การกลับบ้านของ โบราณวัตถุไทย
โบราณวัตถุไทย – “เอาไมเคิล แจ็กสัน คืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา” เสียงร้องของ “แอ๊ด คาราบาว” ยืนยง โอภากุล ในท่อนฮุกของบทเพลง “ทับหลัง” จากอัลบั้มชื่อเดียวกันที่วางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2531 ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนจนกลายเป็นหนึ่งในเพลงฮิตตลอดกาลของวงดนตรีคาราบาว
ข่าวคราวอันเป็นต้นทางของบทเพลงนี้มาจากคดีความอันเนื่องด้วย “สมบัติทางวัฒนธรรม” ระหว่างประเทศไทยกับพิพิธภัณฑ์ในโลกตะวันตกที่โด่งดังและเป็นที่จดจำมากที่สุด นั่นคือกรณีการทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์สมัยพุทธศตวรรษที่สิบเจ็ดที่ถูกโจรกรรมไปจากปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
ปราสาทพนมรุ้งเมื่อแรกสร้างเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย คือนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด ส่วนทับหลังหมายถึงแผ่นหินที่วางเป็นคานอยู่เหนือประตูทางเข้าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่กล่าวถึงนี้เคยอยู่เหนือประตูทิศตะวันออกของมุขหน้ามณฑปปราสาทประธาน แกะสลักจากหินทราย เดิมคงมีขนาดสูงประมาณ 75 เซนติเมตร ยาวราว 240 เซนติเมตร
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้งเป็นประติมากรรมแสดงเรื่องราวสืบเนื่องมาจากบนหน้าบัน (หน้าจั่วด้านบน) ซึ่งสลักภาพพระศิวนาฏราชหรือพระศิวะทรงฟ้อนรำอันเป็นทั้งการกำหนดจังหวะเคลื่อนไหว และยังเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายล้างจักรวาลเดิมให้จบสิ้นลง ส่วนภาพสลักบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่อยู่ด้านล่างคือปกรณัมว่าด้วยการกำเนิดจักรวาลใหม่ตามคติศาสนาฮินดู กล่าวถึงขณะเมื่อพระนารายณ์บรรทมหลับอยู่เหนือพญาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทร หรือทะเลนํ้านม ระหว่างนั้นเองบังเกิดดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระองค์ ภายในดอกบัวคือพระพรหม ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งในจักรวาลขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
หลักฐานสำคัญที่ใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมชิ้นนี้ของประเทศไทย คือภาพถ่ายทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ขณะเมื่อยังตกหล่นอยู่กับพื้นหลังจากตัวปราสาทพังทลายลง ตีพิมพ์ใน รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 2 พ.ศ. 2503 – 2504
หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกภาคสนามที่นายมานิต วัลลิโภดม ข้าราชการกองโบราณคดี กรมศิลปากร เป็นหัวหน้าคณะสำรวจโบราณสถานภาคอีสานยุคแรก ๆ เขารายงานเรื่องทับหลังแผ่นนี้ไว้ว่า “แตกหักเป็น 2 ท่อนอยู่ที่กองหิน” พร้อมกับบันทึกภาพถ่ายด้วยกล้องฟิล์มขาวดำเอาไว้ โดยมิได้เคลื่อนย้ายสิ่งใด ๆ ออกจากพื้นที่
เมื่อกรมศิลปากรตีพิมพ์รายงานการสำรวจฉบับนี้ออกมาใน พ.ศ. 2510 นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวไว้ตอนท้ายคำนำว่า “เป็นที่น่าสลดใจอย่างยิ่งที่ในปัจจุบันมีมนุษย์เลวร้ายผู้มากมูนไปด้วยกิเลสและมักได้ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวได้ลอบขุดทำลายโบราณสถาน และลักลอบนำโบราณวัตถุอันมีค่าทางศิลปวัฒนธรรมดังกล่าว ลอบขายส่งไปยังต่างประเทศเสียเป็นอันมาก”
ข้อความนี้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเพราะทับหลังแผ่นที่นายมานิตเคยเห็นว่าแตกหักเป็นสองท่อนอยู่ที่กองหินซากปราสาทพนมรุ้งนั้น ปรากฏว่ากรมศิลปากรเข้าตรวจยึดชิ้นเล็กได้จากร้านค้าโบราณวัตถุแห่งหนึ่งย่านราชประสงค์ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2508 ส่วนชิ้นที่ใหญ่กว่าและสำคัญกว่าเพราะมีรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่ สูญหายไปยังหาไม่พบจนเมื่อ พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงไปพบว่าจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก (Art Institute of Chicago) ประเทศสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าหม่อมเจ้าสุภัทรดิศทรงเสนอแนะให้กรมศิลปากรหาทางทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ตั้งแต่ครั้งนั้น แต่ความพยายามของกรมศิลปากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศของไทย แทบไม่มีความคืบหน้าใด ๆ กระทั่งเมื่อการบูรณะปราสาทพนมรุ้งใกล้เสร็จสมบูรณ์ในตอนต้นทศวรรษ 2530
ข้อเรียกร้องเรื่องนี้เป็นการประสานความร่วมมืออย่างกว้างขวางจากหลายภาคส่วน ตั้งแต่คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เรียกตัวเองว่า “ชมรมนักโบราณคดีสมัครเล่น” สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์และนิตยสารแนวศิลปวัฒนธรรม สมทบด้วยภาคีภาคประชาชน ทั้งในท้องถิ่นบุรีรัมย์และคนไทยในสหรัฐอเมริกา จนถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ยิ่งเมื่อมีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยต้องปล่อยให้ช่องโหว่ตรงตำแหน่งที่ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์หายไปเป็นเพียงผนังปูนว่างเปล่า ยิ่งตอกยํ้าความรู้สึกขุ่นเคืองคับข้องให้แก่ประชาชนคนไทย
สุดท้ายแล้วด้วยการกดดันอย่างหนักจากทุกฝ่าย สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก ผู้ครอบครองโบราณวัตถุชิ้นนี้ จึงยินยอม “บริจาค” ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนสู่ประเทศไทย โดยส่งมาทางเครื่องบิน ถึงผู้รับในพระนามของหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 และมีการอัญเชิญกลับสู่ตำแหน่งเดิมในปีเดียวกัน
ทว่ากรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ยังไม่ใช่ครั้งแรกหรือครั้งเดียวที่เกิดข้อขัดแย้งว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมในทำนองนี้
กว่าหนึ่งศตวรรษก่อนหน้ากรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เคยมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่คล้ายคลึงกัน คือคดีเทวรูปพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร ซึ่งแม้ทุกวันนี้อาจเป็นที่รับรู้กันเพียงในวงจำกัด แต่ในอดีต นี่คือเรื่องใหญ่ซึ่งเกี่ยวพันตั้งแต่พ่อค้าฝรั่งผู้ละโมบ นักการทูตตะวันตกในบางกอก พิพิธภัณฑ์ระดับโลก ไปจนถึงพระมหากษัตริย์แห่งสยาม
ช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายราสต์มานน์ (J.E. Rastmann) ชาวเยอรมัน มีอาชีพเป็นพ่อค้า เดินทางเข้ามาค้าขายในสยาม ระหว่างนั้นมีหลักฐานระบุว่าเขาเที่ยวลักขโมยพระพุทธรูปตามวัดร้างต่าง ๆ “ครั้งละร้อยองค์สองร้อยองค์” รวมถึงยังก่อเหตุวิวาทไปทั่วตั้งแต่กับพ่อค้าพื้นเมืองไปจนถึงคดีความกับพระเจ้าเชียงใหม่
แต่เรื่องใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเขาไปพบเทวรูปองค์มหึมาที่เทวสถานร้างในเมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2426 เทวรูปองค์นั้นเป็นรูปพระอิศวรยืน หล่อด้วยสำริดคือโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก สูงกว่าสองเมตร มีสองกร มีเนตรที่สามกลางพระนลาฏ ทัดจันทร์เสี้ยวในมวยผม ทรงสังวาลย์เป็นพญานาค ที่ฐานมีจารึกว่าหล่อขึ้นเมื่อปีมหาศักราช 1432 ตรงกับ พ.ศ. 2053
ราสต์มานน์ต้องการนำเทวรูปองค์นี้ออกไปขายให้แก่พิพิธภัณฑ์ในยุโรป แต่เนื่องจากเป็นรูปเคารพที่ยังมีชาวบ้านไปสักการบูชา และด้วยขนาดที่ใหญ่โตเกินกว่าจะปิดบังซ่อนเร้นได้อย่างที่เคยทำมา เขาจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านทางกงสุลเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ ขออนุญาตนำเทวรูปองค์นี้ออกไปจากราชอาณาจักร โดยอ้างว่าสยามเป็นเมืองพุทธ การกำจัดเทวรูปพระศิวะหรือพระอิศวรไปเสีย ย่อมถือเป็นการ “ล้างผลาญศาสนาพราหมณ์” อันย่อมเป็นการทะนุบำรุงศาสนาของพระพุทธองค์
ยังไม่ทันได้รับคำตอบ เมื่อราสต์มานน์เล็งเห็นว่าจะนำเทวรูปออกไปทั้งองค์ได้ยาก จึงกลับขึ้นไปลักตัดสกัดเอาเฉพาะเศียรและกร (หัวและมือ) ของเทวรูปพระอิศวร ซุกซ่อนล่องลงมาในเรือสินค้าของตน แต่เมื่อเรื่องล่วงรู้ไปถึงกงสุลเยอรมนีประจำบางกอก ผู้เกรงว่าเรื่องจะลุกลามบานปลาย จึงจับยึดไว้แล้วทำหนังสือแจ้งมายังรัฐบาลสยาม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับชิ้นส่วนเทวรูปพระอิศวรกลับคืนมาจากกงสุล พร้อมกับทรงยืนยันว่าด้วยฐานะแห่งเอกอัครศาสนูปถัมภก พระองค์ย่อมต้องรับเป็นพระราชภาระในการทะนุบำรุงทุกศาสนาในพระราชอาณาจักร
จากนั้นจึงมีการอัญเชิญเทวรูปพระอิศวรจากเมืองกำแพงเพชรลงมา แล้วเชื่อมต่อเศียรและกรติดกลับเข้าไปดังเดิม ก่อนนำไปจัดแสดงไว้ ณ มิวเซียมหลวงที่วังหน้า หรือพระราชวังบวรสถานมงคล พิพิธภัณฑสถานสำหรับสาธารณชนยุคแรกของประเทศ อันจะกลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในเวลาต่อมา
ขณะเดียวกัน เนื่องจากราสต์มานน์อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากราชพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งเบอร์ลิน (Königliches Museum für Völkerkunde) ด้วย ดังนั้นเพื่อรักษาไมตรีกับทางเยอรมนี รัฐบาลจึงต้องให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ราชทูตสยามในยุโรป ไปพูดจาทำความเข้าใจ พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้หล่อจำลองรูปพระอิศวร พระราชทานแก่รัฐบาลเยอรมนีให้เป็นสมบัติของทางราชพิพิธภัณฑ์ฯ อีกด้วย
แม้คดีนายราสต์มานน์อาจนับเป็นครั้งแรก ๆ ที่เกิดประเด็นข้อขัดแย้งเรื่อง “สมบัติทางวัฒนธรรม” ขึ้นในสยาม ระหว่างผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมกับโลกตะวันตกที่มาพร้อมกับข้ออ้างว่าด้วยความรู้ ความก้าวหน้าทางวิชาการ และงานพิพิธภัณฑ์ แต่นี่นับเป็นเพียงหนึ่งในกรณีทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นทั่วโลกในศตวรรษที่สิบเก้าอันเป็นยุคอาณานิคม
ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่ปี นายคาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ เคยเข้ามาสำรวจทางภาคเหนือของสยาม แล้วเขียนบันทึกการเดินทางพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Temples and Elephants (วัดและช้าง ซึ่งภายหลัง เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ แปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อ ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง) ในหนังสือเล่มนี้ บ็อคบรรยายอย่างภาคภูมิใจถึงกิจกรรมการผจญภัยตระเวนเสาะหาพระพุทธรูปในวัดร้าง หรือแม้แต่เที่ยวขุดรื้อเอาตามใจชอบจากซากเจดีย์ ทั้งที่กำแพงเพชร เมืองฝาง และเชียงแสน
ข้าวของและโบราณวัตถุจากสยามที่บ็อคนำติดตัวกลับไป ปัจจุบันยังคงเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานชาติพันธุ์วิทยา กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์
เรื่อง ศรัณย์ ทองปาน
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ติดตามสารคดี การกลับบ้านของโบราณวัตถุไทย ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือน มีนาคม 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/571854