ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง พื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกำลังประสบปัญหานํ้าที่ไม่ใสเหมือนเดิม เริ่มมีนํ้าเค็มเข้ามาปะปน แถมยังถูกรุกรานด้วยพืชต่างถิ่น จนทำให้อนาคตของทะเลสาบนํ้าจืดแห่งนี้น่าวิตกกังวลพอสมควร
ทะเลน้อย หรือ อุทยานนกน้ำทะเลน้อย คือทะเลสาบน้ำจืดที่มีเนื้อที่ผืนน้ำประมาณ 17,500 ไร่ มีความกว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร ตั้งอยู่ตำบลนางตุง และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ถือว่ามีความสำคัญระหว่างประเทศ ในฐานะแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) แห่งแรกของประเทศไทย โดยบทบาทสำคัญในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยแห่งนี้คือการเป็นนิเวศบริการหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนกว่า 50,000 คน
ทั้งนี้ ทะเลน้อย เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาโดยคลองนางเรียมซึ่งมีความยาว 2 กิโลเมตรทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชุมชนราว 2,000 ครัวเรือน ทางฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ ฝั่งใต้ เป็นป่าพรุและสังคมพืชแบบบึงน้ำจืดที่หลากหลาย ได้รับการประกาศเป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ถือเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ทะเลน้อย ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีระบบนิเวศที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ซึ่งการเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง เป็นระบบการทำการเกษตร (ปศุสัตว์) ที่สืบทอดมายาวนานมากกว่า 250 ปี ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ที่การอยู่ร่วมกันของชุมชนกับธรรมชาติ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิวัฒนาการของทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และการอนุรักษ์ระบบนิเวศให้สมดุล จนเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ได้ประกาศรับรองพื้นที่ทะเลน้อยเป็นมรดกทางการเกษตรโลก
ความพิเศษทางชีวภาพของทะเลน้อย
รศ.ดร.กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ อดีตอาจารย์ประจำสาขาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคมพืชบนสันดอนทรายชายหาดในภาคใต้ของประเทศไทย ระบุว่า ความพิเศษของทะเลน้อย คือ การเป็นทะเลสาบนํ้าจืดขนาดใหญ่ใกล้ชายฝั่งมากที่สุดในเอเชีย ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้มีไม่มากแล้วในประเทศไทยหรือในโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนของโลก
สำหรับทะเลน้อยอยู่ในส่วนบนสุดของทะเลสาบสงขลา จึงไม่มีนํ้าเค็มเข้ามาถึงหรือเข้ามาบ้างแต่น้อยมากในบางปีซึ่งการไม่ได้รับอิทธิพลจากนํ้าขึ้นนํ้าลง ระบบนํ้าแทบจะเป็นระบบปิด มีแร่ธาตุสำคัญในดินทะเลสาบ ระบบนิเวศเหล่านี้เหมาะเอื้อต่อการใช้ชีวิต ทั้ง นก สัตว์น้ำ แมลงต่างๆ รวมถึงมีพรรณไม้น้ำที่อุดมสมบูรณ์ เติบโตได้ดี อาจกล่าวได้ว่า พืชและพรรณไม้น้ำที่มีอยู่ในประเทศไทย ในอดีตสามารถพบได้ที่ ทะเลน้อย เกือบทุกชนิด
ดังนั้น ในเชิงชีวภาพพื้นที่ทะเลน้อยจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อภูมิภาคและต่อโลก พื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งแรกของประเทศแห่งนี้มีความซับซ้อนทางระบบนิเวศสูง เต็มไปด้วยพืชหายาก สมัยก่อนแร่ธาตุสีชมพูที่อยู่ในดินจะส่องประกายสวยงาม ประกบกับนํ้าที่กระจ่างใส เมื่อพายเรือจะสามารถมองลงไปเห็นความสวยงามของแร่ธาตุในทะเลน้อยได้ในบริเวณกว้างด้วยตาเปล่า
ผลกระทบจากการท่องเที่ยวและการขุดลอกคลองนำมาซึ่งเอเลี่ยนสปีชีส์
ดร.กิติเชษฐ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันทะเลน้อยเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ จากหลายปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากมนุษย์ ซึ่งในภาคการท่องเที่ยว ทะเลน้อยมีชื่อเสียงในเรื่องการเป็นจุดชมบัวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในไทย โดยเฉพาะ บัวแดง ทว่าแท้จริงแล้ว บัวที่เป็นพืชท้องถิ่นของทะเลน้อยคือ บัวผัน บัวเผื่อน (Nymphaea nouchaliBurm.f. ) ส่วนบัวแดง(Nymphaea lotus L.) ถูกนำเข้ามาปลูกในภายหลังเพื่อรองรับเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนของบัวแดงที่มากเกินไปก็ส่งผลกระทบกับพืชท้องถิ่น
นอกจากนี้ ทะเลน้อย ยังถูกรุกรานจากเอเลี่ยนสปีชีส์หลายชนิด อาทิ จอกหูหนู (Salviniaspp.) ผักตบชวา หรือ สวะ (Eichhorniacrassipes (Mart.) Solms) ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่ากังวล การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของวัชพืชทำให้พืชท้องถิ่นบางชนิด เช่น สาหร่ายข้าวเหนียว ชนิดต่างๆ(Utriculariaspp.) ลดลง โดยแพวัชพืชต่างถิ่นขนาดใหญ่ยังส่งผลกระทบต่อพืชและแร่ธาตุในดิน เพราะสิ่งเหล่านี้บดบังแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่งมาถึงผิวดินในทะเลน้อย
ด้านการขุดลอกโคลนตมทะเลน้อยและคลองบริเวณโดยรอบในทุกๆ ปี ส่งผลกระทบต่อทะเลน้อยอย่างใหญ่หลวง สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือตะกอนทที่มีความเป็นด่างที่เคยอยู่ด้านใต้ถัดจากชั้นทรายและสังคมพืชใต้น้ำลงไปถูกขุดกลับขึ้นด้านบน ทำให้คุณสมบัติของน้ำในทะเลน้อยที่โดยปกติเป็นกรดอ่อน ๆ เปลี่ยนไป ทำให้ตะกอนขนาดเล็กต่างๆไม่ตกตะกอนลงด้านล่าง เพราะน้ำมีความเป็นด่างจากตะกอนที่เป็น alluvial sediments ในดินด้านล่างของทะเลน้อยจนทำให้นํ้าในทะเลน้อยมีความขุ่น ไม่ใสเหมือนในอดีต รวมทั้งเริ่มมีนํ้าเค็มไหลเข้ามาถึงทะเลสาบที่เคยเป็นพื้นที่นํ้าจืด 100% เกือบตลอดปี ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการขุดคลองสนามชัยที่เชื่อมทะเลสาบสงขลากับทะเลอ่าวไทยด้านบนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ก่อให้เกิดปัญหากับระบบนิเวศซึ่งไม่เคยมีมาก่อนและการใช้สารเคมีทำการเกษตรในบริเวณรอบๆ พื้นที่ โดยมีการตรวจพบว่าค่า ค่า pH ในนํ้ามีความผิดเพี้ยน บางจุดความเป็นกรดในนํ้าลดลง แต่ความเป็นด่างในนํ้ากลับสูงขึ้น
สิ่งเหล่านี้สร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ เนื่องจากเมื่อคุณภาพนํ้าในทะเลน้อยเสื่อมโทรมลง พืชหลายชนิดก็อยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกับสัตว์นํ้าต่างๆ ที่ลดลง ทำให้นกน้ำชนิดต่างๆ โดยเฉพาะ นกเป็ดแดง จึงพลอยหายไปเป็นจำนวนมาก และควายน้ำในทะเลน้อยเองก็ได้รับผลกระทบโดยตรงมีการล้มตายจากภาวะขาดอาหาร หลังจากที่แปลงหญ้าถูกน้ำท่วมขังจนเน่าเปื่อย เพราะวัชพืชประเภทจอกแหนปกคลุมผืนน้ำจนเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตของหญ้าใต้น้ำ
การทำประมงท้องถิ่นเองก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาน้ำเน่าเสีย ทำให้ปลาน้ำจืดท้องถิ่นมีปริมาณลดลง ซ้ำยังพบว่ามีปลาหลายชนิดที่เป็นปลาต่างถิ่นเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทะเลน้อย ซึ่งพวกมันสามารถปรับตัวอยู่ได้ในสภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป สวนทางกับสัตว์น้ำท้องถิ่นหลายสายพันธุ์ที่ทยอยตายลงเรื่อยๆ
อนาคตของทะเลน้อย
หากต้องการแก้ปัญหาทะเลน้อย ต้องมีการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวที่ไม่กระทบกับระบบนิเวศ และต้องมีการการบูรณาการทรัพยากรในทะเลน้อยอย่างจริงจัง ขณะที่กระบวนการขุดลอกทะเลสาบ รวมถึงคลองต่างๆ ต้องทำอย่างถูกวิธี มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำ เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายระบบนิเวศดั้งเดิมจนหมด
อีกข้อที่ ดร.กิติเชษฐ์ ค่อนข้างเป็นห่วงคือในรอบ 15-20 ปีนี้ ไม่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับชีวภาพและระบบนิเวศของทะเลน้อยเกิดขึ้นเลย เพราะขาดการส่งเสริมการศึกษาพื้นฐานทางนิเวศวิทยาจากภาครัฐ ขาดผู้ทรงคุณวุฒิระดับชาติที่เข้าใจนิเวศวิทยาอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการขาดงบประมาณวิจัยในสาขานี้งบประมาณด้านนี้หากมี จะถูกเปลี่ยนไปศึกษาเรื่อง “การปลูกป่า” เป็นส่วนมาก เพราะมีแต่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนี้ในประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะที่มีที่ตั้งอยู่รอบๆ ทะเลสาบสงขลาส่วนใหญ่หมดความสนใจงานวิจัยพื้นฐานทางธรรมชาติวิทยาเพราะนโยบายวิจัยของชาติเปลี่ยนไป รวมถึงขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้มาศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนของพื้นที่แห่งนี้ เพราะระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพของมันเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษย์ที่อาศัยนิเวศบริการของระบบนิเวศนั้น ๆ ที่ซึ่งตอนพื้นที่ทะเลน้อยนี้ถูกจัดการโดยชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งแก้ไขปัญหาแบบไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนิเวศวิทยา
อนึ่ง การฟื้นฟูทะเลน้อยมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลา หากพื้นที่แห่งนี้เสื่อมโทรมลง ย่อมส่งผลกระทบต่อไปถึงทะเลสาบสงขลาในองค์รวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมๆ แล้วทั้งสองทะเลสาบมีอิทธิพลต่อประชากรที่ใช้ทรัพยากรรอบลุ่มน้ำมากกว่า 1 ล้านคน
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพถ่ายโดย เกียรติศักดิ์ อัศวะมหาศักดา