 50 คน ที่กำลังทำภารกิจพิทักษ์โลกกับโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (Power Green Camp) รุ่นที่ 18 ณ เกาะสีชังนั่นเอง
18 ปีแห่งความภาคภูมิใจกับเมล็ดพันธุ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่แข็งแกร่ง
“ค่ายเพาเวอร์กรีน” ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิดวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม – เรียนรู้สู่การปฏิบัติ ตลอดระยะเวลา 18 ปี โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพาเวอร์กรีนส่งเสริมให้เยาวชนนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน
“เราอยากให้เยาวชนที่เข้าร่วมค่ายของเรา สามารถนำความรู้ที่เขาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีในห้องเรียน รวมถึงภาคปฏิบัตินอกห้องเรียนไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันกับชุมชนและสังคมของเขา และอาจจะไปถึงในระดับนานาชาติเมื่อเขาเติบโตขึ้นก็ได้ ซึ่งปัจจุบัน ค่ายเพาเวอร์กรีนสานต่อมาสู่ปีที่ 18 เรามีเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 1,000 คนแล้ว เรียกได้ว่าเมล็ดพันธุ์ที่บ้านปูกับมหิดลได้ร่วมกันเพาะพันธุ์ ได้แตกกระจายแล้วไปอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ แม้ว่าตอนนี้พวกเขาอาจไม่ได้ทำงานในสายงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่ค่ายฯ ปลูกฝังให้แก่พวกเขาผมเชื่อว่าเข้มข้นมาก เยาวชนเหล่านี้จะสามารถเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันการปกป้อง ฟื้นฟู และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเยาวชนเพาเวอร์กรีนทุกคนอย่างภาคภูมิใจ
เพราะเยาวชนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะกระจายตัวไปยังสถานที่ต่าง ๆ บ้านปูและมหิดลได้เพิ่มความเข้มข้นในเนื้อหาของกิจกรรม กับประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างปัญหาขยะในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และติดตามเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม 3 Greens ทำให้กิจกรรมการเรียนรู้ของโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพาเวอร์กรีน (Power Green Camp) ครั้งที่ 18 ถูกออกแบบภายใต้แนวคิด “Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer”
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เยาวชนมีส่วนร่วมช่วยแก้ไขได้ง่ายที่สุดคือเรื่องขยะ เขาสามารถเริ่มลงมือปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง และปัญหาขยะไม่ใช่ปัญหาที่จะบริหารจัดการให้สำเร็จลุล่วงโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐ แต่เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกคนทุกภาคส่วน เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับเราสามารถเป็นกระบอกเสียงสำคัญนำเอาความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ในสังคมของตนเองได้ ซึ่งโครงการได้ใส่เนื้อหากิจกรรมที่เข้มข้น แต่ต้องสนุกและน่าสนใจด้วยไปเยอะมาก
เราเริ่มต้นจากให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องขยะในภาพกว้างอย่างเป็นระบบ เข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากขยะประเภทต่าง ๆ โดยต้องรู้ลึกซึ้งถึงการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ พร้อมยกตัวอย่างวิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสมและนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา และเน้นความรู้ในรายละเอียดผ่านการปฏิบัติลงมือทำในเรื่องของขยะเศษอาหารและขยะพลาสติก เพราะเป็นขยะที่เกิดขึ้นมากที่สุดสองอันดับแรกจากปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยประมาณ 25 ล้านตัน โดยขยะอาหารมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ส่วนขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลในปริมาณหลายหมื่นตันต่อปี ก็ทำให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนำ อันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกสู่ทะเลสูงสุดในโลกมาหลายปีแล้ว” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 18 กล่าวย้ำถึงสาเหตุที่โครงการเลือกให้ความสำคัญกับประเด็นการจัดการปัญหาขยะและส่งเสริมให้เยาวชนช่วยเป็นตัวกลางความรู้ไปถึงชุมชนและสังคมของพวกเขา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร ยังได้กล่าวถึงน้อง ๆ Green Influencer รุ่นเยาว์ต่ออีกว่า “ในกระบวนการเรียนรู้ปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่ช่วยเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่ความรู้สิ่งแวดล้อมไปสู่สังคม เราได้สอนให้รู้จักการพิจารณาเลือกใช้ข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือและการอ้างอิง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือความผิดพลาดในการสื่อสารตามมา และตระหนักถึงการให้เกียรติแก่เจ้าของข้อมูลด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่เรากำชับให้เยาวชนพึงระวังคือการไม่สื่อสารในเชิงตำหนิว่ากล่าว แต่ควรสื่อสารในเชิงบวก เช่น การนำเสนอตัวอย่างแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ สู่สังคม โดยกว่าจะเกิดเป็นผลสำเร็จได้รับการยอมรับ ต้องใช้ความอดทน ค่อย ๆ สั่งสมชื่อเสียงและฐานผู้ติดตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ Green Influencer ที่รับเชิญเป็นวิทยากรทุกคนต่างต้องผ่านช่วงเวลานั้นมา ทั้งนี้ แม้จะไม่ได้มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่เราพบว่ามีเยาวชนหลายคนที่ตัดสินใจเลือกเรียนต่อในหลักสูตรทางด้านสิ่งแวดล้อมในหลากหลายสถาบัน ซึ่งนักศึกษาในคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนหนึ่ง ก็เป็นผู้ที่เคยผ่านการเข้าค่ายเพาเวอร์กรีนมาก่อน หนึ่งในเหตุผลที่ทราบจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนในหลาย ๆ โอกาส เพราะพวกเขาได้รับรู้ว่าปัญหาเหล่านั้นกระทบถึงตัวเอง ครอบครัว และสังคมรอบตัวแล้วนะ พวกเขาอยากร่วมเป็นผู้เริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างเดี๋ยวนี้”
Power Green Camp ครั้งที่ 18 กับกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมสุดเข้มข้น Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer
น้อง ๆ เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมภายในค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 18 ระดับมัธยมปลายทั้ง 50 คนจาก 48 โรงเรียน 30 จังหวัด และพี่เลี้ยงระดับมหาวิทยาลัย 10 คน ได้เรียนรู้และเริ่มทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันที่ 15 – 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566 โดยมีตารางกิจกรรมสุดเข้มข้น ที่นำองค์ความรู้ 3 Greens (Green Cloud – Green Tech – Green Influencer) มาสอดแทรกในกิจกรรมต่าง ๆ ของค่าย ทั้งการเรียนรู้วัฏจักรชีวิตของขยะประเภทต่าง ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง การแปลงขยะเศษอาหารไปเป็นปุ๋ย การปรับสภาพวัสดุทางการเกษตรเป็นถ่านชีวภาพ การแปลงขยะพลาสติกให้กลับเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ศาสตร์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ คือ Green Technology
ส่วนความรู้ด้าน Green Cloud คือการนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” มาช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความรู้ที่เข้ากับลักษณะของเยาวชนในยุคนี้ ที่ล้วนมีความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ การบริหาร จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ๆ โดยเยาวชนในค่ายเพาเวอร์กรีนจะได้เห็นตัวอย่างการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยความรู้ในกลุ่ม Green Cloud ได้แก่ การฝึกใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ซึ่งเป็นเครื่องมือการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือการฝึกวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ด้วยคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างนโยบายหรือออกแบบระบบการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพจากข้อมูลที่มีอยู่บนโลกออนไลน์ และเมื่อเยาวชนผู้เข้าร่วมมีพื้นฐานความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมทั้งสองรูปแบบ ด้วยเห็นถึงความสำคัญของพลังการสื่อสารของเยาวชนผ่านโซเชียลมีเดีย น้อง ๆ ทั้ง 50 คนจะได้รับการปลูกฝังความเป็น Green Influencer หรือกลุ่มคนผู้ขับเคลื่อนการรับรู้ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและมุ่งหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงผ่านการสื่อสารตามช่องทางต่าง ๆ รวมถึงทางโลกออนไลน์ โดยจัดกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของอินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อมชื่อดังอีกด้วย
นอกจากทฤษฎีในห้องเรียน น้อง ๆ ทุกคนต้องลงมือปฏิบัติจริงในการศึกษาปัญหาและแนวทางการจัดการปัญหาขยะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่สำรวจและเก็บขยะในคลองลาดพร้าว กับพี่แอนนา เสือและยังได้ไปเยี่ยมชมการจัดการขยะรีไซเคิลและกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงอีกด้วย
รถสองแถวพาเราตรงดิ่งมายังจุดรวมพลทำกิจกรรมของค่ายเพาเวอร์กรีนครั้งที่ 18 ซึ่งเป็นหนึ่งในไฮไลท์กิจกรรมบนเกาะสีชัง โดยน้อง ๆ เยาวชนแท็กทีมกับพี่หมอเน๋ง ศรัณย์ และพี่เอิ้ต ภัทรวี ร่วมทำภารกิจพิทักษ์โลกเก็บขยะบริเวณหน้าหาดท่าวัง เกาะสีชัง ความพิเศษคือห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ปัญหาจริง น้อง ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการตรวจหาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในหาดทราย ปัญหาในธรรมชาติที่เราไม่อาจประเมินได้ด้วยตาเปล่า
น้อง ๆ เยาวชน พาพี่หมอเน๋ง ศรัณย์ และพี่เอิ้ต ภัทรวี มาเรียนรู้อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่เราก็ยังตื่นเต้นไม่หาย คือการเรียนรู้วิธีการจัดการ “ขยะอินทรีย์“ กับวิสาหกิจเพื่อสังคม “เบตเทอร์ฟลาย“ (Betterfly) หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ Banpu Champions for Change รุ่น 10 ด้วยการใช้แมลงวันลาย หรือ Black Soldier Fly มาเป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลายขยะอินทรีย์
น้อง ๆ ได้เห็นตั้งแต่ขั้นตอนการขูดไข่หนอนแมลงวันลาย การให้อาหารซึ่งอาหารหลักของพวกมันก็คือขยะเศษอาหารที่รวบรวมจากชุมชนในเกาะสีชัง ขั้นตอนนี้หนอนแมลงวันลายจะกินขยะเศษอาหาร พวกมันจะปล่อยมูลออกมาซึ่งกลายเป็นปุ๋ยนั่นเอง โดยเราจะได้ผลผลิตเป็นปุ๋ยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้หนอนแมลงวันลายเป็นอาหารให้ปลาและไก่ ได้ไข่ไก่ไปแจกจ่ายเครือข่ายพันธมิตร ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนให้พื้นที่ และนับตั้งแต่เริ่มโครงการจัดการขยะเศษอาหารเหลือทิ้งจากชุมชนต่าง ๆ ในเกาะสีชังด้วยแมลงวันลาย เกาะสีชังสามารถลดการฝังกลบขยะอินทรีย์ในชุมชนไปแล้วเกือบ 7,000 กิโลกรัม ทำให้ง่ายต่อการจัดการขยะประเภทอื่นเพราะได้ทำการคัดแยกขยะอินทรีย์ออกไปแล้ว (มิน่าเกาะถึงได้ดูสะอาดนัก) เป็นผลลัพท์ที่ทำให้คนในชุมชนต่างภูมิใจ
หมอนแมลงวันลายระยะก่อนเข้าดักแด้ถ้าไม่เอาไปเลี้ยงไก่หรือปลา ก็จะปล่อยให้หนอนเข้าดักแด้และคลอดแมลงวันลายตัวโตเต็มวัยออก
กระบวนการเรียนรู้สุดท้ายของเยาวชนค่ายเพาเวอร์กรีนคือการทำโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งน้อง ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว จะได้รับการขัดเกลากระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และฝึกฝนการทำงานกลุ่มแบบสหวิทยาการอย่างใกล้ชิดกับอาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากที่นักเรียนระดับมัธยมปลายจะได้เรียนรู้แนวทางในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยล่วงหน้า เรียกได้ว่าเข้มข้นอย่างต่อเนื่องทั้ง 7 วันตลอดการเข้าค่ายเลยทีเดียว
น้อง ๆ เยาวชนที่สมัครเข้ามาร่วมโครงการ ทุกคนมีใจรักษ์สิ่งแวดล้อม และอยากต่อยอดความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น ตอกย้ำว่าแนวคิดการสร้างธีมด้วยประเด็นและเทรนด์ที่เข้าถึงสถานการณ์ปัจจุบันมีส่วนช่วยผลักดันให้เด็กเกิดความกล้าและอยากที่จะก้าวออกมาเป็นกระบอกเสียงด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างแท้จริง อย่างน้อง ๆ ทั้ง 2 คนตัวแทนเยาวชน ที่เรามีโอกาสพูดคุยระหว่างทำกิจกรรม
“ความรู้ที่ได้มามีเยอะมากเลยครับ เช่น พวกการจัดเก็บข้อมูล การเขียนโปรแกรม และเรื่องขยะพลาสติกที่อยู่ใกล้ตัวแต่เรากลับไม่ได้มองเห็น เราจะพยายามเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งการใช้พลาสติก การกินให้พอดี และจัดการอาหารก่อนที่จะทิ้ง คำนวณหรือวางแผนก่อนว่าเราจะกินเท่าไหร่ ก็จะเป็นกระบอกเสียงบอกเพื่อน ๆ คนรอบตัวต่อไปครับ” น้ำปิง – ธนาธิบ กันชัย จากโรงเรียนเชียงคำวิทยาคม จังหวัดพะเยา
“โรงเรียนของหนูมีการคัดแยกขยะค่ะ ถ้าหนูกลับไปโรงเรียนก็จะไปเผยแพร่แนวทางการจัดการขยะให้กับน้อง ๆ นักเรียนในโรงเรียนค่ะ และหนูก็จะอาสาเข้าไปช่วยคุณครูเพื่อพัฒนากิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้ดีขึ้นกว่าเดิมค่ะ” ส้มส้ม – ฐานิกา มาแดงสาย จากโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ จังหวัดสุโขทัย
การเดินทางมาเกาะสีชังในครั้งนี้ของเรา ได้สร้างความรู้สึกใหม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จุดประกายให้ตัวเราเองลดการสร้างขยะ และเชื่อว่าหลายคนที่มาร่วมกิจกรรมก็คงคิดไม่ต่างกัน