“น้ำแข็งในทะเลของแอนตาร์กติกากำลังลดลงอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากมหาสมุทรใต้มีความเค็มขึ้นอย่างน่าตกใจ
ปัจจัยทั้งหมดนี้กำลังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าที่ใครจะคาดได้”
ในทุกปี น้ำแข็งที่ลอยอยู่บนผิวน้ำของมหาสมุทรใต้จะละลายหายไปในฤดูร้อน และจะกลับมาก่อตัวอีกครั้งในฤดูหนาวเป็นวงจรตามฤดูกาลปกติ น้ำแข็งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์กลับคืนสู่อวกาศ
แต่เมื่อเข้าสู่ปลายทศวรรษปี 1970 อุณหภูมิโลกก็เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกาลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามการละลายของน้ำแข็งดูเหมือนจะทำให้พื้นผิวมหาสมุทรใต้มีความเค็มน้อยลง ซึ่งทำให้แผ่นน้ำแข็งกลับมามีปริมาณเพิ่มขึ้นจนกระทั่งถึงทศวรรษปี 2010
ในช่วงปี 2015 นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องกลับมาประหลาดใจอีกครั้ง เนื่องจากทวีปแอนตาร์กติกาได้สูญเสียแผ่นน้ำแข็งในทะเลไปเท่ากับพื้นที่ของกรีนแลนด์ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และในตอนนี้พวกเขาเชื่อว่ารู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว
“น้ำแข็งในทวีปแอนตาร์ติกามีผลกระทบมหาศาลในแง่ของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ในแง่ของภาวะโลกร้อน และในแง่ความเลวร้าย” อเลสซานโดร ซิลวาโน (Alessandro Silvano) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน และหัวหน้าทีมวิจัย กล่าว “เรากำลังเข้าสู่ระบบใหม่ โลกใหม่”
น่าตกใจ
ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำแข็งในมหาสมุทรใต้ลดลงอย่างน่าตกใจและรวดเร็วนั้นเกิดจาก ระดับความเค็มของพื้นผิวน้ำทะเลในบริเวณดังกล่าว
ทีมวิจัยได้ตรวจสอบข้อมูลจากดาวเทียมที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทร โดยใช้การวัดความสว่างที่สัมพันธ์กับปริมาณเกลืออย่างละเอียดอ่อน ขณะเดียวกันก็เสริมด้วยข้อมูลจาดหุ่นยนต์ใต้น้ำที่วัดอุณหภูมิและความเค็มเป็นเวลากว่า 15 ปี ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ชัดเจน
“สิ่งที่เราพบนั้นน่าตกใจมาก ในช่วงปี 2015 ความเค็มบนพื้นผิวของมหาสมุทรใต้เริ่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่น้ำแข็งในทะเลเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน” ซิลวาโน กล่าว “การพลิกกลับนี้ถือว่าเป็นสิ่งไม่คาดคิดเลย เนื่องจากหลายทศวรรษก่อนหน้านั้นพื้นผิวน้ำมีความสด(เค็มน้อย)และเย็นลง ซึ่งทำให้น้ำแข็งในทะเลขยายตัว”
ซิลวาโน อธิบายเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วน้ำในมหาสมุทรใต้นั้นถูกแบ่งเป็นชั้น ๆ โดยน้ำที่เย็นและเค็มน้อยกว่าจะอยู่ด้านบน ขณะที่น้ำเค็มและอุ่นกว่าจะอยู่ลึกลงไปด้านล่าง ซึ่งจะคอยกักเก็บความร้อนไว้ในส่วนลึกของมหาสมุทร สิ่งนี้ทำให้พื้นผิวน้ำเย็นลงและสนับสนุนการก่อตัวของน้ำแข็ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อน้ำเค็มขึ้น มันก็จะมีความหนาแน่นมากกว่าหรือก็คือหนักกว่า ดังนั้นมันจึงจมลงไปได้ง่าย ๆ จนทำให้การแบ่งชั้นปกติถูกรบกวน และในที่สุดความร้อนจากส่วนลึกจะลอยขึ้นมาได้ ซึ่งจะไปคอยละลายน้ำแข็งในทะเลจากด้านล่างได้แม้กระทั่งในฤดูหนาว
สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การรบกวนนี้จะยังไปดึงเกลือที่อยู่ในชั้นลึกกว่าขึ้นมาอีก และทำให้วงจรนี้แข็งแกร่งขึ้น เมื่อความเค็มเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ความร้อนขึ้นสู่ผิวน้ำมากขึ้นไปอีกส่งผลให้น้ำแข็งละลายมาก และความร้อนจากดวงอาทิตย์ก็ถูกดูดซับมากขึ้น จนสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อย ๆ
“น้ำพื้นผิวที่มีความเค็มมากขึ้นนี้ ทำให้ความร้อนจากมหาสมุทรลึกขึ้นมาได้ง่าย ส่งผลให้น้ำแข็งถูกละลายจากด้านล่าง” ซิลวาโน กล่าว “นับเป็นวงจรป้อนกลับที่อันตราย น้ำแข็งที่น้อยลงทำให้เกิดความร้อนมากขึ้น ซึ่งทำให้แผ่นน้ำแข็งมีปริมาณน้อยลงไปอีก”
สิ่งที่เกิดขึ้นในแอนตาร์กติกา จะไม่หยุดอยู่แค่แอนตาร์กติกา
การสูญเสียน้ำแข็งในทะเลของขั้วโลกใต้นี้นับเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เนื่องจากพวกมันทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกยักษ์ที่สะท้อนแสงอาทิตย์กลับสู่อวกาศ
หากไม่สิ่งนี้ พลังงานจากดวงอาทิตย์จะคงอยู่ในระบบโลกมาขึ้น ซึ่งจะทำให้โลกร้อนเร็วขึ้น พายุรุนแรงขึ้น และระดับน้ำทะเลตามเมืองชายฝั่งทั่วโลกก็จะสูงขึ้นไปตาม ไม่เพียงเท่านั้น สัตว์ป่าจำนวนมากก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เช่น เพนกวินจักรพรรดิที่ต้องอาศัยแผ่นน้ำแข็งในการผสมพันธุ์และเลี้ยงลูก
คริลล์ตัวเล็ก ๆ ที่เป็นรากฐานของห่วงโซ่อาหารเองก็พึ่งพาแผ่นน้ำแข็งด้วยการกินสาหร่ายที่เกาะอยู่ตามใต้แผ่นนั้น หากไม่มีน้ำแข็ง ระบบนิเวศที่เปราะบางเหล่านี้ก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างยิ่ง ท้ายที่สุดโดมิโนของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็จะล้มไปทั่วโลก
“ทวีปแอนตาร์กติกาไม่ได้เป็นทวีปที่มีความมั่นคงและแข็งแกร่งอย่างที่เราเคยเชื่อกันอีกต่อไปแล้ว” ซิลวาโน กล่าว “ทวีปนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่แบบจำลองสภาพอากาศปัจจุบันไม่สามารถคาดการณ์ได้”
พร้อมเสริมว่า “เราจำเป็นต้องเฝ้าติดตามต่อไป การติดตามดาวเทียมและมหาสมุทรอย่างต่อเนื่องกำลังตกอยู่ในอันตรายจากงบประมาณที่ถูกตัด งานวิจัยนี้มอบสัญญาณเตือนล่วงหน้า หากไม่มีข้อมูลที่แม่นยและต่อเนื่อง การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นไปไม่ได้”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา